OHO Burger เบอร์เกอร์คนไทย กับแนวคิดการตลาดเชิงรุก ฟู้ดเทรลเลอร์สัญจร เสิร์ฟความอร่อยทั่วประเทศ


ติดตามเพจมานาน.. ได้กินอย่างสาสมใจซะที ! หลังจากได้ล้อหมุนจากบ้านเกิด จ.สุโขทัย มาปักหมุดจอดเสิร์ฟความอร่อยให้ลูกค้าย่าน ปตท.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ที่ตั้งหน้าตั้งตารอ Walk In มาต่อคิวสั่งซื้อรัว ๆ !!

 

กับ OHO Burger (โอโห้เบอร์เกอร์) “เบอร์เกอร์ของคนไทย” ธุรกิจรถฟู้ดทรัก หรือจริง ๆ เป็นรูปแบบร้านเบอร์เกอร์ที่นำรถกระบะต่อเติมพ่วงรถเทรลเลอร์และตกแต่งร้าน (Food Trailer) กับคอนเซ็ปต์ ล้อหมุนสัญจร พร้อมเสิร์ฟเบอร์เกอร์รสชาติเข้มข้นจัดจ้าน อร่อยโดยฝีมือคนไทย เพื่อให้คนไทยแต่ละจังหวัดได้ใกล้ชิด ได้ลองลิ้มชิมรส และรู้จักกับ OHO Burger ที่เป็นกระแสและมีคนติดตามเพจเฉียด 2 หมื่นราย

 

ซึ่งวันนี้ Smart SME จะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับ OHO Burger ให้มากยิ่งขึ้น

แอดมินขอบอกไว้ก่อน.. สำหรับเพื่อน ๆ ตามจังหวัดต่าง ๆ ที่ชื่นชอบทานเบอร์เกอร์ แล้วอยากลองกินเมนูของ “โอโห้เบอร์เกอร์” ดูบ้าง ไม่ต้องเสียใจ แต่ขอให้อดใจรอหน่อย เพราะเจ้าของและทีมงานวางแผนเคลื่อนที่สัญจรไปพร้อมเสิร์ฟความอร่อยในแต่ละอำเภอแต่ละจังหวัดอย่างแน่นอน
แต่สำหรับแอดมิน ไม่พลาด.. มาดักรอ และจัดเมนูแนะนำของร้าน “BSP BURGER BEEF” ซัดเต็มคำ ฉ่ำอุรา อร่อยฟินไปเป็นที่เรียบร้อย !

 

อย่างที่บอกไปว่า OHO Burger เป็นธุรกิจรูปแบบร้านฟู้ดเทรลเลอร์ (Food Trailer) ซึ่งถือว่าเป็น Business Model Food Truck รูปแบบหนึ่งเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยนั้น ธุรกิจฟู้ดทรัคได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการมากขึ้นเรื่อย ๆ สังเกตได้จากแต่ละแบรนด์ธุรกิจเอสเอ็มอี หรือสตาร์ทอัพ มักจะสร้างหน้าร้านรูปแบบรถเคลื่อนที่หรือ Mobile Car เพื่อทำการตลาดเชิงรุก เคลื่อนที่เข้าหาลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้นนั่นเอง

ทั้งนี้ จากการที่ธุรกิจนี้ได้รับความนิยมมาก ทำให้มีการจัดตั้งลักษณะเป็นกลุ่มหรือสมาคมด้วยนะ ภายใต้ชื่อ Food Truck Club-Thailand องค์กรเครือข่ายธุรกิจฟู้ดทรัค-ประเทศไทย เพื่อสนับสนุน อัปเดตกิจกรรมต่าง ๆ และเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจฟู้ดทรัคให้มีงานออกร้านแสดงสินค้าต่าง ๆ ที่จัดขึ้นทั่วประเทศตลอดทั้งปี

โดยในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของธุรกิจฟู้ดทรัค เฉลี่ยประมาณกว่า 3,000 คัน ที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเพื่อน ๆ จะเห็นได้จากการมีรถฟู้ดทรัคตามสถานที่สำคัญ อาทิ ลานกิจกรรมหน้าห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ , งานออกบูธ สถานที่ท่องเที่ยว

