อว.ปลดล็อกแล้ว ปริญญาตรี-โท-เอก ไม่กำหนดปีจบ เรียนไม่จบไม่ต้องถูกรีไทร์อีกต่อไป


นักล่าปริญญา มีหวังอีกครั้ง หลังกระทรวงอุดมศึกษาฯปลดล็อก ไม่กำหนดระยะเวลาจบการศึกษาทุกปริญญา ทั้งตรี-โท-เอก เรียนไม่จบแต่ผลการเรียนถึงเกณฑ์ไม่ต้องถูกรีไทร์ ตอบโจทย์การเรียนยุคใหม่

ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา(กมอ.) มีมติยกเลิกการกำหนดเวลาเรียนปริญญาในระดับอุดมศึกษาทุกระดับเพื่อตอบโจทย์การเรียนของนักศึกษา และนับเป็นหนึ่งในโครงการ12 เดือน 12 ดี กระทรวง อว.ว่า ยกเลิกการกำหนดเวลาเรียนปริญญาในระดับอุดมศึกษาทุกระดับ เป็นไปตามนโยบายของ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับการกำหนดระยะเวลาสำเร็จการศึกษาแบบเดิม ระดับปริญญาตรี 4 ปี ไม่เกิน 8 ปี ปริญญาโท 2 ปี ไม่เกิน 5 ปี ปริญญาเอก 3 ปี ไม่เกิน 6 ปี ด้วยเหตุผลคือรีบเรียนรีบจบ แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยน เทคโนโลยี สังคม ที่เราจะพัฒนาคน ก็เปลี่ยนไป เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Liftlong Learning ซึ่งการกำหนดระยะเวลา ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาคน เพราะระหว่างเรียนเด็กอาจไปทำงาน หรือหาประสบการณ์ต่างๆข้างนอกห้องเรียน ตามความจริงการเรียนปัจจุบัน ต้องออกไปทำงาน ทำภาคเอกชน เดินทางท่องเที่ยวหาประสบการณ์เพื่อเรียนรู้ตัวเองและกลับมาเรียนหนังสือก็จะได้สิ่งใหม่ๆมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจำกัดการศึกษาด้วยเวลา

.

.

รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดีต้องชี้แจงว่ายังมีการรีไทร์อยู่ หากเรียนไปแล้วแต่ผลการเรียนไม่ถึงเกณฑ์เงื่อนไข แต่หากเรียนได้ผลการเรียนดี แต่ถึงระยะเวลาที่กำหนดก็สามารถเรียนต่อได้ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการปลดล็อกจากกระทรวงโดยเราไม่มีกรอบของเวลา ซึ่งมหาวิทยาลัยก็สามารถกำหนดเงื่อนไขของตัวเองได้

อย่างไรก็ตามในอนาคต กมอ.ได้มีการวางหลักเกณฑ์ไว้ว่าปริญญาตรีอาจจะสามารถเรียนจบได้ภายใน 2 ปี แต่ยังติดข้อจำกัดทางกฎหมาย ซึ่งเราต้องมีกฎกระทรวงมาตรฐานอุดมศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือได้ว่ากระทรวง อว.จะปลดล็อกทั้งบนและล่าง เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการศึกษาที่หลากหลายสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รีบเรียนรีบจบแล้วไปเรียนอย่างอื่นเป็นการเฉพาะทางเพิ่มเติม มีสิทธิเลือกมากขึ้น

“ประโยชน์ที่ได้รับจากการปลดล็อก เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้และสั่งสมองค์ความรู้ใหม่ๆ เด็กจะมีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต หาประสบการณ์ได้มากขึ้น ประโยชน์ทางวิชาการ เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก บางทีหลักสูตร การเรียน อาจจะไม่ก้าวทัน แต่หากเรามียืดระยะเวลาเรียน เด็กก็สามารถเลือกเรียนได้มากขึ้น อาจจะไปทำงานเอกชน หรือสตาร์ตอัพ เด็กจะสามารถรู้ว่าต้องกลับมาเรียนในสาขาวิชาอะไรเพื่อต่อยอด เพื่อจะได้เกิดนวัตกรรม งานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมได้จากการปลดล็อคในครั้งนี้” ศาสตราจารย์ศุภชัยกล่าวทิ้งท้ายถึงอนาคตของการศึกษาไทย

.

ข่าวที่น่าสนใจเพิ่มเติม

ครม. อนุมัติ 2.7 หมื่นล้านบาท ประกันรายได้ให้เกษตรกรปลูก ข้าว-มันสำปะหลัง-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 64/65 จากผลพวงผลผลิตราคาตกต่ำ

อีลอน มัสก์ มาแรงอีกแล้ว !! เพียงวันเดียว มูลค่าบริษัทเทสล่าพุ่ง 1 ล้านล้านเหรียญ หลังมีกระแสข่าวสั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากว่าแสนคัน

เปิดรายได้ค่าแรงขั้นต่ำ – พร้อมภาษีที่ต้องเสีย ในประเทศยอดฮิตที่คนไทยนิยมไปทำงาน