Shopee แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ออนไลน์ ลุกตลาด Food Delivery หวังช่วงชิงมูลค่าตลาดที่มีกว่า 5.58 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าเป็นหนึ่งในผู้นำในอนาคต


Shopee แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ตลาดออนไลน์ ลุกหนัก โดดเข้าร่วมวงธุรกิจ Food Delivery อาศัยฐานข้อมูลจากการขายออนไลน์ที่แข็งแกร่ง ตั้งเป้าเป็นหนึ่งในผู้นำของตลาด เปิดตัวกันยายนศกนี้ หวังช่วงชิงส่วนแบ่งมูลค่าตลาด Food Delivery ที่มีกว่า  5.31 – 5.58 หมื่นล้านบาท โตก้าวกระโดดกว่า 18%

.

.

มีรายงานจากแหล่งข่าว บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์รายใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งได้เปิดเผยกับ เว็บไซต์ Smart SME ว่า ภายในเดือนกันยายนนี้ ทาง Shopee จะเปิดให้บริการธุรกิจ Food Delivery อีกหนึ่งช่องทางใหม่ ให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการในตลาดอี-คอมเมิร์ชของตนเอง

โดยเงื่อนไขการให้บริการยังคงอยู่บนพื้นฐานโดยทั่วไปของคู่แข่งรายเก่า อาทิ เจ้าของร้านอาหารที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มการขาย Food Delivery จะจ่ายค่า GP อยู่ที่ 30% บวกกับ VAT 7% เพียงแต่ในระยะเริ่มต้น จะมีโปรโมชั่นปลอดค่าแรกเข้า เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าในแพลตฟอร์ม

ส่วนขั้นตอนในการสั่งอาหารนั้นก็จะใช้ Shopee online ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ใช้สั่งอาหารโดยต่อยอดจากของเดิมด้วยการเปิด Section ในส่วนของการสั่งอาหารออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่ง ส่วนร้านอาหารก็จะมีแอปพลิเคชั่นสนับสนุนเพิ่มเติมให้บริการรับออเดอร์การจัดการหลังร้าน

จุดเด่นที่ Shopee แตกต่างจาก Food Delivery รายอื่นๆ คือขายได้เท่าไหร่ก็โอนเงินเข้าบัญชีทันที ไม่รอให้ครบยอด 500 บาทก่อนค่อยโอน ซึ่งนับว่าเป็น pain point ของร้านอาหารเลยก็ว่าได้ เพราะแม้จะเป็นเงินเพียงเล็กน้อย หากแต่ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ การมีเงินหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

.

.

ทางผู้บริหาร Shopee เชื่อมั่นว่าด้วยฐานข้อมูลของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าออนไลน์ ประกอบกับประสบการณ์ และเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการ Food Delivery ในต่างประเทศ จะส่งผลให้ธุรกิจ Food Delivery ของทาง Shopee ผงาดขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของเมืองไทยได้อย่างไม่ยากนักในเวลาอันรวดเร็ว

ทางด้านไรเดอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญสำหรับธุรกิจ Food Delivery ก็ได้มีการการันตรีถึงจุดได้เปรียบที่มีมากกว่าแพลตฟอร์ม Food Delivery อื่น เนื่องด้วย Shopee มีพาร์ทเนอร์ร้านค้าอยู่มากมาย ทั้งอาหารเช้า เที่ยง เย็น อาหารคาวหวาน ตลอดจนเครื่องดื่มต่างๆ สามารถสร้างความมั่นใจว่ามีออเดอร์มากกว่าเจ้าอื่น เพราะมีฐานผู้ใช้งานมาก ทั้ง Shopee และ Shopee Pay ตัดปัญหาเรื่องการแย่งงาน เพราะมีระบบหลังบ้านช่วยกระจายงาน ให้ทุกคนได้รับงานอย่างเท่าเทียม

.

.

.

นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิพิเศษมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การได้เลือกพื้นที่ส่งก่อนคนอื่น สะดวกรับงานตรงไหนก็จะได้ส่งในพื้นที่ที่สะดวก ได้อุปกรณ์ก่อน พร้อมราคาพิเศษ (ราคาช่วงเปิดตัว) ได้ผลตอบแทนดี ในอัตราที่สูงไม่แพ้บริษัทขนส่งอื่นๆ ได้ทำงานหลากหลาย ไม่จำกัดการรับงานจากแอปฯอื่น ได้เลือกเวลาทำงาน เปิด-ปิดช่วงเวลารับงานได้ตามต้องการ และ ได้รอบวิ่งไม่ขาดสาย เพราะ Shopee มีฐานผู้ใช้งานและร้านค้าที่เข้าร่วมมากมาย

.

.

สำหรับมูลค่าของตลาด Food Delivery ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ทั้งปี 2564 ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านน่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 ที่มีจำนวนประมาณ 35 – 45 ล้านครั้ง

นอกจากนี้ วิถีการใช้ชีวิตประจำวันท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปการเปลี่ยนแปลงเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่น่าสนใจ ดังนี้

ระดับราคาเฉลี่ยต่อครั้งที่สั่งลดลงร้อยละ 20-25 จากปีก่อน จากปัจจัยด้านกำลังซื้อและการอัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารในระดับราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อ ขณะเดียวกันการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารที่สูง ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารมีการจัดทำโปรโมชั่นราคาพิเศษและปรับรูปแบบของเมนูอาหาร

ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่ารวมของธุรกิจจัดส่งอาหาร จากเดิมในปี 2563 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 29 ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของเซ็กเม้นต์และประเภทอาหารของผู้บริโภคมายังเมนูอาหารที่มีระดับราคาย่อมเยา ส่งผลต่อเนื่องให้ความถี่ในการสั่งอาหารจากร้านอาหารข้างทางเพิ่มจำนวนมากขึ้น

พื้นที่การสั่งอาหารขยายสู่บริเวณกรุงเทพฯรอบนอกและพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมากขึ้น สอดรับกับการปรับรูปแบบการทำงานของภาคธุรกิจมาเป็น Work from home และ Hybrid working ซึ่งผลสำรวจของศูนย์วิจัยสิกรไทยพบว่า หลังจากการระบาดในเดือนเมษายน 2564 พนักงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ทำงานทั้งสองรูปแบบดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 83

โดยการที่ผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารบริเวณใกล้ที่พักมากขึ้น นอกจากจะส่งผลให้ระยะทางเฉลี่ยในการจัดส่งอาหารลดลง ยังทำให้ผู้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารปรับมาทำการตลาดร่วมกับพาร์ทเนอร์ ทั้งร้านอาหารและผู้จัดส่งอาหารในบริเวณดังกล่าวมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ จากปัจจัยและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ในปี 2564 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 5.31 – 5.58 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวสูงถึงร้อยละ 18.4 – 24.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

.