ส่องตลาดขนมไหว้พระจันทร์ ความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ จากวิกฤติโรคระบาดล่าสุด


วันพรุ่งนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางประเพณีของคนจีน ซึ่งถือเป็นเทศกาลใหญ่อันดับสองรองจากตรุษจีน สำหรับชาวจีนในแทบทุกถิ่น เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า “เทศกาลวันไหว้พระจันทร์” เมื่อถึงวันเทศกาลทุกคนจะกลับไปรวมตัวกันที่บ้าน เป็นวันที่คนในครอบครัวจะได้แสดงความสามัคคีกัน และได้ชมดวงจันทร์พร้อมหน้ากัน ซึ่งชาวจีนได้นิยาม วันไหว้พระจันทร์ ว่า “วันแห่งการอยู่พร้อมหน้าของครอบครัว” โดยมีกิจกรรมสำคัญคือการไหว้พระจันทร์นั่นเอง

วันไหว้พระจันทร์ เป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงงดงามที่สุด และเต็มดวงที่สุด ชาวจีนจึงให้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของความสวยงาม เป็นสื่อกลางของการคิดถึงซึ่งกันและกัน เมื่อคนในครอบครัวจากบ้านเกิดไปไกลคิดถึงครอบครัว ก็ให้แหงนมองดวงจันทร์ส่งความรู้สึกที่ดี ส่งความคิดถึงไปสู่ครอบครัวและคนที่รักผ่านดวงจันทร์

แต่อีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นต้องมี เรียกได้ว่าเป็นของคู่กันเสมอเมื่อนึกถึงเทศกาลนี้ ก็คือ ขนมไหว้พระจันทร์ นั่นเอง ซึ่งประเพณีการไหว้พระจันทร์ด้วยขนมได้สืบสานและส่งต่อกันมานานนับหลายพันปีแล้วตามความเชื่อดั่งเดิม

โดยเทศกาลไหว้พระจันทร์ในปีนี้ จะตรงกับวันที่ 21 กันยายน 2564 หากมองในมุมของผู้ประกอบการ ถือว่าเป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจขนมไหว้พระจันทร์ จากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายและมีระดับความรุนแรงมากกว่าปีก่อน ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศยังคงเปราะบาง และส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขนมไหว้พระจันทร์ในปีนี้

นอกจากนี้ ด้วยข้อจำกัดของการบริโภคที่แม้ว่าจะเป็นสินค้าเฉพาะเทศกาลแต่ก็มีระดับราคาที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้บรรยากาศจับจ่ายขนมไหว้พระจันทร์ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ในปีนี้คาดว่าจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมา

มีการคาดคะเนตัวเลขมูลค่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปีนี้ จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งประเมินว่า ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ปี 2564 อาจมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 755 ล้านบาท ซึ่งหดตัว 5.7% จากปี 2563 ที่หดตัวลดลงกว่า 15.8% ด้วยกัน จากแรงฉุดด้านปริมาณเป็นหลัก

โดยกลุ่มที่เจาะฐานลูกค้าในตลาดแมสซึ่งมีสัดส่วนสูง ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่เปราะบางท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่กลุ่มที่เจาะลูกค้าพรีเมียมแม้ประคองตัวได้แต่ก็เผชิญความท้าทายด้านการแข่งขันที่สูงจากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งมองว่า การรับมือกับสภาพตลาดที่ไม่เอื้อต่อการจับจ่ายของผู้บริโภคในภาพรวม การบริหารต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพและวางแผนกำลังการผลิตให้เหมาะสม ยังจำเป็นต่อการประคับประคองยอดขาย

ในขณะเดียวกัน การสร้างกิมมิกใหม่เพื่อชูจุดขาย สร้างความแตกต่างและน่าจดจำ ยังคงมีส่วนช่วยเพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจเพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้บางส่วน

นอกจากนี้ การขยายช่องทางการขายหรือร่วมมือกับพันธมิตรในการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ตลอดจนการขยายเวลาของการทำตลาดเร็วขึ้นให้ครอบคลุมหลายเทศกาล ยังมีส่วนต่อการสร้างโอกาสในการขายให้มีเพิ่มมากขึ้นตามมา