ทำความรู้จักสินค้า GI (Geographical Indications) ทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่ง ที่มาจากแหล่งทางภูมิศาสตร์


มังคุดในวงระนอง และ ส้มจุกจะนะ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ตัวล่าสุดของไทย โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ตัวใหม่ของไทย ซึ่งเป็นผลไม้จากภาคใต้อีก 2 รายการด้วยกันคือ

มังคุดในวงระนอง ซึ่งเป็นมังคุดพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดระยอง มีลักษณะเด่นด้วยผลใหญ่ ผิวเปลือกมันเรียบ เมื่อสุกจะมีสีดำเนื้อมังคุดมีสีขาวปุยฝ้าย ไม่เป็นเนื้อแก้ว ไม่มียางไหล และไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานนำอมเปรี้ยวเล็กน้อย

ส้มจุกจะนะ มีทั้งพันธุ์เปลือกหนาและพันธุ์เปลือกบาง ปลูกในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีลักษณะเด่นด้วยผิวมันวาว เปลือกล่อน มีกลิ่นหอมจากต่อมใต้เปลือกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว

โดยในปัจจุบัน ไทยได้ขึ้นทะเบียน สินค้า GI ได้ครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว รวมทั้งสิ้นกว่า 150 รายการ ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าการตลาดให้กับสินค้าชุมชนได้ถึง 36,000 ล้านบาท

มาถึงจุดนี้หลายท่านอาจจะสงสัยแล้วว่า สินค้า GI คืออะไร แล้วจะส่งผลอย่างไรหากมีทรัพย์สินทางปัญญานี้ในชุมชนของเรา ดังนั้นเราจะพาไปทำความรู้จักความหมาย นิยาม รวมถึงข้อบ่งชี้คุณลักษณะเฉพาะนี้กันเลย

สำหรับสินค้า GI ซึ่งใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) นั้น จัดว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยงกัน ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์

กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึง สินค้า GI นั่นเอง หากกล่าวโดยย่อ สินค้า GI คือทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการประยุกต์ ต่อยอด พัฒนางานหรือสินค้าจากรากเหง้าของชุมชน วิถีชีวิต อันมีได้เฉพาะพื้นถิ่น

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ

1. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยตรง (Direct Geographical Indication) กล่าวคือ เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้น ๆโดยตรง เช่น ไชยา เพชรบูรณ์ สุไหงโกลก วิเชียรบุรี เป็นต้น

2. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยอ้อม (Indirect Geographical Indication) กล่าวคือ เป็นสัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่ชื่อทางภูมิศาสตร์ ซึ่งใช้เพื่อบ่งบอกแหล่งภูมิศาสตร์อันเป็นแหล่งกำเนิดหรือแหล่งผลิตของสินค้า เช่น สัญลักษณ์ประจำอำเภอ หรือจังหวัด รูปย่าโม รูปหอนาฬิกา รูปทะเล ภูเขา เป็นต้น

เงื่อนไขการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

สินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มักจะเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษหรือมีลักษณะเฉพาะที่เกิดจากอิทธิพลสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เช่น สภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ของแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ ตลอดจนทักษะความชำนาญและภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ ประกอบด้วย

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มีความแตกต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดแต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตที่อาศัยอยู่ในสถานที่หรือแหล่งภูมิศาสตร์ และผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นเท่านั้น ที่มีสิทธิผลิตสินค้าดังกล่าวโดยใช้ชื่อทางภูมิศาสตร์นั้นได้ ผู้ผลิตคนอื่นที่อยู่นอกแหล่งภูมิศาสตร์จะไม่สามารถผลิต สินค้าโดยใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์เดียวกันมาแข่งขันได้ สิทธิในลักษณะดังกล่าวนี้นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “สิทธิชุมชน” ซึ่งไม่สามารถนำสิทธิที่ได้รับไปอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ต่อได้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์เท่านั้นที่มีสิทธิใช้

การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยทั่วไป อาจแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ

ระดับปกติ ใช้กับสินค้าทั่วไปโดยมุ่งป้องกันมิให้มีการนำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไปใช้ในลักษณะที่จะทำให้คนสับสนหลงผิดในแหล่งที่มาของสินค้านั้น เช่น ผู้ผลิตไข่เค็มที่เชียงใหม่ ไม่สามารถใช้คำว่า “ไข่เค็มไชยา” กับสินค้าของตนได้ หากทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด คิดว่าไข่เค็มของตนมาจากอำเภอไชยา

ระดับพิเศษ ใช้กับสินค้าเฉพาะอย่าง (ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง) เป็นการห้ามการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นทุกกรณี แม้จะไม่ได้ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดก็ตาม เพื่อคุ้มครองไม่ให้มีการแสดงให้ทราบถึงแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้าโดยใช้คำว่า “ชนิด” หรือ “แบบ” หรือคำทำนองเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ TRIPS ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกประเทศสมาชิก WTO จะต้องให้ความคุ้มครองสินค้าประเภท ไวน์ และสุรา ในระดับพิเศษ ตัวอย่างการคุ้มครอง GI ในระดับพิเศษนี้ เช่น ผู้ผลิตไวน์ในประเทศไทยไม่สามารถใช้คำว่า “Borbeaux” ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการอ้างโดยอ้อม เช่น ผลิตแบบ Borbeaux หรือชนิดเหมือน Borbeaux หรือแม้จะได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าเป็นไวน์ที่ผลิตในไทยก็ตาม เป็นต้น

.

ที่มา : กรมทรัพย์สินทางปัญญา