หรือแม้กระทั่งการนำฟู้ดทรักไป Adapt กับธุรกิจหรือกิจกรรมประเภทอื่น ๆ เช่น การมีพื้นที่เปล่าตามคอนโดมิเนียม ที่อนุญาตให้นำรถฟู้ดทรัคไปจอดขายสินค้าให้กับลูกบ้านหรือคอยโดฯ ได้ หรือแม้แต่การนำฟู้ดทรัคไปใช้ในภาคธุรกิจอื่น ๆ เช่น โปรโมทสินค้าใหม่ , โปรโมทคอนโดฯ หรือโครงการหมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น

 

รู้จัก “เจมส์-พิจักษณ์ นิลสุทธิ์” กับแนวคิด “ไม่อยากเป็นแค่ คนขายเบอร์เกอร์ แต่เรา คือ ผู้ประกอบการร้านเบอร์เกอร์”

OHO Burger (โอโห้เบอร์เกอร์) มีความน่าสนใจทั้งในตัวรูปแบบธุรกิจ การนำเสนอการขาย การเปิดร้านด้วยฟู้ดเทรลเลอร์ (Food Trailer) ซึ่งในประเทศไทยเริ่มมีผู้ประกอบการธุรกิจแนวนี้ทำกันมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกรายที่จะมีแฟนคลับเหนียวแน่น และสามารถยืนระยะและประสบความสำเร็จได้ทุกคน แต่โอโห้เบอร์เกอร์ ได้เร่งเครื่องจนมาถึงจุดนั้นได้แล้ว

รวมไปถึงแนวคิดของเจ้าของ คือ “เจมส์-พิจักษณ์ นิลสุทธิ์” ที่อายุเพียง 28 ปี แต่มีแนวคิดและบุคลิกการเป็นผู้ประกอบการที่เติบโตและมองไกลไปกว่าอายุมาก ๆ แถมมีใจเด็ดเดี่ยว กล้าได้กล้าเสีย จึงได้ตัดสินใจลุยสร้างแบรนด์และเปิดร้านขายเบอร์เกอร์รูปแบบฟู้ดเทรลเลอร์เช่นนี้

จริง ๆ ต้องบอกว่า “โอโห้เบอร์เกอร์” มีแฟนคลับที่ติดตามมานานแรมปีอยู่แล้ว ผ่านเพจร้าน https://www.facebook.com/OHOburger18 และ TikTok ของ “เจมส์” เจ้าของและผู้ริเริ่มแนวคิดร้านเบอร์เกอร์ฟู้ดเทรลเลอร์ โดยเจมส์ แฟน และทีมงาน ได้ร่วมกับปลุกปั้นธุรกิจ ร่วมหัวจมท้าย เดินสายสัญจรเสิร์ฟความอร่อยเบอร์เกอร์รสชาติสไตล์คนไทยชื่นชอบ แต่ฝรั่งก็กินนะ !

 

โดย “โอโห้เบอร์เกอร์” ล้อหมุนเช็คอินไปแล้วกว่า 20 จังหวัดในแถบโซนภาคเหนือ ไล่เรียงลงมาจังหวัดแถบภาคกลาง และภาคตะวันออกในบางจังหวัด ซึ่งทุกที่ ทุกอำเภอทุกจังหวัด ลูกค้าให้การตอบรับดีมาก ๆ โดย ‘คุณเจมส์’ บอกว่า ทำแบรนด์นี้ จริง ๆ มากว่า 4-5 แล้ว แต่ถ้านับเฉพาะรูปแบบฟู้ดเทรลเลอร์ ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปีเศษ ๆ เท่านั้นที่เริ่มขับรถเดินสายสัญจรไปขายตามจังหวัดต่าง ๆ และไม่มีที่ไหน ขายไม่ได้ แถมยอดขายแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 100 บิล

“ผมเรียนจบ ปวช.คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ส่วนครอบครัวพ่อแม่รับราชการ เอาจริง ๆ ผมไม่ได้คุยโวโอ้อวดนะ แต่ที่บ้านก็พร้อม support ในการเรียนหรือการทำงาน แต่ผมอยากสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง และอยากมีชีวิตที่อิสระ ชอบขายของ ชอบทำอาหาร ชอบท่องเที่ยวด้วย ก็มานึก ๆ นั่งคิดกับตัวเองว่า จะ Work-Life Balance ได้อย่างไรบ้าง

