หนึ่งในสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนวาดฝันไว้ในอนาคต นอกเหนือจากการใช้ชีวิตให้มีความสุข การมีครอบครัวที่สมบูรณ์ การวางแผนปลายทางหรือการวางแผนเกษียณในวัยชราก็มีส่วนสำคัญ และเป็นเป้าหมายหลักที่ชาวมนุษย์เงินเดือนไม่ควรจะมองข้าม เพราะไม่ว่าระหว่างจะเกิดเหตุไม่คาดฝันขนาดไหน จะเจอวิกฤติถาโถมเข้ามาสักกี่รอบ การมีเป้าหมายที่ดีจะช่วยเป็นเข็มทิศให้เราไม่หลงทิศทาง หรืออย่างน้อยก็ไม่หลุดไปไกลเกินกว่าเป้าที่ตั้งเอาไว้
สำหรับแผนเกษียณอายุนั้น ถือว่าเป็นแผนการเงินระยะยาว ซึ่งระหว่างทางอาจมีปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มากระทบ ซึ่งมีผลต่อเป้าหมายและแผนของเรา ดังนั้น เราต้องมีการสำรวจ ประเมิน และปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต
.
.
ซึ่งในวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับเคล็ดลับ 5 ขั้นตอน เกษียณอย่างไร ให้ชีวิตมีแผน
1. สำรวจและประเมินตัวเองอยู่เสมอ การรู้จักตัวเอง ย่อมเป็นจุดเริ่มที่ดี
โดยพิจารณาว่า รายได้ของเราในทุกวันนี้ มีความมั่นคงมากน้อยเพียงใด สามารถทำต่อไปได้จนถึงอนาคตได้หรือไม่ จะมีผลปัจจัยตัวไหนบ้างที่จะเข้ากระทบเรา และจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้หลายอาชีพ หลายธุรกิจต้องปิดกิจการลง เราได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด และพอจะมีวิธีแก้หรือหาทางออกเตรียมไว้ได้หรือไม่
เมื่อเรามองเห็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรวางแผนการใช้จ่าย ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น จัดการภาระหนี้สิน หากไม่สามารถชำระหนี้ตรงตามกำหนด สามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอไกล่เกลี่ย ในส่วนของปัจจัยด้านสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล กรณีเจ็บป่วยของตนเองและคนในครอบครัว ซึ่งมีผลต่อแผนเกษียณ และการออม การลงทุนของเรา เพราะหากเจ็บป่วย แล้วไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ดีพอ ก็จะทำให้ขาดรายได้ และต้องนำเงินออมหรือเงินลงทุนออกมาใช้จ่ายในส่วนนี้นั่นเอง
2. วิเคราะห์แผน มองแหล่งรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะได้รับผลกระทบไหม
แผนแหล่งรายได้หลังเกษียณในส่วนไหนที่เราอาจมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงในด้านจำนวนการออมหรือลงทุน อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), ประกันชีวิต, ประกันบำนาญ, รายได้จากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์, หรือเงินปันผลจากแหล่งต่างๆ เป็นต้น
ซึ่งหากแหล่งรายได้หลังเกษียณที่เราได้วางแผนได้รับผลกระทบ ก็จะมีผลต่อเป้าหมายแผนเกษียณในอนาคตของเราได้ อาจทำให้จำนวนเงินเกษียณที่ได้รับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
3. แนวทางแก้ไขปัญหา หากเราพบว่า เกิดการสะดุดระหว่างทาง
สำหรับท่านที่วางแผนเกษียณด้วยการออมหรือลงทุนผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว แนวทางในการแก้ปัญหาข้างต้น อาจทำได้ด้วยการพัก ชะลอ ลดเงินออมหรือเงินลงทุน
