จับเข่าคุยต้นแบบข้าราชการ นายยรรยงค์ หอมจิตต์ งานชลประทาน คือ งานที่ไม่อยู่สูงกว่าชาวบ้าน


บุคคลชลประทานฉบับนี้ จะไปทำความรู้จักกับ นายยรรยงค์ หอมจิตต์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานราชบุรี ผู้ชายที่มีความเชื่ออย่างง่ายๆ ว่า ไม่ว่างานจะยากแค่ไหน อุปสรรคจะสูงเท่าไหร่แต่ทุกอย่างจะเสร็จแน่นอน ขอให้มีความพยายาม ซึ่งสิ่งนั้นตนเองได้พิสูจน์มาหมดแล้วผ่านผลงานสำคัญต่างๆ ที่ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น

 

 

นายยรรยงค์ เล่าว่า พื้นเพเดิมเขาเป็นคนจากเมืองขนมหวาน จังหวัดเพชรบุรี จบการเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นได้กำหนดเส้นทางการศึกษาของตนเองไว้ 2 เส้นทาง 1 คือการสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง เพื่อจบมาทำงานในบริษัทเอกชนและ 2 คือการสอบเข้าวิทยาลัยการชลประทาน มุ่งสู่การเป็นข้าราชการทำงานรับใช้ประชาชน
“ผมวางแผนชีวิตไว้ 2 ทาง ในทางหนึ่งสอบเอนทรานซ์ และอีกทางก็ไปสอบเข้าที่วิทยาลัยการชลประทาน ผมสอบเอนทรานซ์ติดด้วยนะ แต่ก็เลือกที่จะสละสิทธิ์การเข้ามหาวิทยาลัย เพราะเส้นแบ่งระหว่างการตัดสินใจสุดท้ายคิดว่าการเป็นข้าราชการนั้นมั่นคงและความรู้ที่มีนั้นก็สามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนเป็นวงกว้างได้มากกว่า โดยผมเป็นนิสิตวิทยาลัยการชลประทานรุ่นที่ 53 ชื่อฉายาคือบี้ 53 เพราะหน้าไปคล้ายรุ่นพี่ รุ่น 49 ท่านหนึ่ง”

 

 

พ.ศ.2544 ภายหลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยการชลประทาน ยรรยงค์ ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตามที่วางเส้นทางไว้ บรรจุครั้งแรกที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานชลประทานที่ 12 เมื่อวันที่ 20มิถุนายน พ.ศ. 2544 ในตำแหน่งวิศวกรชลประทาน 3 กระทั่ง พ.ศ. 2557 ก็ได้ย้ายมาปฏิบัติงานที่โครงการชลประทานราชบุรี สำนักงานชลประทานที่ 13 จนถึงปัจจุบัน
“การทำงานที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่กับสำนักชลประทานที่ 12 ภารกิจหลักของผม คือ หน้าที่พิจารณาโครงการเบื้องต้น ประมาณการต้นทุนโครงการ และกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของงาน ซึ่งเป็นงานพื้นฐานที่วิศวกรชลประทานต้องศึกษา เรียนรู้และปฏิบัติ”
พ.ศ. 2557 เมื่อได้ย้ายมารับราชการที่โครงการชลประทานราชบุรี ยรรยงค์ บอกว่า เขาชอบที่นี่มาก มีความสุขกับการทำงานทุกอย่าง ได้รับโอกาสและได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญมากมายจากผู้อำนวยการโครงการชลประทานราชบุรีทุกท่าน หนึ่งในนั้นคือ ผลงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ น้ำตกเก้าชั้นเป็นการก่อสร้างฝายทดน้ำพร้อมระบบส่งน้ำที่ด้านล่างของน้ำตกเก้าชั้นอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
“ผมภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งโครงการ เนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์กับการควบคุมงานก่อสร้างฝายทดน้ำมาก่อน พอย้ายมาก็ได้ทำงานตามที่เรียนรู้ได้ใช้ความรู้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่การคิดงานถอดแบบวัสดุที่ต้องใช้ กำหนดค่าแรงค่าวัสดุ รวมถึงเป็นคนควบคุมดูแลเองทั้งหมด โดยใช้เวลากว่า 8 เดือนโครงการก็แล้วเสร็จ ประโยชน์ก็ส่งไปถึงชาวบ้านจากเดิมที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาแต่ประปาภูเขา แต่เมื่อมีฝายทดน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ ฝายก็จะสามารถทดน้ำที่ไหลลงมาจากน้ำตก ทำให้สามารถมีแหล่งน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรทั้งปี
ยรรยงค์บอกอีกว่า ภารกิจสำคัญที่เขาได้รับมอบหมายนั้นยังมีอีกมากแต่อีกหนึ่งผลงานที่ต้องกล่าวถึง คือการควบคุมงานปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยท่าเคยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี

 

 

“ผลงานชิ้นนี้ เป็นภารกิจ การก่อสร้างท่อส่งน้ำสายซอยเป็นลักษณะก้างปลา และมีหัวจ่ายให้ชาวบ้านนำท่อPVC มาต่อไปยังพื้นที่ของตัวเอง เป็นการขยายพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของน้ำต้นทุนที่มี”

 

 

ปัจจุบันยรรยงค์อายุ 43 ปี เขายังคงมีไฟกับการทำงาน สนุกกับงาน และเหนือสิ่งอื่นใดชีวิตราชการในอีก 17 ปี ข้างหน้าซึ่งเขาไม่เคยคิดวางแผนไว้เลยว่าจะต้องมีตำแหน่งก้าวสูงขึ้นยังไง แต่คิดอยู่เสมอว่าทำสิ่งใดแล้วเป็นประโยชน์กับชาวบ้านได้ก็จะทำ โดยยึดหลักการทำงานที่เข้าใจง่าย ซื่อตรง คือ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

“สำหรับเรื่องงาน ผมมีความเชื่อว่าอุปสรรคจะทำให้เราลำบาก ท้อแท้ใจแต่มนุษย์สามารถพังทลายอุปสรรคได้ด้วยความพยายาม ความพยายามที่ว่านี้คือ ซึมซับความรู้จากรุ่นพี่ หรือเจ้านาย สิ่งไหนดีนำมาใช้และปรับใช้อย่างรอบคอบ และเราจะสามารถประสบความสำเร็จได้ในทุกภารกิจ”

 

 

การได้รับโอกาสรับราชการเป็นข้าราชการนั้น ผมต้องยึดหลักประจำใจระลึกเสมอว่าเป็นงานที่มีเกียรติเกียรตินั้นคือความภาคภูมิใจ สำคัญที่สุดต้องไม่คิดว่าเราอยู่สูงกว่าชาวบ้านเราต่างหากที่ต้องทำงานรับใช้ชาวบ้าน ชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือสิ่งใด หากสามารถทำได้ก็ต้องทำ ทำไม่ได้ต้องบอกตามตรงและพยายามหาทางอื่นช่วยเหลือ นี่แหละคือเกียรติของคำว่า “ข้าราชการ”