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ผมก็มีจุดที่ดาวน์ ย่ำแย่ ชีวิตขาลงมาก่อน ไม่แตกต่างจากคนอื่นเช่นกัน คือด้วยความที่อยากทำงานหาเงินเอง ไม่อยากเรียนต่อ ก็เคยไปสมัครทำงานหลายอย่าง เช่น ไปทำงานที่บาร์เหล้าเกาะกูด จ.ตราด เคยไปสมัครทำงานติดตั้งสายอินเตอร์เน็ตตามบ้าน เคยถูกเบี้ยวเงินเดือนค่าจ้าง สารพัด สุดท้ายก็มามองว่า ตัวเองต้องการทำอะไรกันแน่ และอยู่กับอะไรได้นานที่สุด มีความสุขที่ได้ทำมันที่สุด ซึ่งคำตอบก็คือ ทำอาหาร”

 

 

เจมส์ เล่าให้ฟังต่อว่า ใช้เงินเก็บที่พอมีตอนนั้น บวกกับที่บ้านก็ช่วยเหลือบ้าง Renovate บ้านตัวเองทำเป็นร้านอาหารกลางวันขายอาหาร ข้าวกล่อง กับข้าวของกินทั่วไป เปิดบ้านให้ลูกค้าเข้ามาสั่งกินได้ และขายผ่านแอปฯ เดลิเวอรี่ด้วย

ส่วนกลางคืน จะตกแต่งร้านแปรสภาพเป็นร้านขายเหล้า-เบียร์ ให้กับนักดื่ม คนในพื้นที่ หรือนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมา (อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย) โดยทำตลาดออนไลน์ ยิงแอดโฆษณา มีโพสต์ ทำเพจร้านโปรโมท ออกแบบร้าน ป้ายเมนูต่าง ๆ ทุกอย่าง เจมส์ ทำเองทั้งหมด

 

“ตอนทำร้านอาหารที่บ้านก็พอมีลูกค้า พอมีรายได้เลี้ยงตัวเองแบบไม่ขี้เหร่ ไม่อายใคร จนกระทั่งผมต่อยอดเมนูทำสเต๊กเนื้อ เบอร์แกอร์เนื้อ รวมถึงมีหมู-ไก่-ปลา และเมนูอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาในร้านด้วย ก็เริ่มขายดี มีลูกค้าประจำและลูกค้าใหม่ ๆ สั่งซื้อผ่านเพจ ผ่านแอปฯ เดลิเวอรี่ และ walk in มาทานที่ร้าน(ที่บ้าน) ลูกค้าหลายชมว่าอร่อย เบอร์เกอร์และสเต๊กรสชาติจัดจ้าน แปลกและไม่ซ้ำแบบใคร

เพราะเวลาผมทำอาหาร ผมจะไม่ดูสูตรจากคนอื่น ไม่ได้จำสูตรมาจาก Youtube แต่ผมจะทำในแบบที่ผมอยากกิน และคิดว่า ลูกค้าต้องชอบด้วย อย่างเช่นเบอร์เกอร์ ก็จะใส่คิดสูตรเอง เนื้อสัตว์ ผัก ซอส มายองเนส ในสัดส่วนในสไตล์ที่ผมต้องการ เพราะส่วนตัวคิดว่า ถ้าเราจดจำคนอื่นมาทำ มันจะเหมือนถูกตีกรอบว่า ต้องทำให้ได้รสชาติหน้าตาแบบเขา ซึ่งผมคิดว่า ถ้าเป็นแบบนั้น มันก็จะทำอาหารไม่สนุก และไม่ใช่ในแบบเราแล้ว”

 

เจมส์ ไม่หยุดแค่นั้น โดยต่อยอดเอาวัสดุอุปกรณ์ที่มีที่บ้าน พวกโครงเหล็ก โครงไม้ เคาน์เตอร์ที่เหลือใช้ ก็ต่อไม้เชื่อมเหล็กเอง เพราะมีพื้นฐานงานช่างอยู่บ้าง แล้วต่อพ่วงกับรถกระบะที่บ้าน ทดลองขับออกไปขายตามปั๊มน้ำมัน หน้าสถานศึกษา หน้าโรงพยาบาลแถวบ้าน และนั่นจึงจุดประกายต่อยอดธุรกิจ OHO Burger รูปแบบฟู้ดเทรลเลอร์จนถึงทุกวันนี้

ช่วงนั้น มีลูกค้าประจำ ติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์สูตรทำสเต๊กหรือเบอร์เกอร์ไปเปิดขายเองด้วย ซึ่งเจมส์ก็ซัพพอร์ทในเรื่องของขายส่งและจัดส่งวัตถุดิบต่าง ๆ ไปให้ลูกค้าในจังหวัดใกล้เคียง โดยมาถึงตรงนี้ เหมือนจะดี แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงปลายปี พ.ศ.2562 ถึงต้นปี พ.ศ.2563 ที่โควิดฯ เข้าไทยพอดีและระบาดหนักมากที่สุด

