ส่องผลประกอบการเครือ “บีทีเอส กรุ๊ป” ภายหลังมีประกาศแจ้งสิ้นสุดโปรโมชั่นเที่ยวเดินทางรถไฟฟ้าบีทีเอสแบบรายเดือน


เหมือนประกาศฟ้าผ่าลงกลางใจของผู้คนที่จำเป็นต้องใช้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า เมื่อล่าสุด มีประกาศจาก BTS ว่าจะยกเลิกจำหน่ายบัตรเดินทางแบบรายเดือน ซึ่งผู้ใช้งานส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นพนักงานออฟฟิต ประชาชน รวมไปถึงนักเรียนนักศึกษา ที่จำเป็นต้องใช้บริการอยู่เป็นประจำ ซึ่งการใช้งานของผู้ที่มีบัตรรายเดือนจะสามารถใช้และเติมเที่ยวการเดินทางได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นวันสุดท้าย โดยให้เหตุผลว่าบัตรโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วัน สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ค่อนข้างจำกัด

สำหรับผลประกอบการของเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) ปี 2564 ที่รายงานผลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้รายละเอียดไว้ดังนี้

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน)

ใช้ทุนจดทะเบียนด้วยเงินกว่า 73,873,395,724 ล้านบาท

งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ (ล้านบาท)

– รายได้รวม 9,003,069,475 ล้านบาท (36.69%)
– กำไร(ขาดทุน)สุทธิ 5,179,320,979 ล้านบาท (39.80%)

งบแสดงสถานะทางการเงิน (ล้านบาท)

– สินทรัพย์รวม 130,358,052,321 ล้านบาท (-0.38)
– หนี้สินสุทธิ 130,358,052,321 ล้านบาท (-0.38)

** ในวงเล็บคืออัตราการเปลี่ยนแปลงเทียบเคียงจากปี 2563

แยกรายได้ตามหมวดหมู่ธุรกิจในเครือซึ่งมี 3 ประเภทใหญ่ อ้างอิงจากรายงานประจําปี 2563/64 ของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน)

โดยมีรายได้จากธุรกิจ MOVE (ธุรกิจในเครือการคมนาคม) ดังนี้

– รายได้จากการดำเนินงาน  31,401 ล้านบาท เติบโต 7.1% หรือ 2,092 ล้านบาท

– กำไรจากการดำเนินงานขั้นต้น  5,323 ล้านบาท โตกว่า 42.2% หรือ 1,582 ล้านบาท

– กำไรจากรายการที่เกิดขึ้นประจำ  8,800 ล้านบาท ลดลง 8.7% หรือ 841 ล้านบาท

– รายได้จากการพัฒนารถไฟฟ้าสายใหม่ๆ จำนวนกว่า 25.3 พันล้านบาท

.

.

.

รายได้จากธุรกิจ MIX แพลตฟอร์มด้านการตลาด พื้นที่ซื้อขายข้อมูล (Data marketplace)

– รายได้จากการดำเนินงาน 2,614 ล้านบาท เปลี่ยนแปลง 55% จากปีก่อน

– กำไรจากการดำเนินงานขั้นต้น 1,105 ล้านบาท คิดเป็น 65%

– กำไรจากรายการที่เกิดขึ้นประจำ 707 ล้านบาท คิดเป็น 70%

.

.

.

ธุรกิจ MATCH ธุรกิจในเครืออสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน ก่อสร้าง ธุรกิจอาหาร และอื่นๆ

– รายได้จากการดำเนินงาน 923 ล้านบาท เปลี่ยนแปลง 54% จากปีก่อน

– กำไรจากการดำเนินงานขั้นต้น 97 ล้านบาท คิดเป็น N.A.

– กำไรจากรายการที่เกิดขึ้นประจำ 604 ล้านบาท คิดเป็น 64%

.

.

เปิดอาณาจักร เครือบีทีเอส เจ้าพ่อแห่งวงการรถไฟฟ้าไทย

กลุ่มบริษัทบีทีเอสดำเนินธุรกิจใน 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ MOVE ธุรกิจในเครือการคมนาคม, MIX แพลตฟอร์มด้านการตลาด พื้นที่ซื้อขายข้อมูล (Data marketplace) และ MATCH ธุรกิจในเครืออสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน ก่อสร้าง ธุรกิจอาหาร และอื่นๆ

โดยได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนับเป็นหนึ่งในสมาชิกของหุ้น BlueChip ที่อยู่ในดัชนี SET50 รวมถึงยังเป็นสมาชิกของดัชนี DJSI, MSCI Asia Pacific และ FTSE4Good 

.

.

.

ธุรกิจ MOVE (ธุรกิจในเครือการคมนาคม)

เป็นผู้ให้บริการการเดินทางแบบ door-to-door แก่ผู้โดยสารด้วยรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย ทั้งทางราง ทางถนน ทางน้ำหรือทางอากาศ กว่า 20 ปี เริ่มจากการเป็นผู้บุกเบิกรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่งผลให้โครงข่ายรถไฟฟ้าในปัจจุบันขยายตัวเพิ่มขึ้นครอบคลุมระยะทางรวม 135.0 กม.

