เฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ข้าราชการพลเรือน ดีเด่นระดับประเทศ ผู้ยืนหยัดทำงานในพื้นที่ : 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


บุคคลชลประทาน จะพาไปที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อทำความรู้จักกับ นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 17 ผู้ชายที่เลือกจะเดินหนีจาก เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่แสนสะดวกสบาย กลับมุ่งมาเพื่อพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน สร้างความสุขในชีวิต การทำงานให้กับตนเองในฐานะข้าราชการกรมชลประทาน รับใช้ประชาชน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สำนึกรักบ้านเกิด

นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ เล่าถึงพื้นเพเดิมของตนเองว่า เขาเติบโตมาในจังหวัดนราธิวาส โดยมีคุณพ่อรับราชการตำรวจ และคุณแม่ประกอบอาชีพแม่บ้านและค้าขาย ด้านการศึกษา เรียนจบระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.5) ที่จังหวัดนราธิวาส มุ่งหน้าเข้าศึกษาในระดับอนุปริญญาทที่ โรงเรียนการชลประทาน (ในสมัยนั้น) และศึกษาต่อในระดับ ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมชลประทาน) วิทยาลัยการชลประทาน สถาบันสมทบมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขา พัฒนาสังคม) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“ผมเข้าศึกษาที่โรงเรียนการชลประทาน เมื่อ พ.ศ. 2526 เป็นนักเรียนช่างชลประทาน รุ่น 39 เหตุผลที่เลือกมาเรียน ที่นี่ โดยพื้นฐานชอบงานทางด้านช่างอยู่แล้ว ซึ่งภายหลังจบการศึกษาจากโรงเรียนการชลประทาน ผมได้เข้ารับราชการ และเลือกมาบรรจุในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อมาพัฒนาบ้านเกิดของผมเอง คือ จังหวัดนราธิวาส รวมถึงจังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา”

 

 

ภารกิจแรกในฐานะข้าราชการชลประทาน

เฉลิมชัย เล่าว่า เขาได้เริ่มรับราชการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2530 ในตำแหน่งนายช่างชลประทาน 2 สังกัดโครงการ ชลประทานนราธิวาส ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้า หน่วยส่งน้ำและบำรุงรักษาที่โครงการอ่างเก็บน้ำใกล้บ้าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รับผิดชอบในการประสานงาน บูรณาการการบริหารจัดการน้ำและส่งน้ำสนับสนุนกิจกรรม ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ และส่งเสริมสนับสนุนการทำการเกษตรในพื้นที่โดยรอบโครงการ

กราฟที่ชี้ขึ้น

ด้วยความมุมานะและมุ่งมั่นตั้งใจทำงานจาก นายช่างชั้นผู้น้อย กราฟชีวิตการทำงานของเฉลิมชัย ได้เริ่มขึ้น เขาผ่านอุปสรรคการทำงานมากมาย ได้รับการจับตามองจากผู้บริหารกรมชลประทาน ให้ดำรงตำแหน่ง สำคัญๆ เช่น หัวหน้าโครงการปฏิบัติการคันคูน้ำที่ 17 ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโก-ลก ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนราธิวาส ผู้อำนวยการโครงการชลประทานยะลา และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17

 

 

สนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม และน้ำเปรี้ยว ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และ จังหวัดใกล้เคียง
“ผมในฐานะที่ได้ร่วมปฏิบัติราชการสนองงานตามพระราชดำริของพระองค์ และมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็น ข้าราชการเป็นข้าของแผ่นดินผู้จงรักภักดี จึงได้ทำการศึกษาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัด นราธิวาส ระหว่าง พ.ศ. 2517-2547 รวม 30 ปี โดยน้ำผล การศึกษามาประยุกต์ใช้เรียกว่า การบริหารจัดการน้ำ 4 น้ำ 3 รส ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สร้างประโยชน์ การป้องกันน้ำเค็มไม่ให้ไหลเข้าไปทำความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูก การควบคุมระดับน้ำ และการส่งน้ำเพื่อป้องกัน การแพร่กระจายของดินเปรี้ยวและน้ำเปรี้ยว โดยใช้น้ำจืดไปเจือจางดินเปรียวเพื่อปรับปรุงคุณภาพดิน”

นอกเหนือจากผลงานแห่งความภาคภูมิใจข้างต้นแล้ว เฉลิมชัย ยังได้เคยมีส่วนร่วมในโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ คลองเบตง จังหวัดยะลา เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล “โครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และสนับสนุนเมืองต้นแบบ” หากดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถเก็บกักน้ำได้ 11.6 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตเทศบาลเมืองเบตงและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งจะส่งน้ำ เพื่อผลิตน้ำประปาได้ถึงเดือนละ 0.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ตลอดจนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ และระบายน้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศได้อีกด้วย

 

 

สู่เกียรติยศ ข้าราชการพลเรือนดีเด่นระดับประเทศ

ตลอดระยะเวลาในการรับราชการมากว่า 34 ปีของเฉลิมชัย เขามุ่งมั่น ตั้งใจ ขยันหมั่นเพียร รับผิดชอบ มุมานะในการปฏิบัติงาน ให้ประสบความสำเร็จเสมอมา

“ผมยึดถือคติที่ว่าการทำงานนั้นเราจะต้อง “คิดดี ปฏิบัติดี ยุติธรรม จริงใจ” ทำงานภายใต้กรอบของระเบียบกฎหมาย ซึ่งการที่ผมได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น กรมชลประทาน ประจำปี 2564 และระดับประเทศ นั้น ถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติสูงสุดของคนรับราชการ การได้รับรางวัลในครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ผมปฏิบัติงาน ต่อไปอย่างเต็มกําลังความสามารถให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่าง ที่ดีให้กับน้องๆ รุ่นหลัง

วันนี้ เฉลิมชัย ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้ต้องปฏิบัติงาน ในพื้นที่เสี่ยงภัย แต่ฐานะข้าราชการคนหนึ่งการทำงานนั้น จะต้องมุ่งมั่นตั้งใจ มีความเสียสละ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีคุณธรรม และจริยธรรม เพราะอาชีพข้าราชการถือเป็นอาชีพ ที่มีเกียรติ เกียรติที่ได้ดูแลรับใช้ประชาชน ดังนั้นเขาจึงมุ่งมั่น ในการปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกําลังความสามารถ เพื่อช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดี มีความสุข นั่นจึงจะถือว่า บรรลุในความเป็นข้าราชการที่ดี ได้อย่างสมเกียรติภูมิ