คปภ. ตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน พร้อมแนะวิธีเรียกร้องค่าสินไหม แก่ผู้เสียประโยชน์ จากรณีเพิกถอนใบอนุญาตบริษัท เอเชียประกันภัย


ภายหลังจากกรณีเมื่อไม่นานมานี้ที่ รมว.คลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ไปแล้วนั้น ได้มีประชาชนจำนวนมากที่เป็นลูกค้าของบริษัทประกันภัยดังกล่าวได้สอบถามถึงความชัดเจนของสัญญากรมธรรม์ที่ได้ทำกับบริษัทเอาไว้ รวมไปถึงร้องเรียนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากมีผู้เสียผลประโยชน์จากเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก

ล่าสุดจึงมีการชี้แจง พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเลขาธิการ คปภ. ได้ร่วมบูรณาการตั้งศูนย์ทั่วประเทศให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวก แก่ผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มที่ และให้กองทุนประกันวินาศภัยเข้ารับช่วงจ่ายเคลมประกันต่อจากบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านช่วงรอยต่อนี้ไม่สะดุด

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) แจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1936/2564 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยครั้งนี้ เป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย โดย สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ภายใต้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์สูงสุดของประชาชน พร้อมทั้งขอชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุประกอบการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเดือดร้อน ดังนี้

1. เนื่องจากปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัทฯ มีฐานะการเงินไม่มั่นคงจากการดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตาม ที่กฎหมายกำหนด มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน สภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า และเสนอขายกรมธรรม์ไม่เป็นไปตามแบบและข้อความที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน จึงเป็นกรณีที่บริษัทฯ มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564

จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งให้บริษัทแก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนด และให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว โดยสำนักงาน คปภ. ได้เข้าควบคุมธุรกรรมการเงินเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระหว่างที่มีคำสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวและอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งฯ จะไม่มีการโยกย้ายทรัพย์สิน หรือมีการกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2564

2. เมื่อให้ระยะเวลาบริษัทฯ แก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนแล้ว ได้ปรากฏข้อเท็จจริง ต่อนายทะเบียนว่า บริษัทฯ มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนคงค้างจำนวนมาก ซึ่งบริษัทฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการจัดการสินไหมทดแทนได้ และจากการที่สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามความคืบหน้าจากบริษัทฯ เกี่ยวกับการเพิ่มทุนหรือฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน พบว่า บริษัทฯ ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มทุนหรือการแก้ไขฐานะการเงินของบริษัทฯ และไม่ปรากฏว่าบริษัทฯ มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแก้ไขฐานะการเงินของบริษัทฯ รวมทั้งไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการร่วมทุนจากผู้ร่วมทุนรายอื่น ส่งผลให้บริษัทฯ มีฐานะการเงินที่ไม่มั่นคง ประกอบกับบริษัทฯ มีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ ไม่มีความพร้อมและความสามารถในการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ อีกทั้งบริษัทฯ มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ถ้าให้บริษัทฯ ประกอบธุรกิจประกันภัยจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน คณะกรรมการ คปภ. ในการประชุมครั้งที่ 11/2564 วันที่ 8 ตุลาคม 2564 จึงมีมติให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณามีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฯ มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีฐานะการเงินไม่มั่นคง ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด มีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของบริษัทฯ ได้ภายในระยะเวลาที่สมควร ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัยและประกอบธุรกิจประกันภัยได้ต่อไป ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป และหากบริษัทฯ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ มีสิทธิเสนอคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองกลางภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง

4. เมื่อรัฐมนตรีฯ มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) แล้ว คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 60 และมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี

5. การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัทฯ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวม ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย เพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบไว้แล้ว ดังนี้

5.1 บูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) และบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 13 บริษัท ดังนี้

(1) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายและได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัทฯ แล้ว ให้ติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันภัยวินาศภัยจะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้วเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไม่สะดุด

(2) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัทฯ ให้ยื่นเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

(3) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภท สามารถที่จะดำเนินการในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ดังนี้

– ขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันภัย ให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่ หรือ
– นำเบี้ยประกันภัยที่จะได้รับคืนไปใช้แทนเงินสดในการเลือกซื้อประกันภัยได้จากบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ ได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย

(4) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถนำเบี้ยประกันภัย ไปซื้อความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะภาวะโคม่า ในวงเงินความคุ้มครอง 300,000 บาท เบี้ยประกันภัย 300 บาท หรือนำเบี้ยประกันภัยไปซื้อความคุ้มครองกับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะได้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพิ่มอีก 10% ของกรมธรรม์ใหม่ แต่ไม่เกิน 500 บาท ยกเว้นกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.)

5.2 จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

5.3 จัดเตรียมสถานที่ที่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดังนี้

(1) กองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2791-1444 ต่อ 11-15 และ 21-24

(2) สำนักงาน คปภ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากกองทุนประกันวินาศภัยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการรับเอกสารหลักฐานการขอรับชำระหนี้แล้วส่งต่อให้กองทุนประกันวินาศภัยต่อไป โดยผู้เอาประกันภัยสามารถยื่นได้ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด ดังนี้
ส่วนกลาง ยื่นได้ ๓ แห่ง ดังนี้

– สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0-2515-3999 หรือ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ chatbot “คปภ. รอบรู้” (LINE@OICConnect)

– สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2476-9940-3

– สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2361-3769-70
ส่วนภูมิภาค สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ที่สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ

5.4 สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนา Web Application โดยเฉพาะขึ้น เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เอาประกันภัยได้รวดเร็วขึ้น โดยระบบจะแจ้งข้อมูลไปยังผู้เอาประกันภัยทางออนไลน์

5.5 บูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดเตรียมหมายเลขโทรศัพท์รวม 47 คู่สาย เพื่อตอบข้อซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจะเพิ่มเป็น 100 คู่สาย ในระยะถัดไป

หากเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัทฯ ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทฯ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) และหากเป็นเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้นำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึง มูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)

ทั้งนี้ หากเจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทฯ

“การดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายตั้งแต่ให้บริษัทฯ หยุดรับประกันวินาศภัยชั่วคราวตามมาตรา 52 พนักงานเจ้าหน้าที่ของ คปภ. ที่เข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัทฯ เพื่อดำเนินการควบคุมการเบิกจ่ายเงินตามที่จำเป็น และเร่งเคลียร์ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยเป็นอันดับแรก ทำให้สำนักงาน คปภ. สามารถเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้กว่า 13,000 ราย เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินของบริษัทฯ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะดูแลค่าเคลมที่ทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ ได้

และบริษัทฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะการเงินได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อให้กองทุนประกันวินาศภัยเข้ามาดูแล โดยใช้เงินกองทุนฯ เยียวยาผู้เอาประกันภัย ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ดูแลประชาชนให้เต็มที่ โดยหลังจากเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว กองทุนประกันวินาศภัยจะรับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันกับบริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชน โดยโอนให้กับบริษัทประกันภัยแห่งอื่นรับผิดชอบต่อ นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด-19 โดยเฉพาะขึ้น เพื่อรองรับผู้เอาประกันภัยที่ประสงค์ความคุ้มครองโควิด-19 ต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะได้รับการคุ้มครองดูแล

โดยสำนักงาน คปภ. จะบูรณาการร่วมกับกองทุนประกันวินาศภัยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย ช่วยบรรเทาเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่ และพร้อมน้อมรับทุกคำชี้แนะในการดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน

สำหรับรายชื่อบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ สามารถดูได้ จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th  หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

.

.

.

.

.

.