เปลี่ยนแท็กซี่ เป็นสวนปลูกผัก ความเจ็บปวดของคนทำธุรกิจรถบริการสาธารณะ จากผลพวงโควิดที่ยืดเยื่อกว่า 2 ปี


หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยาวนานยืดเยื่อกว่า 2 ปี สำทับกับมาตรการล็อกดาวน์จากรัฐก่อนหน้าระลอกใหญ่ ทำให้หนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คงเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในหมวดขนส่งสาธารณะ เพราะด้วยเวลาที่ถูกจำกัดการวิ่งรับส่งคนที่น้อยลง ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อคนตัวเล็ก และที่เราเห็นชัดตลอดเวลาที่ผ่านมาก็คือเหล่าคนขับแท็กซี่นั่นเอง
.
ดังเรื่องที่เราหยิบยกมานำเสนอในวันนี้ เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นภาพรถแท็กซี่จำนวนมาก ที่จอดเรียงรายเหมือนอยู่ในสุสานรถเก่า หากแต่รถนับหลายร้อยคันนั้น ยังเป็นรถที่ใช้งานได้ปกติ เป็นรถที่ยังไม่หมดอายุการใช้งาน แต่ต้องถูกจอดทิ้งร้างไว้ลานจอดในอู่สหกรณ์แท็กซี่ เหตุเพราะไม่มีผู้โดยสาร และหารายได้ไม่พอค่าเช่าค่างวดรถนั่นเอง
.
โดยจุดเริ่มต้น เกิดมาจากพนักงานในเครือสหกรณ์บวรและราชพฤกษ์แท็กซี่ เห็นว่ารถถูกจอดทิ้งร้างไว้นาน ครั้นจะปล่อยไว้ก็มีแต่ทรุดโทรมและเปล่าประโยชน์ จึงให้พนักงานทำการปลูกผักสวนครัวบนหลังคารถ โดยนำไม้ไผ่มาทำเป็นฐานและใช้พลาสติกปูพื้นหลังคาใส่ดินและปลูกผัก และเวียนกันมารดน้ำทุกวันเช้าเย็น เพื่อหวังว่าหากมันเติบโต จะให้พนักงาน คนขับแท็กซี่ นำมาปรุงอาหารโดยไม่ต้องซื้อ
.
แต่เรื่องนี้ นับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของธุรกิจขนส่งสาธารณะในอีกนัยหนึ่ง เพื่อส่งต่อสารว่าพวกเขากำลังเดือดร้อน ไม่มีรายได้พอจะจุนเจือธุรกิจ จนต้องหาทางออกโดยการปลุกผักสวนครัว บนรถราคาเฉียดล้าน โดยจะทยอยทำการปลูกไปจนครบทุกคันที่จอดอยู่ เพื่อให้ได้ปริมาณของผักในแต่ละวันที่เพียงพอ สำหรับผักที่ปลูกนั้นก็นับว่าเป็นของที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอาหารทั่วไป อาทิ พริก กะเพรา มะเขือ ต้นหอม เป็นต้น
.
โดยที่ผ่านมา ทางสหกรณ์และกลุ่มผู้ประกอบการและเจ้าของรถ มีการร้องขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งการนำรถไปจอดไว้ยังกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระจายไปจอดยังตลาดไท โรงงานยาสูบ สถานีกลางบางซื่อ มาเป็นเวลานานแล้ว
.
แต่ก็ยังไม่มีที่ไหนตอบรับการเยียวยา โดยก่อนนหน้านี้ได้ขอความช่วยเหลือในเรื่องการขอให้ไฟแนนซ์ ลดหย่อนดอกเบี้ย งดเว้นค่าเบี้ยปรับ โดยขอให้ปรับเท่ากับเบี้ยรถบ้าน หรือขยายกรอบชำระเงินออกไป ทั้งยังขอให้ช่วยตรึงราคาค่าแก๊ส ทั้ง แอลพีจี และ เอ็นจีวี เพื่อช่วยลดต้นทุน เพราะสถานการณ์โควิด-19 คนขับไม่สามารถหารายได้ หรือบางคนรายได้ก็ไม่พอกับรายจ่าย เมื่อมาหักหลบกลบต้นทุนและหนี้แล้ว ทำให้หลายคนถอดใจ จึงต่างพากันทยอยคืนรถอย่างที่ได้ทราบกัน
.
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรถแท็กซี่ที่ถูกจอดทิ้งไว้ ยังมีอีกหลายคันที่กระจายจอดอยู่ตามอู่ และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้กระจายจอดตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ รวมแล้วกว่า 2,000 คัน จากแท็กซี่ของสหกรณ์ทั้งหมดที่มีกว่า 3,000 คัน หมายความว่า รถแท็กซี่ของสหกรณ์ที่ขับอยู่บนท้องถนนวันนี้ เหลือไม่ถึง 1,000 คัน และยังมีส่วนหนึ่งที่เป็นหนี้กับบริษัทไฟแนนซ์รถยนต์ และอยู่ในระหว่างดำเนินการทางกฏหมายอีกกว่า 3,000 สัญญาด้วยกัน
.

ขอบคุณที่มาภาพ : nationphoto