สำหรับกองทุน RMF ที่ลงทุนต่อเนื่อง เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี สามารถหยุดลงทุนได้แบบปีเว้นปี โดยที่ไม่ผิดเงื่อนไข หรือเราสามารถลงทุนในจำนวนที่น้อยลงได้ ตามรายได้หรือความสามารถในการลงทุนในขณะนั้น ซึ่ง ณ ปัจจุบัน RMF ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำในการลงทุน
ในส่วนของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือเกษียณอายุ ประกันบำนาญ ประกันชีวิตควบคู่การลงทุน สามารถขอแบ่งชำระเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน ราย 6 เดือน หรือขอลดเบี้ยที่ชำระทุนประกันให้ลดลงได้ หรือถ้าเป็นกรณีค้างชำระเบี้ยเกินกำหนด ให้บริษัทกู้เงินอัตโนมัติจากมูลค่ากรมธรรม์ เพื่อชำระเบี้ยได้ (กรณีกรมธรรม์มีมูลค่าเพียงพอ)
ส่วนประกันชีวิตควบคู่การลงทุน หากมูลค่าการลงทุนมีมากพอสำหรับการชำระเบี้ยในส่วนค่าประกันภัย สัญญาเพิ่มเติมและค่าธรรมเนียม เราสามารถขอพักชำระเบี้ยได้ แต่ยังได้รับความคุ้มครองเหมือนเดิม หรือขอลดเบี้ยที่ชำระได้ แต่ความคุ้มครองหรือผลประโยชน์อาจลดลงจากเดิม
4. ปรับเปลี่ยนและทำตามแผน สำหรับแผนเกษียณที่เราได้วิเคราะห์ ปรับแผน ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจที่รอวันฟื้น
เมื่อเราได้ปรับแผนไปตามข้อก่อนหน้าแล้ว อันดับต่อไปคือการมุ่งทำตามแผนละพร้อมจะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมหรือหุ้น ที่เหมาะสมกับเรา หรือการจัดพอร์ตให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ที่สอดคล้องกับผลตอบแทนที่คาดหวังของเรา การคัดเลือกการลงทุน จังหวะในการลงทุนในแต่ละภาคธุรกิจใดที่ได้รับผลกระทบและได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ และถ้าหากสถานการณ์มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี เรายังคงสามารถเพิ่มสัดส่วน เพิ่มจำนวนเงินลงทุนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของเราได้
5. เฝ้าติดตาม ทบทวนจุดบอด และเอามาประเมินผล
เมื่อเราปรับแผนเรียบร้อยแล้ว ก็ควรติดตาม และประเมินผลอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ว่าผลตอบแทนที่ได้รับเป็นอย่างไรบ้าง นำส่วนได้ ส่วนเสีย ปัจจัยความเสี่ยง รวมถึงทิศทางอนาคตมาประเมินร่วม และเมื่อเราประเมินออกมาแล้ว จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนที่ได้วางไว้หรือไม่ กองทุนรวม หรือหุ้นที่เราลงทุนไป มีแนวโน้ม นโยบายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ฉะนั้นการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐกิจ ธุรกิจเกี่ยวกับการเงินกันอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่เราควรทำให้เป็นสิ่งปกติ เพราะหากเรามีสายตาที่ฉับไว มีการมองเห็นที่คมชัด สิ่งนั้นจะช่วยให้แผนไปสู้เป้าหมายของเรามีความชัดเจน และประสบผลสำเร็จได้ตามที่ใจคาดหวังเอาไว้
ในทุกวิกฤติมักจะมีโอกาสอยู่เสมอ และการจะมองเห็นโอกาส ก็จำเป็นจะต้องมีการหยั่งรู้อนาคตเป็นปัจจัยหนึ่งเสมอ การหยั่งรู้ในที่นี้ไม่ได้เกิดจากความโชคดี โชคเข้าข้าง หรือมาจากการเสี่ยงดวง หากแต่ล้วนมาจากเบื้องหลังที่ผ่านการคิด วิเคราะห์ กลั่นกรอง จนตกผลึกเป็นสายตาที่เฉียบคมจนสามารถมองทะลุไปถึงอนาคตได้ ดังนั้นแผนการกำหนดทิศทางเพื่อชีวิตเกษียณที่เรานำเสนอในวันนี้ ก็คงพอจะทำให้ทุกท่านได้มองเห็นอะไรที่ชัดมากขึ้น เพื่อสุดท้ายในบั้นปลาย เราจะได้มีความสุขจริงๆ อย่างที่ใจต้องการสักที
.
ที่มาข้อมูล : Add Money