ช่องทางตรวจสอบ แนวทางการควบคุมร้านอาหาร สำหรับผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ เพื่อเป็นคู่มือยึดหลักลดความเสี่ยงแพร่ระบาด โดยจะเริ่มใช้ใน1 ต.ค.นี้


ภายหลังจากที่ภาครัฐเริ่มคลายล็อกดาวน์ พร้อมกับการปรับทิศทางมาตรการให้ผู้คนออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้มากขึ้น ทั้งการเปิดให้ทานอาหารในร้านได้ ทั้งการอนุญาตให้เดินทางข้ามจังหวัดได้ (ในกรณีที่มีความจำเป็น) ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างออกมาขานรับนโยบายที่เกิดขึ้นนี้อย่างฉับพลัน สำทับด้วยอัตราการเคลื่อนที่ของประชากรในวันหยุดที่ผ่าน ยิ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่พอจะทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น กับเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีทิศทางที่สวยงาม ภายหลังรัฐยอมให้พวกเขาเปิดกิจการได้นั่นเอง

แต่กระนั้น ก็ยังคงมีมาตรการจากรัฐคอยกำชับให้ในภาคธุรกิจอาหาร จำเป็นต้องมีหลักในการยึด เพื่อการจัดการความปลอดภัยภายในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และพื้นที่ที่รัฐมีคำสั่งให้สามารถเปิดได้ รวมไปถึงเงื่อนไขที่รัฐออกมาตรการควบคุมลูกค้าที่มีความประสงค์จะเข้ารับบริการในร้านอาหาร หรือสถานบริการ ให้ยังคงสามารถเปิดกิจการได้ ด้วยความปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น

โดยในช่วงนี้ยังคงผ่อนปรนให้สำหรับร้านอาหารที่ยังไม่พร้อม เพื่อทดสอบระบบ พร้อมๆไปกับการเตรียมตัวให้พร้อมรับมาตรการใหม่ ที่กำลังจะประกาศเริ่มใช้อย่างจริงจังในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยที่ยังคงขอความร่วมมือให้ร้านที่สามารถทำได้ทันที ให้เริ่มใช้มาตรการนี้ เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งสถานประกอบการและผู้ใช้บริการนั่นเอง

ทั้งนี้ ได้มีความเห็นของ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ซึ่งได้เปิดเผยว่า จากการออกข้อกำหนด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้ มอลล์ ออกความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 32 นั้น กำหนดให้ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เปิดให้บริการได้นั้น

แต่เนื่องจากจัดเป็นพื้นที่ที่คนรวมตัวกันค่อนข้างสูง จึงขอความร่วมมือศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ที่เปิดดำเนินการต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงพร้อมปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ดังนี้

1.) ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม และห้องน้ำ ทุก 1-2 ชั่วโมง

2.) ส่งเสริมให้ชำระเงินแบบออนไลน์

3.) ทำสัญลักษณ์เว้นระยะห่างบริเวณทางเข้าและจุดต่อคิว

4.) จัดระบบจัดคิวจำกัดจำนวนคนไม่เกิน 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร

5.) จัดให้มีฉากกั้นระหว่างพนักงาน (แคชเชียร์) และลูกค้า

6.) เดินระบบจ่ายอากาศสะอาดหรือเปิดประตู หน้าต่าง อย่างน้อย 30 นาที ก่อนเปิดและหลังปิดระบบปรับอากาศมีการระบายอากาศที่เหมาะสมต่อจำนวนคน ส่วนห้องน้ำควรเปิดพัดลมระบายอากาศตลอดเวลาที่ให้บริการ และขอความร่วมมือให้ประเมินและรับรองตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus และแสดงใบรับรอง เพื่อสร้างความมั่นใจทั้งสถานประกอบการและผู้ใช้บริการ

นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการที่จะบังคับใช้ในอนาคตซึ่งจะพิจารณาตามสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไปนั้น คือ การใช้มาตรการโควิด ฟรี เซตติ้ง (COVID Free Setting) ประกอบด้วยความปลอดภัย 3 ด้าน ดังนี้

1.) ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย (COVID Free Environment) อาทิ การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ทุก 1-2 ชั่วโมง เช่น ปุ่มกดลิฟต์ ราวจับบันได ราวจับรถเข็น ที่เปิดประตู หมั่นทำความสะอาดสินค้า ทำความสะอาดระบบปรับอากาศทุก 3 เดือน ใช้ระบบกรองอากาศ HEPA หรือติดตั้งอุปกรณ์ กรองอากาศเฉพาะที่ เน้นบริเวณที่มีคนจํานวนมากและอากาศไม่ไหลเวียน เช่น ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น อีกทั้งเข้มงวดเรื่องมาตรการห้ามการรวมตัวกันจุดใดจุดหนึ่งด้วย

2.) ด้านพนักงานปลอดภัย (COVID Free Personnel) มีภูมิคุ้มกัน โดยพนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน และให้มีการคัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยแพลตฟอร์มไทยเซฟไทย รวมถึงจัดหา ATK ให้พนักงาน เพื่อทําการตรวจทุกๆ 7 วัน กำชับให้งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน ระหว่างพัก และงดกินอาหารร่วมกัน และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)

3.) ด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย (COVID Free Customer) ให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยแพลตฟอร์ม ‘ไทยเซฟไทย’ หรือแอพพลิเคชั่นอื่นที่ทางราชการกำหนด หากจะใช้บริการในกิจการเสี่ยง ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ตัดผม คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบโดส หรือประวัติการติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน หรือตรวจ ATK ผลเป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการหรือข้อกำหนดของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ด้วย” อธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงมาตรการที่กำลังจะเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึง

ผู้ประกอบการที่ต้องการทราบรายละเอียดจากมาตรการของภาครัฐ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดเอกสารที่ออกโดยกรมอนามัยได้ที่ : “ข้อเสนอการยกระดับมาตรการ กรณีเปิดสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting)” 

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเมินร้านอาหารหรือสถานประกอบการของตน สามารถเข้าไปเช็คผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus ต่อได้ที่ : https://stopcovid.anamai.moph.go.th/webapp/main.php

.

และสามารถเข้าไปคัดกรองความเสี่ยงของพนักงานตนเองและลูกค้าที่เข้ามารับบริการภายในร้าน โดยเข้าไปตรวจเช็คผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยเซฟไทย” ของภาครัฐต่อได้ที่ : https://savethai.anamai.moph.go.th/main.php 

.

.

.

.

.