จากสถานการณ์แพร่ระบาดในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ต่อเนื่องและส่งผลให้กิจการต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ที่อาศัยลูกค้าหลักชาวต่างชาติเป็นทุนดั่งเดิม หากแต่เมื่อมีการระบาดเกิดขึ้น ธุรกิจที่อยู่ในหมวดนี้ก็แทบจะต้องพับกิจการกันไปโดยปริยาย
ดังเช่นโรงละคร “สยามนิรมิต” กรุงเทพฯ ที่ได้ตัดสินใจปิดฉากลงอย่างเป็นทางการแล้ว จากวิฤตโควิดที่รุนแรงและยาวนาน หลังจากที่ปิดให้บริการชั่วคราวมาตังแต่วันที่ 17 มีนาคม 2563 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน จนในที่สุดก็ทนต่อแรงสั่นสะเทือนนี้ไม่ไหว ขอยุติกิจการลงแต่เพียงเท่านี้ ปิดตำนานความยิ่งใหญ่ตลอดระยะที่เดินทางบนสายศิลปวัฒนธรรมมาอย่างยาวนานกว่า 16 ปี
.
.
.
สำหรับโรงละคร สยามนิรมิต นับว่าเป็นโรงละครขนาดใหญ่ ที่ได้รับการบันทึกจาก “Guiness World Recored” ว่าเวทีมีขนาด “สูง” และ “ใหญ่” ที่สุดในโลก ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 24 ไร่ ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทั้งยังได้รับการยกย่องจากผู้ชมทุกชาติทุกภาษาว่าเป็นหนึ่งในการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยที่ดีที่สุดของโลก
โดยมีเอกลักษณ์เป็นโรงละครที่มีการจัดแสดงโชว์วัฒนธรรมไทยที่ วิจิตร สวยงาม ตระการตา และทรงคุณค่า ด้วยเทคนิคพิเศษ ระบบแสง เสียง สมบูรณ์แบบ ถอดแบบเทคโนโลยีมาจากลาสเวกัส อเมริกา มีการแสดงพื้นบ้านวัฒนธรรมไทยท่องป่าหิมพานต์ ท่องไปในสวรรค์และนรก ที่นับว่าเป็นจุดเด่น ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชมได้อย่างไม่ขาดสาย ด้วยลักษณะพิเศษที่ไม่สามารถหาชมได้ทั่วไป ที่มาพร้อมความใส่ใจในรายละเอียดของผู้สร้าง
สำหรับพื้นที่ตั้ง โรงละครสยามนิรมิต กรุงเทพฯ นั้น เป็นสัญญาเช่า ปัจจุบันเหลือเวลาอีก 7 ปีก็จะหมดสัญญา แต่เนื่องจากพิษโควิดทำให้ยื้อต่อไปไหว และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่ากิจการจะฟื้นกลับมา โดยที่ผ่านมาผู้บริหารได้แบกรับค่าเช่าและจ่ายเงินช่วยเหลือให้พนักงานเป็นเวลากว่า 18 เดือน ตั้งแต่โควิดระบาดระลอกแรก และเมื่อต้องปิดกิจการก็ได้ให้คำมั่นกับพนักงานว่าจะได้รับการชดเชยตามกฎหมาย
.
.
.
ทั้งนี้ สยามนิรมิต เปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ด้วยเงินลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท บนพื้นที่ 24 ไร่ทำเลทอง ขนาดของโรงละครจุคนดูได้ 2,000 ที่นั่ง มีห้องอาหารนานาชาติ ให้บริการภายในอาคาร มีความจุรวม 1,500 ที่นั่ง พร้อมที่จอดรถกว่า 300 คัน
อย่างไรก็ตาม แม้ที่แห่งนี้จะต้องปิดตัวลงจากพิษโควิด หากแต่ทางกลุ่มบริษัท สยามนิรมิต ก็ยังคงมุ่งเดินหน้าสานต่อความยิ่งใหญ่นี้ต่อไป โดยจะให้ความสำคัญไปที่ สยามนิรมิต ภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงละครอีกแห่งหนึ่งในเครือนี้ แม้จะมีผลประกอบการลดลง โดยในปี 2563 มีรายได้ 35,600,097 บาท ลดลงจากปีก่อน -69.71 ขณะที่รายจ่ายกลับสวนไปอยู่ที่ 123,631,740 บาท ทำให้ขาดทุนกว่า 98 ล้านบาท
แต่หากมองในทิศทางของภูเก็ตที่มีแนวโน้มดีขึ้น หนุนเนื่องด้วยการออกมาตรกการจูงใจนักท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง ก็อาจจะทำให้ยังพอเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ได้ กระนั้น เราก็ยังคงเฝ้ามองและให้กำลังใจที่แห่งนี้ด้วยความหวังว่า จะสามารถผ่านวิกฤตินี้นี้ไปได้อีกครั้ง เหมือนอย่างที่เคยฝ่าฟันมาในอดีต เพื่อรักษาพื้นที่เผยแพร่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีที่งดงาม ให้ยังคงอยู่คู่สังคมไทย พร้อมกับหวังลึกๆในใจว่า จะมีโอกาสกลับมาอวดโฉมในวงการโรงละครระดับโลก ให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสรับชมความตระการตา ได้อีกครั้ง