นักวิจัย มทร. นำสาหร่ายเตา ผลผลิตตามธรรมชาติมาผลิตเป็นอาหารสัตว์น้ำ ช่วยสิ่งแวดล้อม


สาหร่ายเตาเป็นผลผลิตพลอยได้จากการบำบัดคุณภาพน้ำในการเลี้ยงปลานิล ซึ่งเป็นสาหร่ายที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยโปรตีน 18.63% ไขมัน 5.21% คาร์โบไฮเดรต 56.31% เส้นใย 7.66% เถ้า 11.78% แร่ธาตุและวิตามิน นอกจากนี้ยังพบกลุ่มสารประกอบฟีโนลิกที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระปริมาณสูง ดังนั้นการศึกษานี้จึงเป็นการศึกษาการประยุกต์ใช้สาหร่ายเตา เพื่อเป็นแหล่งอาหารปลานิล และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสาหร่ายเตาต่อการพัฒนาเป็นแหล่งอาหารและส่วนผสมของอาหารสำหรับเลี้ยงปลาและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เลี้ยงปลาชนิดอื่น ๆ ในอนาคต โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
.
อ.ดร.คณาธิป คำเพราะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร และเทคโนโลยี คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก กล่าวถึงการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากสาหร่ายเตาร่วมกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ว่า สาหร่ายนับเป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำมาผสมในอาหารปลา เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยมีลักษณะเป็นเส้นสาย มีสีเขียวอ่อน ถึงสีเขียวเข้ม โดยพบในบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป ซึ่งชาวบ้านในแถบพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมนำมารับประทานเป็นอาหาร เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ดังนั้นผู้วิจัย จึงเห็นว่าการนำสาหร่ายเตาซึ่งมีในท้องถิ่น และหาได้ง่าย นำมาเพาะเลี้ยงร่วมกับการเลี้ยงปลาน้ำจืด เพื่อช่วยบำบัดของเสียในรูปสารประกอบอนินทรีย์ไนโตรเจน และฟอสฟอรัสภายในบ่อเลี้ยงปลา สามารถเป็นแนวทางหนึ่งในการควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงให้เหมาะสมต่อการเลี้ยงและยังช่วยรักษาสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
.
ทั้งนี้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มได้ เช่น การนำมาเป็นวัตถุดิบส่วนผสมในอาหารปลา เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งต้องคำนึงถึงระดับที่เหมาะสมของสาหร่ายเตาในอาหารปลานิลต่อการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการใช้อาหารของปลา เพื่อเป็นแนวทางในการนำสาหร่ายเตามาเป็นส่วนผสมในสูตรอาหารปลานิล และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เลี้ยงปลาชนิดอื่น ๆ ในอนาคตได้
.
สำหรับขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบนำสาหร่ายเตามาล้างทำความสะอาด จากนั้นอบให้แห้งที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ประมาณ 24 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะได้ความชื้นร้อยละ 10 นำตัวอย่างไปบด ร่อนผ่านตะแกรง และวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ ปริมาณโปรตีน ปริมาณไขมัน ปริมาณความชื้น ปริมาณเถ้า ปริมาณเยื่อใย ปริมาณคาร์โบไฮเดรต ตามมาตรฐาน AOAC โดยนำตัวอย่างสาหร่ายเตาอบแห้งสกัดด้วยใช้ตัวทำละลาย 7 ชนิด ได้แก่ เอทานอล เมทานอล อะซิโตน เฮกเซน และน้ำกลั่น เพื่อศึกษาปริมาณสารอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ โดยเลือกตัวทำละลายเฉพาะ ที่สามารถสกัดสารต้านอนุมูลอิสระได้มากที่สุด จากนั้นเมื่อสกัดออกมาจะเป็นน้ำ ก็นำมาผสมกับอาหารปลา และอัดเม็ดขึ้นมา
.
ทั้งนี้ ผลจากการศึกษาและได้ทำการทดลองในครั้งนี้ พบว่า การเสริมสารสกัดจากสาหร่ายเตาในอาหารสำหรับเลี้ยงปลานิล เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ ช่วยเพิ่มอัตราการรอดตายของปลานิล โดยเฉพาะในปลานิลชุดการทดลองที่ได้รับอาหารเสริมสารสกัดสาหร่าย 15% มีน้ำหนักตัว ความยาว ที่เพิ่มขึ้น อัตราการเจริญเติบโตต่อวัน และอัตราการเจริญเติบโตจำเพาะมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับชุดการทดลองอื่น ๆ ส่วนในด้านของการสะสมสารต้านอนุมูลอิสระ พบว่า ชุดการทดลองที่อาหารได้เสริมสารสกัดสาหร่ายเตา 15% มีสารต้านอนุมูลอิสระสะสมในปลามากที่สุด
.
“ผลการศึกษาดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า สาหร่ายเตามีประสิทธิภาพในการใช้เป็นอาหารเสริมในปลา ช่วยส่งเสริมอัตราการเจริญเติบโต อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงปลาได้ โดยควรเสริมสารสกัดสาหร่ายเตาร้อยละ 15 ในอาหารปลาวัยอ่อนหรือช่วงอนุบาลลูกปลา เพื่อไปเพิ่มอัตราการรอดตาย และช่วยในการเจริญเติบโต ส่วนในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลา ที่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง”
.
อ.ดร.คณาธิป กล่าวด้วยว่า สาหร่ายเตายังสามารถกำจัดไนโตรเจนกับฟอสฟอรัสในระบบการเลี้ยงปลานิลได้ด้วย เนื่องจากการเลี้ยงปลาในพื้นที่จำกัดในอัตราความหนาแน่นที่มากกว่าสภาพในธรรมชาติทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำอยู่ตลอดเวลาในช่วงระยะเวลาการเลี้ยงจึงต้องมีการดูแลและจัดการ เพื่อคงคุณภาพน้ำไว้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการการเลี้ยงปลาในเชิงของธุรกิจ จะเน้นเลี้ยงในปริมาณที่มีหนาแน่นสูง จึงทำให้มีปริมาณการขับของเสียในรูปของไนโตรเจนมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการเผาผลาญโปรตีนที่ได้จากอาหาร โดยปลาจะขับถ่ายของเสียในรูปของไนโตรเจนออกมาประมาณร้อยละ 60-80 ในรูปของแอมโมเนีย และไนไตรท์
.
โดยจากเก็บข้อมูลทางด้านของลักษณะทางกายภาพของบ่อเลี้ยงปลานิล เป็นเวลา 30 วันพบว่า สารประกอบไนโตรเจนและฟอสฟอรัสส่วนใหญ่ ที่เข้าสู่ระบบการเลี้ยงมาจากอาหารปลา ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50-52 ของสารประกอบไนโตรเจน และร้อยละ 58-60 ของสารประกอบฟอสฟอรัสทั้งหมด สำหรับในวันสุดท้ายของการทดลองพบว่า สารประกอบไนโตรเจนและฟอสฟอรัสคงเหลืออยู่ในน้ำ คิดเป็นร้อยละ 12-32 ของสารประกอบไนโตรเจน และร้อยละ 32-36 ของสารประกอบฟอสฟอรัส เมื่อเทียบกับปริมาณธาตุอาหารที่เข้าสู่ระบบการเลี้ยง