GIT ยกทีมกูรูอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลก จัดเวทีการประชุมนานาชาติ ชี้เทรนด์อนาคต ตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายอัญมณี


GIT ชูจังหวัดจันทบุรี นครอัญมณีโลก จัดประชุมวิชาการนานาชาติ “Towards the Sustainable Gem Industry Beyond 2022” ระหว่างวันที่ 2 – 3 ก.พ. ดึงนักวิชาการและผู้ประกอบการคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมจากทั่วโลกกว่า 150 ราย ร่วมประชุมชี้เทรนด์อนาคต ย้ำนโยบายไทยดันอุตสาหกรรมเติบโตยั่งยืน

 

 

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT เปิดเผยว่า จากตัวเลขการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่จัดเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยตัวเลขการส่งออกรวมทองคำในรอบ 11 เดือน ( ม.ค. – พ.ย. 64) ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 9,215.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยจุดแข็งดังกล่าว รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญและมีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง หรือ Hub ในการผลิต การค้าอัญมณีและเครื่องประดับในระดับโลก
เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ในฐานะของการเป็นผู้นำ ด้านวิชาการอัญมณีและเครื่องประดับ กำหนดจัด การประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับ

ครั้งที่ 7 (The 7th International Gem & Jewelry Conference” (GIT 2021)) ระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2565 ณ โรงแรมมณีจันท์รีสอร์ท จังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการผลิตและปรับปรุงคุณภาพพลอยสีที่สำคัญที่สุดของประเทศ พร้อมกับการเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นในการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยการจัดงานครั้งนี้จะเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทั้งด้านการตรวจสอบ การออกแบบ และการตลาดรวมถึงวิเคราะห์ทิศทางอุตสาหกรรมอัญมณีโลกที่กำลังเกิดขึ้น ก่อให้เกิด การสร้างเครือข่ายระหว่างไทย และ ต่างชาติ เป็นการประชุมที่ก่อให้เกิดคุณค่าต่ออุตสาหกรรม และจะสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอัญมณีไทย

 

 

สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับในครั้งนี้ จะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Towards the Sustainable Gem Industry Beyond 2022” มีผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลกกว่า 150 ราย เข้าร่วมประชุม โดยมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการตรวจสอบ การออกแบบ และ การตลาด มีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ เทรนด์ของอุตสา-หกรรรมอัญมณีและเครื่องประดับในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) การศึกษาระบบสำแดงและการติดตามแหล่งที่มาของพลอยสีโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับโลกที่จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของตลาดโลก
ทั้งนี้ การประชุมวิชาการนานาชาติด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 7 ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ อาทิ

• Dr. Gaetano Cavalieri ; President of The World Jewellery Confederation (CIBJO)
“Progress of Sustainable Development in Global Gem and Jewelry Community”

• Ms. Iris Van Der Veken ; Executive Director, Responsible Jewellery Council (RJC)
“Responsible Sourcing & Product Disclosure: Key Requirements for New
Generation of Consumers

• Mr.Clement Sabbagh; President of International Colored Stones Association (ICA) “Future Prospects of Global Colored Stones Indestry after Covid-19” เป็นต้น

นอกจากนี้ สถาบัน ยังได้จัดกิจกรรมที่น่าสนใจควบคู่ไปกับงานครั้งนี้ด้วย โดยจัด งานประชุมวิชาการด้านพลอยสี หรือ Corundum Symposium ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการที่เน้นความสำคัญกับอัญมณีประเภทคอรันดัม ได้แก่ ทับทิม ไพลิน บุษราคัม และ แซฟไฟร์สีต่างๆ ซึ่งประเทศไทยจัดว่าเป็นผู้ส่งออกหลักของอัญมณีกลุ่มนี้

 

 

และการจัดแสดงผลงานประกวดสุดยอดพลอยสวย หรือ GIT’s Enchanting Ruby & Sapphire Awards ซึ่งเป็นพลอยในตระกูลของคอรันดัม เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าอัญมณีคุณภาพของประเทศไทย ตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลก ซึ่งมีพลอยที่เข้าร่วม การประกวดครั้งนี้มากถึง 50 เม็ด และแต่ละเม็ดถือเป็นสุดยอดพลอยที่หาชมได้ยากยิ่ง
นอกจากนี้ การจัดงาน GIT 2021 ยังได้จัดอยู่ในช่วงเดียวกับการจัด งานแสดงสินค้าพลอยและเครื่องประดับนานาชาติจันทบุรี 2021-2022 (International Chanthaburi Gems and jewelry Festival 2021 – 2022) ระหว่างวันที่ 3 – 7 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เคพี จิวเวลรี่ เซ็นเตอร์ และ บริเวณตลาดพลอย ถนนศรีจันทร์ ซึ่งภายในงานจะได้พบกับกิจกรรมมากมาย อาทิ การออกร้านจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับกว่า 300 คูหา และ บริการ GIT Mobile Lab เพื่อให้บริการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพอัญมณีอีกด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02 634 4999 ต่อ 452 – 455