เกิดอะไรขึ้นกับ Shopee เมื่อธุรกิจถึงเวลารัดเข็มขัด ปลดพนักงานระนาว


หากพูดถึงวงการ E-marketplace ชั่วโมงนี้ต้องยกให้กับแพลตฟอร์มอย่าง Shopee ที่ล่าสุดมีการปรับโครงสร้างธุรกิจอีกครั้งในประเทศไทยด้วยการปรับลดพนักงานคิดเป็น 10% (ประมาณ 100-300 คน)

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงวันที่ 26 กันยายน 65 จากการประชุม Townhall ที่มีการประกาศเรื่องนี้กับพนักงานว่าจะมีการลดจำนวนพนักงานลง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Shopee ประเทศไทยปลดพนักงาน เพราะย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน เหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว โดยตอนนั้นเป็นการปลดพนักงานที่อยู่ในส่วนของ Shopee Food และ Shopee Pay

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น Sea ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Shopee ก็ได้ปรับแผนธุรกิจ ทั้งยุติการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซใน 4 ประเทศลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น ชิลี, โคลอมเบีย, เม็กซิโก และอาร์เจนตินา แน่นอนว่าเหตุผลของการปลดพนักงานมาจากการที่ธุรกิจต้องรัดเข็มขัดอย่างเต็มที่เพื่อให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่ง และเติบโตในระยะยาว

เมื่อดูผลประกอบการบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด (อ้างอิงจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) จะพบว่าในช่วง 3 ปีหลัง ธุรกิจยังขาดทุนอยู่

-ปี 2562 รายได้รวม 1,986 ล้านบาท ขาดทุน 4.7 ล้านบาท
-ปี 2563 รายได้รวม 5,813 ล้านบาท ขาดทุน 4.1 ล้านบาท
-ปี 2564 รายได้รวม 13,322 ล้านบาท ขาดทุน 5.0 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าการเติบโตในส่วนของรายได้รวมของธุรกิจมีอัตราการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อหักต้นทุน ค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ แล้ว พบว่าธุรกิจยังคงขาดทุนอยู่

หากไปดูผลประกอบการของ Sea Group ที่เปิดเผยผลประกอบการในไตรมาสที่ 2/2565 ปรากฏว่ารายได้ภาพรวมยังเติบโต 29% แต่ขาดทุน 931 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 33,000 ล้านบาท)
ตอบคำถามที่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ Shopee เราต้องไม่ลืมว่าโมเดลธุรกิจการทำ E-marketplace คือยอมเจ็บในวันนี้เพื่อการเติบโตระยะยาว ดังนั้น จึงเป็นที่มาว่าทำอย่างไรให้คนเข้ามารวมกลุ่มซื้อ-ขายสินค้า บนแพลตฟอร์มให้มากที่สุด โดยสิ่งที่จูงใจคือการให้ Code ลด แลก แจก แถม หรือการจัดโปรโมชันในแต่ละเดือน เช่นเดียวกับบริษัทผู้บริหารแพลตฟอร์มก็ต้องหาเงินเข้ามาทดแทน เช่น การระดมทุน เพื่อให้เติมเงินเข้ามา เพื่อมุ่งผลระยะยาวที่ถูกคาดการณ์ว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อีกอย่างเราต้องไม่ลืมว่า Shopee ไม่ได้มีแค่ E-marketplace เท่านั้น แต่ยังมีบริการอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาที่มาจากข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อสินค้า เช่น Shopee Pay, Shopee Express เป็นต้น การแตกไลน์ธุรกิจก็เพื่อกระจายความเสี่ยง หากธุรกิจนี้ขาดทุน ยังมีธุรกิจอื่นที่ทำกำไร และเป้าหมายสูงที่สุดคือการเป็นแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้เข้ามาใช้บริการได้แบบครบวงจร

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Sea Group ไม่สามารถทำแบบเดิมได้ในเรื่องของการเติมเงินเผาไปเรื่อย ๆ ตามกลยุทธ์ เนื่องจากการเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกา ซึ่งผู้ถือหุ้น นักลงทุน อาจไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ ทำให้ต้องปรับลดพนักงานหลายประเทศในที่สุด