ส.อ.ท.ผนึกกำลังร่วม 3 แบงก์ ดันวงเงินกว่า 4 หมื่นล้าน ช่วยสมาชิก SMEs ฝ่าวิกฤติโควิดด้วยทุน Supply Chain Financing


เมื่อวันพุธที่ 8 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จับมือกับ 3 ธนาคารใหญ่ ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา เตรียมวงเงินรวมกว่า 40,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ และผู้ประกอบการ SMEs ในซัพพลายเชนภาคอุตสาหกรรม ในรูปแบบของ Supply Chain Financing โดยจะสามารถช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรมผ่านบริการด้านการเงินของทั้ง 3 ธนาคาร ได้มากกว่า 10,000 ราย

.

ทั้งนี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ส.อ.ท. ได้มีนโยบายช่วยเหลือสมาชิกในรูปแบบต่างๆ ทั้งเรื่องสาธารณสุข, การป้องกันโควิดในโรงงาน, วัคซีน และผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อสมาชิกมาโดยตลอด

ด้านการเงินก็พยายามผลักดัน เสนอมาตรการต่างๆ ต่อทั้งนายกรัฐมนตรี หน่วยงานภาคการเงิน การคลังมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สมาชิกรวมไปถึงผู้ประกอบการ SMEs ในเครือข่ายเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้

ซึ่งรูปแบบสินเชื่อ Supply Chain Factoring ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยอาศัยเครดิตของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตัวเองผ่านกลไกของธนาคาร ซึ่งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. ล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง และธุรกิจยังดำเนินไปได้ด้วยดี แม้อยู่ในภาวะวิกฤติ ทั้งการส่งออกและตลาดในประเทศ

โดยมีกลุ่มบริษัทนำร่อง ได้แก่ บริษัทในกลุ่มสิทธิผล, บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย), บมจ. อีโนเวรับเบอร์ (ประเทศไทย), กลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี., บจก. เอส.พี.เอส. โคออพเพอเรท, บมจ. พลังงานบริสุทธิ์, บจก. นิภาเทคโนโลยี, บมจ. ปัญจวัฒนาพลาสติก, บจก. เศรษฐ์ อินเตอร์เทรด รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจในกลุ่มยานยนต์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, กลุ่มเฟอร์นิเจอร์, คลัสเตอร์ก่อสร้าง, กลุ่มสิ่งทอ, กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งทาง ส.อ.ท.จะรวมพลังสมาชิกเพื่อช่วยเหลือซัพพลายเออร์โดยเฉพาะ SMEs ให้มากที่สุด เพื่อฝ่าวิกฤติโควิดครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายสุพันธุ์ กล่าว

ด้าน นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า การผลักดันการให้สินเชื่อในรูปแบบ Supply Chain Financing ในครั้งนี้ เป็นอีกรูปแบบที่เหมาะกับสถานการณ์วิกฤติในช่วงนี้ ที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก โดยหัวใจสำคัญของ Supply Chain Financing คือธุรกิจที่เป็น Sponsor หรือ Buyer ที่มีความน่าเชื่อถือและแข็งแกร่งทางธุรกิจอยู่แล้ว

ซึ่งเอกสาร Invoice ที่เกิดจากการสั่งซื้อของ Sponsor แต่ละรายเป็นเครื่องการันตีแทนหลักทรัพย์ค้ำประกันที่แต่ละธนาคารเชื่อถือได้ โดยรูปแบบการให้สินเชื่อของทั้ง 3 ธนาคารก็แตกต่างกันไป อย่างเช่น ธุรกิจที่ Sponsor หรือ Buyer มีการส่งออก ก็สามารถใช้บริการจาก Exim Bank ได้ หรือต้องการแพลตฟอร์มทางการเงินรูปแบบใหม่ โดยใช้แหล่งเงินทุนของ Sponsor เป็นหลัก ก็ใช้โปรแกรม Payzave ของ SCB หรือต้องการซื้อขาย Invoice ในรูปแบบปกติก็สามารถใช้โปรแกรมของทางกรุงศรีได้เลย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ตามที่เหมาะสมของแต่ละธุรกิจ ซึ่งทั้ง 3 ธนาคารจะดูแลสมาชิก ส.อ.ท. และให้สิทธิประโยชน์กับสมาชิก ส.อ.ท. เป็นพิเศษ โดยเราคาดหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือสมาชิกและ SMEs ในเครือข่ายให้มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย”

โดยมีความเห็นเพิ่มเติมจาก นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) อีกว่า “ตลอดระยะเวลาที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้เร่งเสาะหาและพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อหาทางออกให้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มเครือข่ายซัพพลายเชนซึ่งมักจะเป็นธุรกิจรายเล็กๆ มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงิน และส่วนใหญ่มักจะแก้ปัญหาด้วยการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ร่วมกันพัฒนา PayZave แพลตฟอร์มดิจิทัลแรกของประเทศไทย ที่เปิดให้คู่ค้าซัพพลายเชนสามารถดำเนินการรับ-จ่ายค่าสินค้าระหว่างกันทันทีโดยไม่ต้องรอเครดิตเทอมซึ่งปกติมีระยะเวลา 45-60 วัน

โดยแพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวกลางช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อซึ่งมีสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า ให้มีโอกาสช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตน ด้วยการทำข้อตกลงส่วนลดค่าสินค้าเพื่อแลกกับการรับเงินทันทีก่อนถึงรอบบิล ช่วยให้ผู้ซื้อได้สินค้าที่มีต้นทุนถูกลง ผู้ขายรับเงินไปหมุนเวียนในธุรกิจได้ทันที ไม่ต้องไปหากู้จากแหล่งเงินทุนอื่น ช่วยประหยัดต้นทุนทางธุรกิจได้ทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบวงเงิน O/D กับผู้ซื้อเพื่อชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้น หรือผู้ซื้ออาจใช้สภาพคล่องของตนเองในการชำระเงินคู่ค้าได้อีกด้วยความร่วมมือกับ ส.อ.ท. ในโครงการนี้ จึงเป็นการต่อยอดความตั้งใจที่แท้จริงของธนาคารที่จะสนับสนุนเครือข่ายซัพพลายเชนของประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างแข็งแกร่ง

สำหรับสมาชิก ส.อ.ท. ที่เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่สมัครเข้าใช้แพลตฟอร์ม PayZave ในโครงการนี้ สามารถใช้บริการฟรีโดยไม่มีค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 6 เดือน สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.payzave.com และส่งอีเมลมาที่ [email protected]

ต่อเนื่องด้วย นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME บมจ. ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวว่า “กรุงศรีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่เป็นคู่ค้าของสมาชิก ส.อ.ท. โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ การร่วมมือกันในหลายภาคส่วนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นการร่วมมือกันของภาคธนาคาร บริษัทขนาดใหญ่สมาชิก ส.อ.ท ที่เป็น Sponsor และ ส.อ.ท ในการช่วยเหลือ SME ในเรื่องเงินทุนหมุนเวียน

โดยกรุงศรีมีโครงการสินเชื่อ Krungsri Digital Supply Chain Solutions เพื่อ SME ที่เป็นคู่ค้าของบริษัทขนาดใหญ่ โดยสินเชื่อนี้ช่วยตอบโจทย์ทั้งในเรื่องวงเงินที่เพียงพอต่อธุรกิจและความสะดวกรวดเร็ว เป็นสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (OD) ที่ให้วงเงินสอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมการขายสินค้าจริง พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษ (ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย OD ทั่วไป) และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันแต่อย่างใด

อีกทั้งสามารถเบิกใช้สะดวกรวดเร็วแบบ Real Time ผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์ Krungsri Digital Supply Chain Financing Platform ซึ่งกรุงศรีเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นตัวช่วยที่ดีให้กับ SME สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนใช้ก่อนโดยไม่ต้องรอเครดิตเทอม ช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินในช่วงสถานการณ์ COVID-19 นี้ และยังไม่พลาดโอกาสธุรกิจเมื่อกำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้กรุงศรียังได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และบริษัท NITMX ในโครงการ Digital Supplychain Finance โดยมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้ซื้อขนาดใหญ่ที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. เข้าร่วมในรูปแบบนำร่องด้วยเช่นกัน ได้แก่ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท อิโนแอค โตไก (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (มหาชน) บริษัท เอเชียน สแตนเลย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ไดโด สิทธิพล จำกัด ซึ่งมีคู่ค้าที่เป็น SME รวมกันแล้วกว่า 880 ราย นอกจากนี้กรุงศรียังพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME คู่ค้าของสมาชิก ส.อ.ท. ผ่านมาตรการช่วยเหลืออื่นๆของธนาคารอีกด้วย”

ปิดท้ายด้วย นางสาวดรัสวันต์ ชูวงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ซึ่งได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “EXIM BANK ได้เล็งเห็นถึง ความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ต้องเริ่มจากการสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ซึ่งก็คือ พัฒนา SMEs ให้เป็นแรงขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจ ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านเงินทุนและอำนาจต่อรอง และสนับสนุนให้ SMEs เข้าไปอยู่ใน Supply Chain ของผู้ส่งออกที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ ด้วยบริการ “สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร (EXIM Supply Chain Financing Solution)” ซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ SMEs ที่เป็น Suppliers ของผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsor)

โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน ในวงเงินกู้สูงสุด 25% ของยอดขายรวมปีล่าสุด และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงนำ Invoice มายื่นขอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษซึ่งอ้างอิงบนเครดิตที่แข็งแรงของ Sponsor ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนี้ EXIM BANK พร้อมมอบสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก ส.อ.ท. ที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ ฟรี ค่าธรรมเนียม 12 เดือน สำหรับการทำธุรกรรมในโครงการสินเชื่อ SCF และ ฟรี ประกันการส่งออก EXIM for Small Biz คุ้มครองการส่งออกไปยังผู้ซื้อ 1 ราย วงเงินสูงสุด 300,000 บาท อีกด้วย”

ในโอกาสนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ทางธุรกิจ เข้าร่วมในโครงการเพื่อช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในเครือข่ายให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ โดยสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือสถาบัน SMI โทรศัพท์ 02-345-1243, 02-345-1188 หรือทาง Line Official : @smipage

.