ล่าสุดเคเอฟซีของเกาหลี ได้เกาะกระแสวัฒนธรรม “Chimaek” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจับมือกับผู้ผลิต “คราฟต์เบียร์” ท้องถิ่นของเกาหลีอย่าง “Kabrew” เพื่อพัฒนาและผลิตคราฟต์เบียร์ ภายใต้แบรนด์ KFC
พร้อมกับปล่อยแคมเปญโปรโมตผ่านสื่อโซเชี่ยลมีเดียของแบรนด์โดยมีใจความระบุเนื้อหาว่า ต่อไปนี้ คุณไม่ต้องเสียเวลาไปมินิมาร์ทเพื่อซื้อเบียร์ แล้วไปต่อร้าน KFC เพื่อซื้อไก่ทอดอีกต่อไปแล้ว เพราะต่อจากนี้ KFC มีทั้งไก่ทอดและเบียร์จำหน่ายพร้อมกันในที่เดียว
การขยายจากธุรกิจร้านไก่ทอด สู่ธุรกิจเบียร์ ไม่เพียงแต่รองรับวัฒนธรรมการดื่มเบียร์คู่ไก่ทอดเท่านั้น เพราะการเติบโตของ “ตลาดคราฟต์เบียร์” ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มผู้บริโภคเกาหลี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่มองหาประสบการณ์การดื่มแปลกใหม่ นับว่าเป็นตลาดที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก
.
.
.
.
ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ชาวเกาหลีหันไปดื่มเบียร์จากผู้ผลิตท้องถิ่นรายย่อย หรือคราฟต์เบียร์ ที่สามารถนำเสนอรสชาติที่แตกต่าง และหลากหลาย แทนที่การดื่มเบียร์ของผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีกำลังการผลิตแบบอุตสาหกรรมใหญ่
ซึ่งหากหันกลับมามองในประเทศไทย เมื่อปี 2559 ได้เกิดกระแสความต้องการที่จะผลิต “คราฟต์เบียร์สัญชาติไทย” ที่มีการเติมเเต่งวัตถุดิบอื่นๆ มาเป็นส่วนประกอบ เช่น สมุนไพร ผลไม้ กาแฟ ช็อกโกแลต เป็นต้น เพื่อให้ได้รสชาติที่แปลกใหม่และหลากหลายมากยิ่งขึ้นโดยคาดว่า จะเป็นที่นิยมของนักดื่มทั้งในประเทศและในต่างประเทศ
ดังจะเห็นได้จากการคว้ารางวัลเหรียญเงินจากการประกวด World Beer Award 2020 ของคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยยี่ห้อหนึ่งในเครือมหานคร แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจคราฟต์เบียร์ไทยทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่า 60 ราย ไม่สามารถผลิตและจำหน่ายคราฟต์เบียร์ในประเทศได้ จึงต้องไปผลิตที่ต่างประเทศ อาทิ ลาว เวียดนาม กัมพูชา ออสเตรเลีย แล้วจึงนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศของเราอีกต่อหนึ่ง
โดยหากเรามองในแง่ของกฏหมายที่นับเป็นข้อจำกัดใหญ่ อาจจะสืบเนื่องมาจากกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับอนุญาตทำสุราสำหรับโรงเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ ที่ผลิต (Brew Pub) ต้องมีขนาดกําลังการผลิตระหว่าง 100,000 – 1,000,000 ลิตร หรือคิดเป็นคราฟต์เบียร์บรรจุขวดขนาด 300 มิลลิลิตร ประมาณ 333,333 – 3,333,333 ขวดต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตที่มากและยากที่จะขาย ณ ที่ผลิตได้หมด
และหากต้องการผลิตเพื่อจำหน่ายนอกที่ผลิต จะต้องมีขนาดกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี หรือคิดเป็นคราฟต์เบียร์บรรจุขวดขนาด 300 มิลลิลิตร ไม่ต่ำกว่า 33 ล้านขวดต่อปี ซึ่งผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ขนาดเล็กไม่สามารถลงทุนสร้างโรงงานที่มีขนาดกำลังการผลิตระดับดังกล่าวได้ เนื่องจากจะต้องอาศัยเงินลงทุนสูงถึงร้อยล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้ที่จะยื่นขออนุญาตผลิตเบียร์ทุกรายจะต้องเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถดำเนินการผลิตคราฟต์เบียร์ในประเทศได้
ดังนั้น จึงจัดเก็บภาษีได้เฉพาะคราฟต์เบียร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งและค่าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเก็บรักษาความเย็นของเบียร์ระหว่างการขนส่ง ทำให้คราฟต์เบียร์ไทยมีราคาสูงและแข่งขันในตลาดได้ยากเมื่อเทียบกับเบียร์ที่ผลิตภายในประเทศ จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น
.
ขอบคุณที่มาข้อมูล : KFC Korea , fpojournal