รถไฟจีน-ลาว ส่งสัญญาณเดือดหลังเปิดวิ่งไม่ถึงเดือน พืชผักจากจีนทะลักเข้าไทย ใช้เวลาขนส่งไม่ถึง 2 วัน หวั่นอนาคตเกษตรกรไทยอยู่ยาก


รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว (คุนหมิง-เวียงจันทน์) จัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่ใช่เพียงสินค้าและบริการจากไทยจะรุกเข้าไปยังตลาดจีนที่มีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคนเท่านั้น

แต่อีกด้านหนึ่ง “สินค้าจีน” ซึ่งเป็นฐานการผลิตระดับโลกก็ทะลักมาที่ไทยเช่นกัน เพราะเส้นทางรถไฟช่วยให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าจากจีนมาถึงลาวใช้เวลาเพียง 24 ชม. หรือประมาณ 1 วัน และหากข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวมาที่ไทย โดยใช้รถบรรทุกขนส่งจากหนองคายก็จะใช้เวลาเพียงไม่เกิน 12 ชั่วโมงเท่านั้น

การเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีนที่ฝ่ายไทยหวังว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านลาวเข้าไปยังจีน เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นว่า ในช่วงแรก “จีน” ได้ใช้ประโยชน์ขนส่งสินค้าผ่าน สปป.ลาวมายังประเทศไทยก่อน ล่าสุดตามข้อมูลศุลกากรพบว่า มีการนำสินค้าผักจากจีนเข้ามาแล้ว 33 ตู้ (บรรจุตู้ละ 20 ตัน) ในสัปดาห์แรกของการเปิดเดินรถไฟเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

โดยผักเหล่านี้จะถูกขนส่งขึ้นรถบรรทุกจากหนองคายมายัง “ตลาดไท” ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุด มีคนจีนเป็นเจ้าของพื้นที่เช่าเพื่อกระจายสินค้าในตลาดมากกว่า 20 เจ้า โดยสินค้าผักจะทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่องอีก 40-60 ตู้ และไม่เพียงแค่ผัก-ผลไม้เท่านั้น แต่มีสินค้าอื่น ๆ ที่จีนจะส่งผ่านทางรถไฟเข้ามาด้วย

โดยอัตราค่าบริการขนส่งสินค้าขนาด 20 ฟุตจะตกตู้ละ 11,444 หยวน หรือประมาณ 50,000-60,000 บาท ตู้สินค้า 40 ฟุต อัตราตู้ละ 15,921 หยวน หรือ 70,000-80,000 บาท เทียบกับการขนส่งทางเรือเข้ามาที่ด่านเชียงแสน ปรากฏมีการปรับค่าระวางขึ้นไปสูงมากกว่า 100% และยังเสียเวลามากกว่าการขนส่งขึ้นรถไฟลาว-จีน และส่งต่อเข้ามายังประเทศไทย

“ผักผลไม้จากคุนหมิงส่งขึ้นรถไฟจีน-ลาวมายังเวียงจันทน์ ใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. รวมระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมงถึงชายแดนไทยที่หนองคาย ส่วนการขนส่งมาทางเรือขึ้นที่ด่านเชียงแสน อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 วัน นั้นแสดงให้เห็นว่าการขนส่งทางรถไฟช่วยประหยัดเวลามากกว่า”

ทั้งนี้ สถิติจากกรมการค้าต่างประเทศระบุว่า การค้าข้ามพรมแดนจากจีน แยกเฉพาะที่นำเข้าผ่านทางด้าน สปป.ลาว ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2564 มีมูลค่า 139,395 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 61.74% โดยสินค้าหลักที่นำเข้าจากจีน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์-เทปแม่เหล็ก, เคมีภัณฑ์, ผลไม้และของปรุงแต่ง, วงจรพิมพ์, ส่วนประกอบและอุปกรณ์ตัวถัง เป็นต้น