การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เราได้ยินมานานหลายปี และได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นธุรกิจ และกลายเป็น “มูลค่าการค้าคาร์บอนเครดิต” ที่หลายหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ความสนใจมาก
โดยแอดมิน จะขออธิบายให้เพื่อน ๆ เข้าใจง่าย ๆ ผ่านตัวอย่างนี้ โดยสมมติว่า..
นาย A มีพื้นที่เก็บข้อมูลในอีเมล 15 GB แต่นาย A ใช้เก็บข้อมูลไปเพียง 5 GB เหลือพื้นที่อีกตั้ง 10 GB
นาย B รู้เข้า.. จึงขอซื้อพื้นที่เก็บข้อมูล 10 GB จากนาย A เพื่อนำมาใช้ต่อในการเก็บข้อมูลและใช้ประโยชน์ของตนเอง เป็นต้น
(ตัวอย่างอาจไม่เกี่ยวกัน แต่เพื่อเปรียบเทียบง่าย ๆ ให้เพื่อน ๆ ลองนึกภาพและจินตนาการตาม)
สำหรับความเป็นมาที่ต้องมีการ การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ก็เพราะ โลกเราร้อนขึ้นทุกวัน ๆ จากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ (ก็เกิดจากมนุษย์นั่นเอง) ทำให้เกิดสภาวะก๊าซเรือนกระจก สะท้อนกลับมาจนเกิดเป็นภาวะโลกร้อนนั่นเอง
ปัญหานี้ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกตระหนัก จึงเป็นจุดเริ่มต้นการที่หลายประเทศทั่วโลกได้เข้าร่วมพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) โดยสรุปได้ว่า ได้มีการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้สำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ซึ่งในข้อตกลงนี้ ได้มีการกำหนด หลักการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) และอนุญาตให้ผู้ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลือให้แก่ผู้อื่นได้ หรือที่เรียกกันว่า “คาร์บอนเครดิต”
ดังนั้น คำนิยามของ “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) จึงหมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การปลูกป่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน ฯลฯ ซึ่งมีหน่วยเป็น “ตันคาร์บอนไดออกไซด์”
ซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต เขาทำกันอย่างไร?
ขอยกตัวอย่าง ตลาดการซื้อขายคาร์บอน ในประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) ถูกจัดตั้งขึ้นจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย มีกฎหมายและกฎระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายกำกับอย่างชัดเจน ซึ่งภาครัฐหรือหน่วยงานกำกับเป็นผู้ดูแลและบังคับด้วยกฎหมาย
หากผู้ใดสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็สามารถนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกในส่วนที่ปล่อยต่ำกว่าเกณฑ์ไปขายให้กับองค์กรอื่น ๆ ได้ หรือที่รู้จักกันในนาม Emission Trading Scheme (ETS) และระบบ Cap and Trade
2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมก๊าซเรือนกระจกมาบังคับการจัดตั้งตลาดเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการ หรือองค์กรเพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดด้วยความสมัครใจ
คาร์บอนเครดิต ที่ได้จากโครงการดังกล่าวสามารถนำมาขายในตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจได้ และองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมเกินกว่าปริมาณที่กำหนด สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตดังกล่าวเพื่อทำให้ตนเองได้รับสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมอีกครั้ง ในปริมาณที่ไม่เกินกว่าปริมาณที่กำหนด
ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทย ที่พุ่งสูงขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
การซื้อขายคาร์บอนเครดิต เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี
• โดยในปี พ.ศ.2559 มีมูลค่าการซื้อขายเพียง 846,000 บาท
• และเพิ่มขึ้นเป็น 124,762,420 บาท ในปี พ.ศ.2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 147 เท่า ในช่วงที่ผ่านมา
• โดยราคาคาร์บอนเฉลี่ยต่อตัน มีราคาเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 149.97 บาทต่อตัน (พ.ศ.2559) ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยต่อตันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ.2561-2564) โดยล่าสุดราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 34.34 บาทต่อตัน
• ปัจจุบัน (ปี พ.ศ.2565) ราคาคาร์บอนเครดิต ได้ขยับตัวขึ้นสูงไปถึง 120 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และคาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ
• จากข้อมูล โดยกรมพัฒนาธุรกิจ (เมื่อวันที่ 20 พ.ค.65) ระบุว่า มีการจดทะเบียนในหลายหน่วยงาน หลายองค์กรธุรกิจของประเทศไทย ที่นำต้นไม้มาเป็นหลักประกันทั้งสิ้นกว่า 146,282 ต้น คิดเป็นจำนวนเงินค้ำประกัน 137,117,712 บาท
ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่า ใครก็ได้ ที่จะปลูกต้นไม้ แล้วเอามาขายเป็นคาร์บอนเครดิต ให้คนที่ต้องการซื้อ เพราะมันมีกฎกติกา, เกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาตรวจสอบทั้งผู้ขายและผู้ซื้อตามมาตรฐานที่ระบุไว้ ดังนี้
• อันดับแรก โดยคนทั่วไทย หรือภาคเอกชน ที่สนใจสามารถติดต่อขอคำแนะนำได้ที่ www.tgo.or.th
• เพียงแค่มีที่ดินปลูกต้นไม้ ก็สามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้แล้ว โดยการประเมินปริมาณคาร์บอนเครดิตที่สามารถซื้อขายได้ จะประเมินโดย “องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก” หรือ อบก.
