ไอแบงก์ เตรียมปล่อยสินเชื่อ “ผ่านมัสยิด” ตั้งเป้า 1,000 แห่ง ในปี 65 ยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องมุสลิม


วันนี้ (16 ธันวาคม 2564) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการชุมชนซื่อสัตย์” เพื่อพัฒนาสังคมมุสลิมระหว่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในนามผู้แทนจุฬาราชมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน

การลงนามครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการแสดงเจตจำนงในการพัฒนาสังคมมุสลิม ระหว่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานตามพันธกิจสำคัญในการสร้างโอกาสให้ลูกค้ามุสลิม เข้าถึงระบบสถาบันการเงิน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของ พี่น้องมุสลิมโดยการให้สินเชื่อผ่านตัวแทนของคณะกรรมการมัสยิดทั่วประเทศ โดยในปี 2564 ธนาคารได้มีการนำร่องเสนอโครงการให้มัสยิดในภาคกลาง และภาคใต้ ปัจจุบันมีมัสยิดให้การตอบรับเข้าร่วมโครงการดังกล่าว แล้ว 350 แห่งโดยปี 2565 มีเป้าหมายจะมีมัสยิดเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ รวม 1,000 แห่ง

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลังได้กำหนดยุทธศาสตร์องค์กร การให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม (หลักซะรีอะฮ์) บนพื้นฐานของคุณธรรมซึ่งเชื่อมโยงสู่แผนดำเนินงาน “โครงการชุมชนซื่อสัตย์” เพื่อพัฒนาสังคมมุสลิมเป็นการสร้างโอกาสให้พี่น้องชาวมุสลิมเข้าถึงการแหล่งเงินทุน เพื่อการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี จึงนับเป็นการสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม สร้างความมั่นคงและลดความเหลื่อมล้ำ

“การดำเนินงานครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้มุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในทุกภาคส่วน และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม” พล.อ.ประวิตรกล่าว

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่ผ่านมาได้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้กับพี่น้องชาวมุสลิมโดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ไอแบงก์ได้ออกมาตรการเข้ามาช่วยเหลือลูกค้าเพื่อลดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรการการให้สินเชื่อเพิ่มเติม ฯลฯ และโครงการชุมชนซื่อสัตย์จะเข้ามาเสริมสร้างให้ลูกค้าของไอแบงก์เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

“ด้วยความเคร่งครัดในการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาของชาวไทยมุสลิม ในเรื่องการบริหารจัดการทางการเงิน แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้พี่น้องชาวไทยมุสลิม จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามข้อปฏิบัติตามหลักศาสนา เพื่อให้ดำเนินธุรกิจและสามารถดำเนินชีวิตเพื่อประกอบอาชีพ และการดูแลครอบครัวต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง” นายสันติกล่าว