ทั้งนี้ยังได้ขยายความสนใจไปยังระบบคมนาคมขนส่งอื่นๆ อาทิ รถโดยสาร เรือโดยสาร ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและสนามบิน อาทิ

– โครงการรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก

ภายใต้สัมปทานความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนในรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี (2542-2572) โดยสายหลักประกอบไปด้วยสายสุขุมวิท (หมอชิต – อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร) และสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร) ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร 24 สถานี

ต่อมาในเดือนเมษายน 2556 บีทีเอสซีได้ขายสิทธิในรายได้ค่าโดยสารสุทธิในอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากการเดินรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักในช่วงระยะเวลาที่เหลือให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) โดยบีทีเอสซียังคงเป็นผู้บริหารและเดินรถในส่วนรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังลงทุนในสัดส่วน 33% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดในกองทุน BTSGIF

– โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 1

ระยะทาง 12.75 กิโลเมตร เริ่มเปิดให้บริการในปี 2552 ประกอบไปด้วยส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางคือ ส่วนต่อขยายสายสีลม (สะพานตากสิน – บางหว้า ระยะทาง 7.45 กิโลเมตร 6 สถานี) และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุช – แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร 5 สถานี)

ต่อมาในปี 2555 บีทีเอสซีได้ลงนามในสัญญากับเคทีในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายดังกล่าวเป็นเวลา 30 ปี (2555-2585)

ทั้งนี้ สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงนี้ จะครอบคลุมถึงงานรับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงระบบโครงการรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร ภายหลังครบกำหนดอายุสัญญาสัมปทานในเดือนธันวาคม 2572

– โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2

ในเดือนมีนาคม 2560 บีทีเอสซีได้ลงนามในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ครอบคลุมระยะเวลา 25 ปี (2560-2585) ระยะทางรวม 32.0 กิโลเมตร ประกอบด้วย 2 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง – เคหะฯ ระยะทาง 13.0 กิโลเมตร) และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต – คูคต ระยะทาง 19.0 กิโลเมตร)

– โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 บีทีเอสซีและเคที ได้เข้าลงนามในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 (กรุงธนบุรี – คลองสาน, ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร) เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยโครงการดังกล่าวมีจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี และเชื่อมกับอาคารอเนกประสงค์ไอคอนสยาม

– โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้เข้าลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร) กับ รฟม. ระยะทางรวม 64.9 กิโลเมตร 53 สถานี

ทั้ง 2 บริษัทย่อยนี้ก่อตั้งขึ้นมาจากกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH)

โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน 75%, 15% และ 10% ตามลำดับ ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองเป็นโครงการสัมปทานในรูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี

– ระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT

เป็นโครงการแรกเริ่มของทางกรุงเทพฯ ที่จะเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าด้วยกัน เพื่อให้บริการระบบขนส่งมวลชนเป็นแบบบูรณาการทั้งในเขตเมืองและพื้นที่รอบนอก โดยบีทีเอสซีเป็นผู้รับสัมปทานจากกทม.

ทั้งนี้ ระบบเดินรถของ BRT จะมีความเร็วสูงกว่ารถโดยสารประจำทางทั่วไปเพราะจะวิ่งบนช่องทางพิเศษที่แยกออกจากถนนหลัก BRT มีระยะทางรวม 15.0 กิโลเมตร 12 สถานี (ช่องนนทรี – ตลาดพลู) โดยมีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีช่องนนทรี

– สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา

เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (ประกอบด้วย BA สัดส่วน 45%, บริษัทฯ สัดส่วน 35% และ STEC สัดส่วน 20%) ได้ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวกับกองทัพเรือเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในรูปแบบ Net Cost ระยะเวลา 50 ปี รวมการลงทุนในอาคารผู้โดยสารใหม่หลังที่ 3 ศูนย์ธุรกิจการค้า เขตประกอบการค้าเสรี และศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์

– โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 กลุ่มกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (ประกอบด้วย บริษัทฯ สัดส่วน 40%, GULF สัดส่วน 40%, STEC สัดส่วน 10% และ RATCH สัดส่วน 10%) ได้เป็นผู้ชนะประมูลโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 เส้นทาง คือ (i) สายบางปะอิน – นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 196 กม. และ (ii) สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ระยะทางประมาณ 96 กม. โดยทั้งสองโครงการดังกล่าวจะเป็นในรูปแบบของ PPP Gross Cost

.