• ผู้ประสงค์ขายคาร์บอนเครดิต ต้องมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ประเภทไม้ยืนต้นตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป
• ผู้ประสงค์ขายคาร์บอนเครดิต ต้องมีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
• มีความรู้ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนและจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ
• มีเงินในการจ้างผู้ประเมินภายนอกมาตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก
อีกหนึ่งคำถามที่ ยังคาใจหลายคน คือ ถ้าคนทั่วไปที่ไม่มีที่ดินปลูกต้นไม้ แต่อยากรวมตัวหลาย ๆ คน หรือรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ได้ไหม ? เพราะเกษตรกรบางรายมีที่ดินไม่ถึง 10 ไร่ ?
• คำตอบ คือ สามารถทำได้ โดย สามารถทำโครงการ T-VER (โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย) ในรูปแบบของ โครงการแบบแผนงาน (Programme of Activities) โดยมีโครงการย่อยที่มีที่ตั้งหลายแห่งได้ แต่ประเภทโครงการต้องเหมือนกัน ใช้ระเบียบวิธีการ (Methodology) เดียวกัน
• โดยระยะเวลาในการคิดเครดิตของโครงการย่อยเริ่มและจบไม่เหมือนกันก็ได้ แต่ที่สำคัญ ต้องมีหน่วยงานกลางที่จัดทำข้อเสนอโครงการ T-VER แบบแผนงาน รวบรวมข้อมูลทั้งหมดของโครงการย่อยเพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการย่อยของแต่ละกลุ่มแยกกัน
• หรือจะทำแบบควบรวม โดยเป็นโครงการที่มีที่ตั้งหลายแห่ง โดยทุกโครงการย่อยเป็นประเภทโครงการเดียวกัน ใช้ระเบียบวิธีการ (Methodology) เดียวกัน แต่ในส่วนของระยะเวลาคิดเครดิตของทุกแห่ง ต้องเริ่มพร้อมกันและจบพร้อมกัน และมีหน่วยงานกลางที่รวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอโครงการเล่มเดียว
สรุปคือ รวมตัว รวมกลุ่มกันได้ ให้มีพื้นที่ปลูกต้นไม้รวม 10 ไร่ขึ้นไป จากนั้นจัดทำแผนโครงกานเพื่อยื่นแบบแผนงานให้ “องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก” ตรวจสอบ (หรือติดต่อสอบถาม ขอคำแนะนำได้ที่ www.tgo.or.th)
ส่องต้นไม้ 58 ชนิด ปลูกไว้ขายคาร์บอนเครดิต
ปิดท้าย ด้วยรายชื่อ “ไม้ยืนต้น” ที่สามารถเป็นหลักประกัน ปลูกเพื่อขายคาร์บอนเครดิตได้ มีอยู่ 58 ชนิด นำมาฝากเพื่อน ๆ ได้แก่
ตะเคียนทอง, ตะเคียนหิน, ตะเคียนชันตาแมว, ไม้สกุลยาง (ไม่รวมยางพารา), สะเดา, สะเดาเทียม, ตะกู, ยมหิน, ยมหอม, นางพญาเสือโคร่ง, นนทรี, สัตบรรณตีนเป็ดทะเล, พฤกษ์, ปีบ, ตะแบกนา, เสลา, อินทนิลน้ำ, ตะแบกเลือด, นากบุด, ไม้สัก, พะยูง, ชิงชัน, กระซิก, กระพี้เขาควาย, สาธร, แดง, ประดู่ป่า, ประดู่บ้าน, มะค่าโมง, มะค่าแต้, เคี่ยม, เคี่ยมคะนอง, เต็ง, รัง, พะยอม
ไม้สกุลจำปี ทั้งจำปีสิรินธร จำปีป่า จำปีถิ่นไทย จำปีดง จำปีแขก จำปีเพชร, แคนา, กัลปพฤกษ์, ราชพฤกษ์, สุพรรณิการ์, เหลืองปรีดียาธร, มะหาด, มะขามป้อม, หว้า, จามจุรี, พลับพลา, กันเกรา, กะทังใบใหญ่, หลุมพอ, กฤษณา, ไม้หอม, เทพทาโร, ฝาง, ไผ่ทุกชนิด, ไม้สกุลมะม่วง, ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม
ทั้งนี้ ประชาชนที่มีที่ดิน และต้องการปลูกต้นไม้ สามารถขอรับ ‘กล้าไม้’ ได้ฟรี ที่กรมป่าไม้ หรือดูรายละเอียดที่ https://www.forest.go.th/nursery/wheretogettree/