ขั้นตอนการขอเปลี่ยน “ชื่อ-นามสกุล” ไม่ยากอย่างที่คิด ไม่ว่าใคร ก็สามารถมีชื่อ “มงคล” ได้ !!


ในปัจจุบัน เรามักจะเห็นคนเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลกันเป็นเรื่องปกติ เหตุผลของการเปลี่ยนโดยมากมักจะเป็นในเรื่องของการอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความเชื่อว่าหากเปลี่ยนชื่อนามสกุลแล้ว ชีวิตจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี

ซึ่งขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลนั้นไม่ได้ซับซ้อนยุ่งยากสักเท่าไร แต่ที่ยากกว่าก็คือขั้นตอนที่จะต้องตามไปเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลในเอกสารที่สำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา ดังนั้นใครที่ต้องการอยากเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลก็ขอให้คิดถึงเรื่องนี้และเตรียมใจยอมรับไว้ล่วงหน้า “ถึงผลที่จะตามมา”

ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มีใจความสำคัญว่า บุคคลสัญชาติไทย สามารถมีชื่อตัว นามสกุล และจะมีชื่อรองด้วยก็ได้

ชื่อตัว คือ ชื่อประจำตัวบุคคล
ชื่อรอง คือ ชื่อซึ่งประกอบถัดจากชื่อตัว
ชื่อสกุล คือ ชื่อประจำวงศ์สกุล

ทั้งนี้ กฎหมายการเปลี่ยนนามสกุลยังระบุถึงข้อห้ามในการเปลี่ยนนามสกุล หรือตั้งนามสกุลใหม่ ไว้ดังนี้

(1) ไม่พ้องหรือคล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนามพระราชินีและราชทินนามของพระองค์ทั้งสอง

(2) ไม่ไปพ้องกับราชทินนาม นอกจากจะเป็นราชทินนามที่ทรงประทานให้ตัวคนยื่นคำร้องขอเปลี่ยนเองหรือของบุพการีหรือของผู้สืบสันดาน

(3) ไม่ซ้ำกับนามสกุลอื่น ๆ ที่มีคนใช้แล้ว (ในส่วนนี้สามารถค้นหาจากอินเทอร์เน็ตได้ว่าซ้ำหรือไม่)

(4) ไม่ใช่คำหยาบคายหรือเป็นคำที่มีความหมายไปในทางหยาบคาย

(5) ต้องมีความยาวไม่เกิน 10 พยางค์ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล

(6) ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานชื่อสกุล ห้ามใช้คำว่า ” ณ ” นำหน้าชื่อสกุล

(7) ห้ามเอานามพระมหานคร และศัพท์ที่ใช้เป็นพระปรมาภิไธยมาใช้เป็นชื่อสกุล

สำหรับขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล มีดังนี้

– ผู้ยื่นคำขอตามแบบ ช1 ต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

– นายทะเบียนท้องที่ตรวจสอบคำขอกับทะเบียนบ้าน และชื่อที่ขอเปลี่ยนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์

– กรณีอนุญาตสำหรับบุคคลสัญชาติไทย นายทะเบียนท้องที่จะออกหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยน ชื่อตัวชื่อรอง (แบบช.3) ให้เป็นหลักฐาน

– กรณีบุคคลต่างด้าว นายทะเบียนท้องที่จะออกหนังสือรับรองการเปลี่ยนชื่อตัวของคนต่างด้าวให้ เพื่อประกอบหลักฐานการแปลงชาติ หรือคืนสัญชาติเป็นไทยเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว นายทะเบียน ท้องที่ จึงออกหนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรองให้เป็นหลักฐาน และเรียกเก็บค่า ธรรมเนียม 50 บาท

– เมื่อได้รับหนังสือสำคัญแล้ว ให้ผู้ขอนำหนังสือดังกล่าวไปขอแก้ไขรายการในทะเบียนบ้านและ หลักฐานอื่น ๆ ให้ถูกต้อง และขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนด้วย
.
เอกสารประกอบการดำเนินการ

1.) สำเนาทะเบียนบ้าน
2.) บัตรประจำตัวประชาชน
3.) ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (กรณีบุคคลต่างด้าว)

** ค่าธรรมเนียม : ฉบับละ 100 บาท

เมื่อได้นามสกุลใหม่อย่างที่เราต้องการแล้ว แน่นอนว่าบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงนามสกุลใหม่ของเราเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนนามสกุล แต่ที่นี้ยังมีเอกสารอื่น ๆ ที่เราต้องตามไปเปลี่ยนนามสกุลใหม่ เพื่อความสะดวกในการติดต่อส่วนราชการหรือเอกชน ทีนี้ลองมาดูกันว่ามีเอกสารอะไรบ้างที่ถือว่าสำคัญและจำเป็นที่ต้องตามไปเปลี่ยนนามสกุลใหม่ให้เรียบร้อย

เปลี่ยนนามสกุล โฉนดที่ดิน

หากเรามีชื่อเป็นเจ้าของอยู่ในโฉนดที่ดิน เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลก็จำเป็นต้องไปทำเรื่องให้เรียบร้อย โดยเอกสารที่ต้องเตรียมไปก็เป็นบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านตัวจริง พร้อมสำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อพร้อมสำเนาและโฉนดที่ดิน ไปติดต่อที่สำนักงานที่ดิน

