หนึ่งในความท้าทายใหม่ที่เข้ามามีบทบาทอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น รถไฟ “จีน-ลาว” ที่เพิ่งเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวครบรอบ 46 ปี และวันก่อตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตลาว-จีน ซึ่งมาบรรจบครบรอบ 60 ปีพอดี
เรื่องนี้เข้ามาอยู่ในวงสนทนาของสาธารณชนอีกครั้ง ภายหลังที่มีการเปิดใช้บริการอย่างจริงจังครั้งแรก เพราะทันทีที่ขบวนรถไฟได้เริ่มเบิกฤกษ์ เราก็เริ่มเห็นถึงผลกระทบที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทีละน้อย ภายหลังมีการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรเข้ามาในไทย ชนิดที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็มาถึงปลายทางประชิดขอบพระนครแล้ว แม้ในอดีตจะมีการนำเข้าสินค้าอุปโภค บริโภคจากจีนเป็นปกติอยู่เนือง ๆ หากแต่รอบนี้ ผู้ประกอบการไทยควรตั้งหลักรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ดี เพราะหลังจากนี้ เราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะตามมา
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงของจีนนั้น อยู่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การก้าวเป็นชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative, BRI) ซึ่งเป็นหลักคิดในการสร้างเครื่องมือ ในการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางรางในรูปแบบของรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งในอนาคตจีนยังต้องการเชื่อมผ่านไทยลงไปถึงสิงคโปร์อีกด้วย
เมื่อปี 2560 มีการทำ MOU บันทึกความร่วมมือ 3 ประเทศระหว่าง ไทย-ลาว-จีน เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้าข้ามแดนเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ผ่านการขนส่งทั้งทางราง ทางถนน ทางอากาศและทางเรือ เพื่อสร้างโอกาสและการเติบโตของการส่งออกการนำเข้าของประเทศไทยต่อไปในอนาคตโดยมีอีสานเป็นระเบียงเศรษฐกิจใหม่
ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ถือว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทั้งของจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะจีนต้องการขยายอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคนี้ พร้อม ๆ กับการขยายตลาดรองรับสินค้าอุตสาหกรรมของจีน กระจายความเจริญให้เข้าสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเอง และเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือสร้างให้จีนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลก
ทั้งนี้ รถไฟจีน-ลาว อาจจะไม่ตอบโจทย์ของการพัฒนาทั้งหมด จากรายงานการศึกษาของธนาคารโลกนี้ชี้ว่า จำนวนผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการรถไฟในช่วงบ่อเต็น-เวียงจันทน์จะมีเพียง 480,000 คนในปี 2025 และเพิ่มเป็น 1.1 ล้านในปี 2030 ซึ่งนับว่าไม่มากนัก ดังนั้นรถไฟจึงมีหน้าที่หลักในเรื่องการขนส่งสินค้าซะมากกว่า เพราะการขนส่งทางรางจะทำให้ ต้นทุนค่าขนส่งลดต่ำลง ถ้าหากเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงกันได้ทั่วภูมิภาคจากจีนถึงสิงคโปร์
โดยธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าการขนส่งสินค้าทั้งสินค้าข้ามแดน ผ่านแดน และ ภายในประเทศ จะเพิ่มขึ้นถึง 2.4 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 เฉพาะแต่ในส่วนของลาว-จีนนั้น คาดว่ารถไฟสายนี้จะขนส่งสินค้าได้ 1.7 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จากการขนส่งเต็มที่ ลาว จึงสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการผลิตและบริการ
รถไฟจีน-ลาวจะสามารถลำเลียงทั้งสินค้าและคนจากจีนตอนใต้ผ่านลาวมาถึงไทย โดยทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาที่เมืองบ่อเต็น สปป. ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดหนองคายเพียงแค่ 24 กิโลเมตร ทั้งนี้ หากไทยเตรียมพร้อมรับมือให้ดีรถไฟจีน-ลาวนี้จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งยังจะช่วยส่งเสริมทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ทั้งค่าโดยสารและระยะเวลา เพราะจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาถึงจังหวัดหนองคาย ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 15 ชั่วโมง เร็วกว่าทางถนนจากนครคุนหมิง ถึงจังหวัดเชียงรายที่ใช้เวลาถึง 2 วัน และจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร คำนวณโดย ธปท. พบว่าจะมีต้นทุนถูกกว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนมากขึ้น คนจีนจะเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยและลาวเพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าจีนจะมาแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดลาวมากขึ้นด้วย
หากไทยมีการเตรียมพร้อมในการรับมือ เราจะเห็นโอกาสสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
1.) ในด้านการค้า ไทยจะส่งออกสินค้าไปลาวและจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงผลไม้สดและแปรรูป เพราะสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง และจีนมีกำลังซื้อมหาศาล เฉพาะมณฑลยูนนานมีจำนวนประชากรราว 50 ล้านคน เกือบเท่ากับคนไทยทั้งประเทศ
2.) ในด้านการบริการและการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจีนและลาวจะมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ 3 กลุ่มใหญ่ของไทย คือกลุ่มบริการสุขภาพ, กลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารและโรงแรม, และกลุ่มสถานศึกษาและโรงเรียนสอนภาษา
3.) การลงทุนในต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องทำธุรกิจแข่งกับจีนจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์เน้นจุดขายที่การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