“สคช. มุ่งเป้า! จับมือสมาคมโรงแรมไทย สร้างมืออาชีพ พัฒนากำลังคนในสถานประกอบการด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ ต่อยอดสร้างไทยเป็น Wellness Destination”


 

นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ หารือความร่วมมือ กับคุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมเครือสุโกศล คุณสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คุณกิตติ พรศิวะกิจ ประธานอนุกรรมการ Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และคณะ เพื่อร่วมกันวางแนวทางการพัฒนากำลังคนในกลุ่มโรงแรมด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนผู้ประกอบอาชีพในโรงแรมที่เป็นสมาชิกสมาคมโรงแรมไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อการยกระดับกำลังคนในสถานประกอบการให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวผู้ใช้บริการมีความเชื่อมั่นในความสามารถของพนักงานโรงแรมที่มีความสามารถในการทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ โดยมีแนวทางความร่วมมือการพัฒนากำลังคนในสถานประกอบการโรงแรม ผ่านการพัฒนาสมรรถนะการทำงานของบุคลากรในโรงแรมไทยที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่ความเป็นมืออาชีพ (Upskill for MSME Hotel Workforce) และการยอมรับกระบวนการพัฒนาบุคลากรของโรงแรมที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อรับรองคุณวุฒิวิชาชีพให้แก่บุคลากรในสถานประกอบการ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและยกระดับคุณวุฒิให้ผู้ประกอบอาชีพในโรงแรมไทยด้วยคุณวุฒิวิชาชีพที่สามารถเทียบเท่าคุณวุฒิทางการศึกษาได้ ภายใต้แนวทางการเชื่อมโยงด้วยกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) สามารถนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบอาชีพในภาคโรงแรม ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญและสร้างรายได้ให้ประเทศมาโดยตลอด

 

 

จากการหารือแนวทางความร่วมมือ ในระยะเริ่มต้นจะมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนในโรงแรมที่เป็น SMEs ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศที่เป็นเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น พัทยา หัวหิน เป็นต้น รวมถึงการยกระดับคุณวุฒิของแรงงานต่างชาติที่ทำงานในโรงแรมไทย ที่เป็นผู้ใช้แรงงานที่ได้สั่งสมทักษะ ความสามารถในการทำงานจากการทำงานจริง ขาดโอกาสทางการศึกษา ได้เข้าถึงการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ภายใต้โครงการ PROMISE ภายใต้การสนับสนุนขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) อีกด้วย พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงแรมที่ได้มีการพัฒนาบุคลากรในโรงแรมให้เข้าถึงคุณวุฒิวิชาชีพ ได้เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนที่สถาบันฯ มีความร่วมมือ เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคาร SME D Bank เป็นต้น

 

 

นอกจากนี้ ได้หารือถึงแนวทางการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการโรงแรมไทยให้สามารถปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ และโครงสร้างเศรษฐกิจที่ปรับเปลี่ยนไปภายหลังสถานการณ์โควิท-19 (Post-Pandemic Economy) โดยเฉพาะการสร้างจุดเด่นของโรงแรมไทยด้วยการให้บริการ Wellness Services ที่มีมาตรฐานสากลรองรับ เช่น การพัฒนา Wellness Spa หรือ Wellness Cuisine หรือ Wellness Fitness เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่เป็นกลุ่ม Wellness Traveler ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้มีความร่วมมือกับ Global Healthcare Accreditation ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้มีความสามารถในการให้บริการ wellness travel trends ได้ ซึ่งสถาบันฯ สามารถบูรณาการความร่วมมือดังกล่าวเพื่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการโรงแรมไทยได้สร้างจุดเด่นในการให้บริการ ให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Wellness Destinations ของโลกได้อย่างมีมาตรฐานสากลอีกด้วย