ธุรกิจ MIX แพลตฟอร์มด้านการตลาด พื้นที่ซื้อขายข้อมูล (Data marketplace)

เป็นแพลตฟอร์มด้านการตลาดที่เต็มด้วยไปชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้ โดยแพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่าง Offline-to-Online (O2O) โซลูชั่นส์ของวีจีไอ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ และ Data marketplace ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทฯ การทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มบริษัทนี้ นับเป็นการนำทรัพยากรที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และประสิทธิภาพสูงสุด

วีจีไอ ได้ทำการเปลี่ยนกลยุทธ์จากการเป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่สื่อโฆษณา สู่ผู้ให้บริการ Offline-to-Online (O2O) โซลูชั่นส์ ปัจจุบัน วีจีไอ มีอีโคซิสเต็ม (ecosystem) ที่ประกอบด้วย ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการชำระเงินและธุรกิจโลจิสติกส์ 

จากการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ประกอบกับข้อมูลด้านการเดินทางจากธุรกิจ MOVE และข้อมูลที่ได้รับจากการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจผ่านธุรกิจ MATCH เกิดเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถนำมาสร้างประโยชน์ได้ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ตามกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อหาข้อสรุปจากข้อมูลที่มี เกิดเป็นพื้นที่ซื้อขายข้อมูล (Data marketplace) แล้วสามารถนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์เหล่านั้นมาต่อยอดทางธุรกิจ ด้วยเครื่องมือด้านการตลาดและโซลูชั่นส์

.

ธุรกิจ MATCH ธุรกิจในเครืออสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน ก่อสร้าง ธุรกิจอาหาร และอื่นๆ

เป็นหน่วยธุรกิจที่มุ่งเน้นในการสร้างโอกาสทางธุรกิจและแสวงหา synergy ใหม่ๆ ผ่านการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจโดย บีทีเอส ได้เปิดให้พันธมิตรเข้ามาร่วมในเครือข่าย เพื่อใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม MOVE และ MIX ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว จะสามารถเข้าถึงเครือข่ายและจำนวนผู้โดยสารในแต่ละวัน เพื่อการเข้าถึงโฆษณาทั้งในวงกว้างและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งข้อมูลเชิงลึกต่างๆ ซึ่งจะสามารถกระตุ้นการขยายตัวของจำนวนลูกค้า เครือข่ายและตลาดให้กับพันธมิตร

ผลจากการทำงานร่วมกันนี้จะสร้างผลตอบแทนแก่ทั้งสองฝ่ายในรูปแบบที่แตกต่างกันไป อาทิเช่น การเข้าถึงลูกค้าที่เพิ่มขึ้น การพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจ ส่วนแบ่งรายได้ (revenue sharing) การเพิ่มขึ้นของกำไรและเงินปันผล เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายใต้ธุรกิจ MATCH ยังประกอบไปด้วยการมีพอร์ตฟอลิโออสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลายของบริษัทฯ และที่ดินอีกหลายผืน รวมถึงการลงทุนใน ยู ซิตี้ และบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มบริษัท ที่ประกอบธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจอาหาร

.

.

.

.

.

สืบเนื่องจากกรณีที่บีทีเอส มีประกาศยกเลิกบัตรแบบรายเดือน โดยมีความเห็นชี้แจงถึงเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ไว้ดังต่อไปนี้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี แจ้งให้ทราบว่า บริษัทฯ จะสิ้นสุดการจำหน่ายโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วัน ทุกประเภท ผู้โดยสารสามารถซื้อ/เติมเที่ยวเดินทาง ได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นวันสุดท้าย ทั้งนี้ บัตรโดยสารที่มีเที่ยวเดินทางคงเหลือ สามารถใช้เดินทางได้จนกว่าเที่ยวเดินทางจะหมด หรือเที่ยวเดินทางหมดอายุการใช้งานอย่างใดอย่างหนึ่ง

และยังได้กล่าวต่ออีกว่า “ ณ ปัจจุบัน พฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมีรูปแบบการเดินทางที่หลากหลายมากขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้นานแบบเมื่อก่อน อีกทั้งเรื่องการชำระค่าโดยสารล่วงหน้าก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ บริษัทฯ ได้พิจารณา และเห็นว่าโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วัน สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ค่อนข้างจำกัด ทางบริษัทฯ จึงจะยุติการทำโปรโมชั่นดังกล่าว โดยจะจำหน่ายในวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นวันสุดท้าย”

.

สำหรับอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บในเส้นทางสัมปทาน 23.5 กิโลเมตร จากสถานีหมอชิตไป สถานีอ่อนนุช และจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปสถานีสะพานตากสิน รวมส่วนต่อขยายจากสถานีสะพานตากสิน ถึงสถานีวงเวียนใหญ่ ยังคงอยู่ในอัตรา 16 – 44 บาท ตามเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดิมเพื่อเติมเงิน และใช้เดินทางได้ตามปกติ ทั้งบัตรสำหรับบุคคลทั่วไป และบัตรสำหรับนักเรียน นักศึกษา นอกจากนั้นในส่วนของบัตรสำหรับผู้สูงอายุ ยังคงได้รับโปรโมชั่นส่วนลดครึ่งราคาจากอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บในอัตราเดิม

.

.