SME สีเขียว เทรนด์นี้พลาดมีเจ็บ


เมื่อโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติโลกร้อน (climate change) จนกลายเป็นแรงบีบให้ทุกฝ่ายต้องหันมาให้ความสำคัญ และรับผิดชอบในการดูแลรักษาโลกใบนี้ ก่อเกิดแนวคิดนี้เป็นกระแสแทรกซึมเข้าไปในทุกวงการ ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

ดังที่ทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่า วันนี้เรื่องสิ่งแวดล้อม ได้เข้าสู่มิติทางธุรกิจการค้าอย่างเต็มตัว มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นแรงกดดันให้ทุกฝ่าย ทุกประเทศ ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโลก หากไม่เดินตาม ก็จะถูกกดดันให้ตกขอบเวทีไป

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้ออกมาพูดประเด็นการรับมือกระแสสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆของประเทศไทย ถึง 2 ครั้งๆ แรก ในพิธีกล่าวสุนทรพจน์งานประชุมสามัญประจำปีของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอีกครั้งในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

Keyword สำคัญที่ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม คือ การเตือนให้ประเทศไทย รับมือกับกระแสสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบกับแง่มุมต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำแล้งน้ำท่วม ที่สร้างความเสียหายกับภาคเกษตรต้นน้ำของอุตสาหกรรม และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เท่านั้น แต่จะกระทบลึกไปในทุกมิติทางเศรษฐกิจ

 

“สหภาพยุโรป ออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกสินค้าของไทยอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่ เห็นได้ชัดจากการที่มาตรการ CBAM จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี2023 นี้แล้ว” นายเศรษฐพุฒิ ยกตัวอย่างมาตรการทางสิ่งแวดล้อมบนเวทีโลกที่จะส่งผลกระเศรษฐกิจไทย

 

สำหรับมาตรการ CBAM นั้น ส่วนหนึ่งเป็นแผนที่ EU กำหนดขึ้นเพื่อปรับความเท่าเทียม อันเนื่องจากการดำเนินมาตรการทางสิ่งแวดล้อมทำให้ต้นทุนการผลิตของสินค้าในยุโรปสูงขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพการแข่งขัน ซึ่งหมายความว่า สินค้าที่จะเข้าไปในยุโรป หากไม่ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ยอมรับ ก็จะถูกเก็บภาษีที่สูงจนถูกปฏิเสธจากผู้บริโภค นั้นเอง

 

ขณะเดียวกัน แรงกดดันทางการค้าที่เกิดจากประเด็นโลกร้อน จะร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ ตามนโยบายการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา

ดังนั้นประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเร่งให้ความสำคัญกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อการส่งออก แต่เรื่องนี้ต้องขยับกันเป็นองคาพยบ ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น เกี่ยวพันกับทุกภาคส่วน ต้องแต่ภาคการผลิตจนถึงผู้บริโภค

 

อีกเรื่องที่ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในงานประชุมประจำปีสภาอุตสาหกรรมฯ ถึงกรณีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในส่วนของภาคการเงิน ว่า ในฐานะที่ ธปท. มีหน้าที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ รักษาเสถียรภาพทางการเงินประเทศ ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวต่อกระแสสิ่งแวดล้อมและความยั้งยืน ด้วยเช่นกัน

 

“สำหรับระบบธนาคารพาณิชย์ นอกจากจะมีหน้าที่ดูแลให้ลูกหนี้ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ (โควิด- 19) ไปได้แล้ว สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ การปรับตัวเพื่อรองรับบริบทใหม่ ๆ และต้องจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปในรูปแบบที่สอดคล้องกับกระแสของอนาคตที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ green 7 และ ESG มากขึ้น อาทิ การผนวกเรื่อง ESG เข้าไปตลอดกระบวนการให้สินเชื่อ การเปิดเผยข้อมูลเรื่อง การดำเนินการด้านความยั่งยืน รวมถึงการมีนโยบายขององค์กรที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจน”

 

จากข้อความข้างต้น เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า การปล่อยสินเชื้อของระบบธนาคาร ควรนำเรื่องธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เข้าเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาเงื่อนไข หรืออาจเป็นการช่วยสร้างแต้มต่อต้นทุนทางการเงินให้กับธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึงประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ต่อจากนี้คงเห็นเรื่องนี้มีความจริงจังมากขึ้น

 

ดังนั้น การทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความสำคัญและฉายภาพชัดต่อผลกระทบในทุกมิติ โดยเฉพาะทางด้านการเงินและการค้า ซึ่งบรรดา SMEs ต้องไม่ตกขบวนอย่างเด็ดขาด