เปลี่ยนนามสกุล ใบขับขี่

กรณีเป็นใบขับขี่แบบตลอดชีพที่คุณไม่ต้องไปติดต่อเพื่อต่ออายุใบใหม่อีกแล้ว สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานขนส่งพื้นที่ที่สะดวกได้เลย โดยเตรียมเอกสาร คือ ใบขับขี่ตัวจริง บัตรประชาชน ทะเบียนบ้านและใบเปลี่ยนชื่อ พร้อมสำเนา เจ้าหน้าที่ขนส่งจะออกใบขับขี่ใหม่ให้โดยที่เราไม่ต้องสอบใบขับขี่ใหม่ แต่จะมีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนตามที่ขนส่งกำหนดไว้

เปลี่ยนนามสกุล ประกันสังคม

ในฐานะผู้ประกันตน เมื่อมีการเปลี่ยนนามสกุล ควรการแจ้งเปลี่ยนนามสกุลที่ประกันสังคมด้วย เพื่อไม่ให้พลาดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยการติดต่อก็ให้ฝ่ายบุคคลช่วยจัดการเปลี่ยนให้ หรือหากต้องการติดต่อเองก็ให้กรอกเอกสาร สปส.6-10 พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้านและใบเปลี่ยนชื่อ ติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่

เปลี่ยนนามสกุล บัญชีธนาคาร

โดยปกติทุกธนาคาร หรือแม้แต่สถาบันการเงินต่าง ๆ ต้องยื่นเอกสารขอเปลี่ยนแปลงนามสกุลที่สาขาที่เราไปเปิดบัญชีไว้ เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลหลักในระบบทั้งหมด หากในกรณีที่คุณมีบัตรเครดิตของธนาคารนั้นด้วยให้ทำการยื่นเพื่อขอแก้ไขข้อมูลไปพร้อมกันได้เลย ทั้งนี้ บางธนาคารอาจมีการคิดค่าธรรมเนียม

เปลี่ยนนามสกุล บัตรเครดิต

เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลก็ควรตามเปลี่ยนแปลงข้อมูลในบัตรเครดิตด้วย โดยสามารถนำบัตรเครดิตใบเดิม พร้อมบัตรประชาชนใหม่และใบเปลี่ยนชื่อ ติดต่อที่ธนาคารเจ้าของบัตรได้ทุกสาขา ธนาคารจะทำการออกบัตรโดยเป็นเลขที่เดิม แต่หน้าบัตรเป็นชื่อใหม่ส่งไปรษณีย์ถึงบ้านให้หลังจากที่ติดต่อประมาณ 1 สัปดาห์ โดยธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมการออกบัตรใหม่ในกรณีของการเปลี่ยนชื่อด้วย

เปลี่ยนนามสกุล กรมธรรม์ประกัน

หากมีการทำประกันภัยไว้ ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันภัยทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มีชื่อเราเป็นผู้เอาประกันหรือเป็นเจ้าของกรมธรรม์ ควรทำเรื่องเปลี่ยนชื่อให้เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาที่มีเงินคืนหรือครบกำหนดชำระ หรือรับเงินชดเชยหรือผลประโยชน์ใดใดจากประกันจะได้ไม่ยุ่งยาก

เปลี่ยนนามสกุล ทะเบียนรถ (เจ้าของรถ)

การเปลี่ยนนามสกุลของเจ้าของรถ สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยให้ยื่นคำร้องเปลี่ยนนามสกุล พร้อมใบคู่มือจดทะเบียนรถ (สมุดเล่มน้ำเงิน ที่รถทุกคันจะต้องมี) บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล ณ สำนักงานที่รถนั้นจดทะเบียนอยู่ จังหวัดไหน ไปจังหวัดนั้น

นอกจากเอกสารที่ว่ามาข้างต้น ก็ยังมีเอกสารอีกมากมายที่ควรต้องตามไปเปลี่ยนนามสกุลให้เรียบร้อย เพื่อที่การติดต่อหรือการทำธุรกรรมในอนาคตจะเกิดความสะดวกและไม่ยุ่งยาก ส่วนหลักฐานการเปลี่ยนชื่อก็เป็นเอกสารสำคัญที่เราควรเก็บไว้ให้ดี เพราะอาจมีชื่อนามสกุลเก่าของเราไปปรากฏอยู่ในเอกสารราชการอื่น ๆ ที่จำไม่ได้ ถึงเวลานั้นต้องใช้ใบเปลี่ยนชื่อเป็นหลักฐานสำคัญ

เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ใครที่อยากเปลี่ยนนามสกุลก็ขอให้คิดถึงเรื่องนี้และเตรียมใจยอมรับไว้ล่วงหน้า เพราะต้องตามไปเปลี่ยนนามสกุลในเอกสารที่สำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา แต่บางคนก็ยอมเพราะบอกว่าคุ้มหากเปลี่ยนแล้วชีวิตจะดีขึ้น