ทุกวันนี้การมัดใจคนเก่งให้อยู่กับองค์กรคงไม่ใช่แค่ตำแหน่งและเงินเดือนอีกต่อไป แต่คือ วัฒนธรรมองค์กร หรือ วัฒนธรรมองค์การ (Organizational Culture) ที่จะต้องเป็นมิตรต่อจิตใจและสามารถพาพวกเขาเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่แปลกที่คำนี้จะจึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วง COVID-19
นี่จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ต้องหันมาสำรวจวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทตัวเองว่า มีวัฒนธรรมอะไรที่ควรเน้นยำ เปลี่ยนแปลง หรือสร้างขึ้นมาใหม่ ก่อนที่พนักงานคนเก่งจะโบกมือลาไปอย่างน่าเสียดาย
ซึ่งการสร้างวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องให้เวลากับมันนานพอสมควร ที่สำคัญคือต้องมีการวางแผนในการพัฒนาให้เกิดขึ้นด้วย ซึ่งหากวัฒนธรรมองค์กรเกิดขึ้นแล้ว เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมองค์กรได้ในระยะยาว โดยปัจจุบันเราสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ดังต่อไปนี้
1. รับรู้ถึงความสำเร็จของพนักงาน
การตระหนักรู้ถึงการมีอยู่พนักงานนับเป็นความสำคัญอย่างหนึ่ง ยิ่งถ้าหากรับรู้ถึงความสำเร็จในการทำงานของพนักงานนั้น ๆ ก็จะยิ่งส่งผลดีในวงกว้าง โดยเฉพาะผู้บริหารควรจะมีการชื่นชมพนักงานบ้าง เพราะมีผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การชื่นชมพนักงานเป็นตัวชี้วัดต่อความผูกพัน การรักษา และการพัฒนาตัวเองของพนักงานอย่างมีนัยยะสำคัญ
2. รับฟังเสียงพนักงานอย่างแท้จริง
การรับฟังความคิดเห็นของพนักงานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะหากเราทำพลาดในข้อนี้ก็จะทำให้พนักงานสูญเสียกำลังใจในการทำงานได้ โดยเราสามารถรับฟังในรูปแบบแบบสอบถาม หรือการเข้าพูดคุยส่วนตัวเพื่อสังเกตอวัจนภาษาต่าง ๆ และหากเป็นการทำงานทางไกล ก็อาจเปิดกล้องเพื่อให้การท่าทางของพวกเขาได้ด้วย
3. ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
ความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมอยู่ในมือของผู้บริหารหรือหัวหน้าทีม เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นำมีส่วนสำคัญในการเป็นตัวอย่างให้กับลูกทีม ถ้าผู้นำไม่เชื่อในวัฒนธรรมองค์กร ก็คงไม่มีใครเชื่อมั่นเช่นกัน
4. ดำเนินการตามค่านิยม
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น วิสัยทัศน์เป็นตัวกำหนดภารกิจ แต่ค่านิยมจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและทัศนคติ ค่านิยมจึงเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างวัฒนธรรม ซึ่งถ้าหากทุกคนสามารถดำเนินการตามค่านิยมได้อย่างจริงก็จะเกิดเป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนทำได้จริง หาใช่คำพูดสวยหรูที่ไม่สามารถทำได้
5. หมั่นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกต่างทีม
เป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้กับพนักงานระหว่างทีมหรือระหว่างแผนก เพื่อสร้างความรู้จักกันให้มากขึ้น สายสัมพันธ์นี้จะส่งเสริมให้แต่ละฝ่ายทำงานร่วมกันได้อย่างสะดวกใจขึ้น ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพเช่นกัน
6. เน้นการเรียนรู้และการพัฒนา
เชื่อไหมว่าวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในองค์กร ส่งผลต่อประสิทธิภาพทางธุรกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ มีผลการศึกษาจาก Find Courses ระบุว่า บริษัทที่พนักงานให้ความสำคัญต่อการพัฒนา Soft Skill จะมีผลประกอบการที่มากขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลให้องค์กรต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงการพัฒนาพนักงานนั่นเอง
7. ตระหนักถึงวัฒนธรรมทุกวัน
แรกเริ่มการรับพนักงานหลาย ๆ ที่จะมีการปฐมนิเทศวันเดียวแล้วปล่อยให้พนักงานลุยงานทันที แต่ทางที่ดีเราควรสร้างความตระหนักรู้ถึงวัฒนธรรมที่อยากสร้างให้พนักงานรับรู้บ้าง เนื่องจากจะทำให้พวกเขารักษาวัฒนธรรมนั้น ๆ ให้สดใหม่และทำตามอยู่เสมอ
8. ปรับแต่งให้เข้ากับประสบการณ์แต่ละคน
เพราะความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การยืดหยุ่นจึงเป็นทางออกที่ดีกว่าการบังคับ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงต้องสำรวจความต้องการของพนักงานอยู่เสมอว่าพวกเขาต้องการหรือไม่ต้องการวัฒนธรรมแบบไหน นับเป็นความเอาใจใส่ที่จะจูงใจให้เขาปฏิบัติตามวัฒนธรรมนั่นเอง
ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker) กูรูด้านการบริหารระดับโลกเคยกล่าวไว้ว่า “Culture eats strategy as breakfast.” ซึ่งเนื้อความนั้นหมายถึง ต่อให้องค์กรมีกลยุทธ์ธุรกิจเจ๋งขนาดไหน ถ้าวัฒนธรรมองค์กรไปด้วยกันไม่ได้ ความสำเร็จก็ไม่มีวันเกิดขึ้น
เพราะการสร้างวัฒนธรรมองค์กรมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะการกำหนดวิถีการทำงานของคนในองค์กรให้เป็นไปตามทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเจริญงอกงามให้กับองค์กร
ที่สำคัญ วัฒนธรรมองค์กรที่ดียังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะรักษาพนักงานเก่าให้อยู่กับเราไปนาน ๆ หรือสร้างเสน่ห์ดึงดูดคนเก่งจากภายนอกให้มาสนใจบริษัทเรา เหมือนดั่งการศึกษาคนวัยทำงานกว่า 5,000 คนของ Glassdoor ที่บอกว่า 77% จะประเมินวัฒนธรรมองค์กรก่อนสมัครงาน และกว่า 56% มองว่าวัฒนธรรมองค์กรสำคัญมากกว่าค่าตอบแทนด้วยซ้ำ
นี่จึงสะท้อนให้เห็นว่า ในสายตาพนักงานยุคปัจจุบันอาจให้ความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรมากกว่าเงินเดือนและตำแหน่งทางการงานเสียอีก
ขอบคุณที่มาข้อมูล : Hrnote.asia