เจมส์ บอกว่า ช่วงนั้นเรียกว่า ชีวิตกลับมาขาลงอีกครั้งก็ว่าได้ ยอดขายอาหารหายไปกว่าครึ่ง เหลือเพียงยอดสั่งเดลิเวอรี่ก็ปละปลาย ส่วนแฟรนไชส์ที่ลูกค้าเอาไปเปิดบริหารก็สั่งของ/ส่งของไม่ได้ จนต้องปิดตัวไปก่อน เพราะช่วงนั้นล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ประกอบกับที่บ้านผมตอนนั้นก็มีปัญหาหลาย ๆ อย่างรุมเร้าเข้ามา ไหนจะคุณแม่ของแฟนล้มป่วยไม่สบายหนักด้วย ยอมรับว่า เป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่สุด ๆ ของชีวิตเท่าที่เคยผ่านมาก็ว่าได้

“ยอมรับว่า มีเหนื่อยและเครียด แต่ผมก็ไม่ท้อนะ พยายามตั้งสติ ค่อย ๆ จัดการปัญหาทีละเรื่อง ตอนนั้นก็มีหันไปพึ่งทางธรรมะอย่างจริงจังด้วย แล้วก็มานั่งคุยกับแฟนว่า เราอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ต้องสู้ต่อ โดยเอาเงินที่เก็บสะสมที่มีทั้งหมด ตัดสินใจไปหาเช่าและหาซื้อตู้เทรลเลอร์ ที่เจ้าของไม่ใช้งานที่เขาประกาศขาย เพื่อนำมา Renovate ตั้งใจทำเป็นร้านขายเบอร์เกอร์แบบฟู้ดเทรลเลอร์อย่างจริงจัง เพื่อต่อพ่วงขับไปขายตามจังหวัดต่าง ๆ เริ่มแรกขายที่ จ.อุทัยธานี

ยังจำได้ดีว่า ตอนนั้นผมกับแฟนมีเงินเก็บประมาณ 200,000 บาท แต่ตู้เทรลเลอร์ เขาตั้งราคาขายร่วม 400,000 บาท ผมกับแฟนจึงขอเช่าเดือน 30,000-40,000 บาท เพื่อเอามาใช้งานก่อน มันเป็นอะไรที่ท้าทายและเสี่ยงมาก แต่ผมกับแฟนตั้งใจไว้แล้วว่า จะทำธุรกิจในแบบนี้ และต้องทำให้ได้
เราเริ่มตระเวนสัญจรขายเบอร์เกอร์ที่แรก จ.อุทัยธานี เน้นจอดขายในปั๊มน้ำมัน จ่ายค่าเช่าให้ปั๊ม โดยครั้งแรกก็มีปัญหาให้ต้องแก้ไขอีก เพราะเรายังไม่มีประสบการณ์

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการรับออร์เดอร์ คือ ผมตั้งใจเปิดขายแต่ละที่ที่ไปจอด กำหนดขาย 5 วัน โดยวันแรกลูกค้าก็มาต่อคิวซื้อมาอุดหนุนเราแล้ว เพราะเราทำโปรโมทผ่านพจ ผ่านโซเชียลอยู่แล้ว ซึ่งเรามั่นใจว่า ขายได้แน่นอน ตรงนี้ไม่ได้กังวลอะไร

แต่ประเด็นคือ การรับออร์เดอร์วันที่สอง คือ เราจะมีการขอเบอร์ติดต่อ่ลูกค้า เช่น ผ่าน inbox ในเพจร้าน หรือแลก LINE กับลูกค้าที่มาสั่งวันแรก สามารถสั่งล่วงหน้าแล้วเข้ามารับที่หน้าร้านได้

ซึ่งตรงนี้ ทำให้มั่วมาก ๆ เพราะลูกค้าสั่งมาจากหลายช่องทาง ทำให้ผมกับแฟนทำไม่ทัน ทำออร์เดอร์ผิดเยอะ และลูกค้าบางคนบอกว่า สั่งไว้แล้วทำมาแล้วยังไม่ได้ก็มีเยอะ เราจึงรู้เลยว่า เราพลาดเรื่องการบริหารจัดการออร์เดอร์ โดยวันที่สองของการขาย จบไปด้วยความทุลักทุเล รู้สึกผิดกับลูกค้าไปหลายคน

