พาณิชย์ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค.64 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสรายใหม่หลังมีแนวโน้มดีขึ้น


นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้เผยถึงดัชนีชี้วัดนี้ว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ประกอบกับภาครัฐได้มีพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดง) โดยคลายล็อกดาวน์ให้ผู้ประกอบการสามารถเปิดดำเนินการได้ รวมทั้งประชาชนทยอยได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นทั่วทั้งประเทศ

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนสิงหาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 37.2 เทียบกับระดับ 36.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 29.8 มาอยู่ที่ระดับ 29.9 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต พบว่า ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 41.3 มาอยู่ที่ระดับ 42.1

หากจำแนกรายภูมิภาค จะพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกภูมิภาค

– โดยเฉพาะภาคใต้ มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากระดับ 36.8 มาอยู่ที่ระดับ 38.9

– รองลงมาคือ ภาคเหนือ จากระดับ 34.7 มาอยู่ที่ระดับ 35.9

– และภาคกลาง จากระดับ 36.1 มาอยู่ที่ระดับ 36.8

– ในขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับตัวลดลงจากระดับ 35.8 มาอยู่ที่ระดับ 34.6 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงและมียอดผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก

– ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับลดลงจากระดับ 38.7 มาอยู่ที่ระดับ 38.1 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียวปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเกือบทุกกลุ่มอาชีพ ยกเว้นกลุ่มเกษตรกร ปรับลดลงจากระดับ 38.1 มาอยู่ที่ระดับ 37.9 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญปรับราคาลดลง เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่ กุ้ง และผลไม้ (ทุเรียน เงาะ มังคุด)

– ในขณะที่กลุ่มนักศึกษา ปรับเพิ่มขึ้น จากระดับ 33.1 มาอยู่ที่ระดับ 35.5

– กลุ่มพนักงานของรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 42.8 มาอยู่ที่ระดับ 44.2

– กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 34.2 มาอยู่ที่ระดับ 35.5

– กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 36.3 มาอยู่ที่ระดับ 36.9

– กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 35.2 มาอยู่ที่ระดับ 35.4

– และกลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ จากระดับ 32.2 มาอยู่ที่ระดับ 32.3

ทั้งนี้ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ได้กล่าวสรุปว่า จากการที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งนี้เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid – 19 มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นเดือน และเริ่มลดลงในช่วงปลายเดือน ประกอบกับภาครัฐได้มีพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดง) โดยจะคลายล็อกดาวน์ให้ผู้ประกอบการร้านเสริมสวย ร้านอาหาร ร้านนวด (เฉพาะนวดเท้า) เป็นต้น สามารถเปิดดำเนินการได้แบบมีเงื่อนไข ส่วนห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอล สามารถเปิดดำเนินการได้ทุกแผนก โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 นี้ ซึ่งจากการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว ประกอบกับประชาชนทยอยได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นทั่วทั้งประเทศ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจของผู้ประกอบการและประชาชนเริ่มดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังคงอยู่ในช่วงที่มีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจก็ตาม

.

.