มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เปิดจักรวาล “Metaverse” ครั้งใหญ่ เปลี่ยนยานแม่ใหม่ในชื่อ “Meta” เพื่อปูทางสู่อนาคตออนไลน์


ในที่สุดก็เป็นไปตามข่าวลือที่ปล่อยมาก่อนหน้านี้ ที่บอกว่า Facebook กำลังจะรีแบรนด์ครั้งสำคัญ แม้จะเป็นเพียงการวางแผนเปลี่ยนชื่อบริษัท หากแต่เมื่อเรามองไปที่โลกใหม่ที่มาร์คซุ่มสร้างอยู่นานหลายปี เพื่อปูเส้นทางสู่จักรวาล Metaverse โลกที่เทคโนโลยีผสมผสานกับชีวิตความเป็นจริง ซึ่งจะหลอมรวมชีวิตจริงกับชีวิตในโลกออนไลน์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การกระทำในครั้งนี้อาจกำลังส่งสัญญาณบางอย่างที่มีนัยยะน่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ได้ให้ความหวัง พร้อมเชื่อว่า สิ่งนี้ จะคืออนาคตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ซึ่งชื่อใหม่ของยานแม่ ได้เปลี่ยนเป็น “Meta” คือชื่อบริษัทใหม่ของ Facebook ทำหน้าที่เป็นยานแม่ ส่วนบริการอื่นๆ ในเครืออย่าง Facebook, Instagram และ WhatsApp ยังอยู่เหมือนเดิม

เหตุผลที่ต้องเป็นคำว่า Meta อย่างแรกคือคำนี้สะท้อนแนวทางของ Metaverse ที่บริษัทจะเดินหน้าต่อจากนี้ ส่วนอีกเหตุผล มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เขียนบอกไว้ว่า คำว่า Meta ในภาษากรีกหมายถึง Beyond ที่แปลว่า “เหนือไปกว่า, ไกลไปกว่า” แสดงให้เห็นว่า บริษัทของเขายังมีอะไรให้ทำอีกมาก ไม่ใช่แค่โซเชียลมีเดียที่อยู่บนหน้าจอมือถือหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่ง Meta คือความเป็นไปได้ที่มากกว่าสิ่งที่ Facebook เคยทำมา โลกในอนาคตจะไปไกลกว่าหน้าจอ เหนือกว่าเดิม เทคโนโลยีใหม่ๆ และบริการหลังจากนี้ของ Meta จะทลายข้อจำกัดด้านระยะทาง เพื่อให้ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้น

.

.

.

โดยครั้งนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีที่ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก จะมีตำแหน่งใหม่ ตั้งแต่ก่อตั้ง Facebook ขึ้นมา ชื่อหุ้นจะเปลี่ยนไป จากแต่เดิมที่ใช้คำว่า FB จะเปลี่ยนเป็น MVRS มีผลวันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป ส่วนนโยบายหลักของบริษัทจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่บอกว่า “Facebook-first” มาเป็น “Metaverse-first” โฟกัสหลักของบริษัทจากนี้จะไม่ใช่โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook อีกต่อไป แต่จะเป็นการมุ่งหน้าผลักดันเทคโนโลยีเพื่อสร้าง Metaverse

ก่อนหน้านี้เราเปลี่ยนผ่านมาหลายยุคด้วยกัน จากจดหมายสู่โทรศัพท์ จากโทรศัพท์สู่คอมพิวเตอร์ และเราก็มาถึงยุคที่ทุกอย่างสามารถหาได้บนโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราคงคิดว่ามันมาไกลมากแล้ว หากแต่หลังจากนี้โลกของ Metaverse จะสร้างประสบการณ์ใหม่ ทำให้ผู้คนแม้ว่าจะอยู่คนละที่ แต่ใกล้กันได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น ในอนาคตคุณจะสามารถเทเลพอร์ต (teleport) ไปนั่งทำงานในออฟฟิศ หรือไปเที่ยวคอนเสิร์ตกับเพื่อนในรูปแบบโฮโลแกรม (hologram) โดยไม่ต้องเดินทาง

ซึ่งหากจะให้จินตนาการถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต เราคงไม่อาจที่จะคาดเดาทิศทางที่แน่ชัดได้ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็นับว่าได้ส่งสารบางอย่างไปถึงผู้ใช้งานในเครือของบริษัทของเจ้าพ่อวงการโซเชี่ยลมีเดีย ให้ได้ตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป แต่เหนือสิ่งอื่นใด การส่งสัญญาณนี้อาจพุ่งไปที่เหล่าผู้ผลิตแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้ได้รับรู้ถึงเป้าหมายที่มาร์คกำลังจะเดิน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกใหม่ ที่เขาปักใจเชื่อยิ่งนักว่า มันจะเป็นอนาคตของโลกออนไลน์ในอีกไม่ช้า