แต่โชคยังดี วันที่สาม ฝนตกตั้งแต่เช้าตลอดทั้งวัน ผมจึงถือโอกาสประกาศผ่านเพจว่า ขอหยุด 1 วันเนื่องจากฝนตก และมานั่งหาวิธีจัดการรับออร์เดอร์ลูกค้าโดยปรึกษากับแฟน จนกระทั่งได้แนวทางจัดการ นั่นคือ ให้ลูกค้าสั่งโดย walk in หน้าร้านเท่านั้น

โดยทางร้านจะรับแค่วันละ 100 บิล (1 บิล จะสั่งเบอร์เกอร์กี่ลูก ก็แล้วแต่ คือนับเป็น 1 บิล) โดยครึ่งวันเช้ารับแค่ 50 บิล และครึ่งวันบ่ายรับอีก 50 บิล รวมทั้งกำหนดเวลาขาย 10:00 -13:00 น. จากนั้น ร้านจะพัก 1 ชั่วโมง และขายอีกที 15:00 – 18:00 น.

ซึ่งโมเดลนี้ใช้ได้ผล สามารถบริหารจัดการคำสั่งซื้อของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง ลูกค้าได้รับสินค้าครบ ถูกต้อง และรวดเร็ว และเราเองก็ไม่เหนื่อยด้วย มันสามารถควบคุมลูกค้าได้ โดยให้ความรู้สึกว่า ไม่ได้ไปบังคับลูกค้านะ แต่เพื่อความทั่วถึง และลูกค้าได้รับออร์เดอร์ที่สั่งอย่างถูกต้องจึงต้องทำแบบนี้

ตั้งแต่นั้นมา ผมใช้วิธีนี้ในการบริหารร้าน ในการเปิดร้านขายแต่ละที่ ๆ อีกทั้งลูกค้าที่เราไปเปิดทุกที่ ทุกคนน่ารักมาก ๆ มายืนต่อแถวเป็นระเบียบเรียบร้อย ลูกค้าบอกว่า รอได้ เพราะตั้งใจแล้วว่าจะมากิน เราก็รู้สึกขอบคุณลูกค้า แล้วก็มีความสุข ขายของโดยไม่ต้องเครียด และก็ไม่เคยมีปัญหาเกิดขึ้นอีกเลย”

 

 

OHO Burger กับรูปแบบขายแบบฟู้ดเทรลเลอร์นี้ เริ่มสัญจรขายครั้งแรก ประมาณวันที่ 4 ก.ย.65 สามารถสร้างยอดขายที่เปิดขายแต่ละที่ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 บาท (เฉลี่ยขั้นต่ำ) โดยเจมส์ บอกว่า ผมสัญจรไปขายจังหวัดต่าง ๆ ใกล้เคียง อยู่ 6 เดือน จนมีเงินซื้อสดเทรลเลอร์(ตู้ลาก) แล้วสามารถปิดหนี้อื่น ๆ ได้ด้วย เพราะทำแบรนด์ OHO Burger

โดยต้นทุน/กำไร ของการขายเบอร์เกอร์รูปแบบนี้ ประมาณการอยู่ที่ 60/40 ซึ่งถือว่าโอเค อยู่ได้สบาย โดยต้นทุนหลัก ๆ ของการทำธุรกิจนี้ ก็จะคล้ายกับธุรกิจร้านอาหารทั่วไป และมีแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ได้แก่

– ค่าเช่าที่ (เจมส์จะส่งโปรไฟล์ข้อมูลธุรกิจ นำเสนอกับทางปั๊มน้ำมันก่อนเพื่อพิจารณาอนุญาตให้เปิดขายได้)
– ค่าแรงพนักงาน (มีเจมส์ แฟนเจมส์ และเพื่อน ๆ ที่เป็นทีมงาน OHO Burger)
– ค่าวัตถุดิบ (หาซื้อในพื้นที่ เช่น ห้างฯ ขายส่ง, ตลาด, โมเดิร์นเทรด)
– ค่าน้ำมันรถ
– ค่าที่พัก (จะพักกันตามโรงแรมในพื้นที่ที่ใกล้เคียงที่เปิดขาย)

 

เจมส์ เผยว่า ส่วนตัวมีการทำ Profile ธุรกิจร้านอยู่แล้ว แล้วเสนอให้ ปตท. แต่ละแห่งพิจารณา และเพื่อให้รู้จักแบรนด์เรา และขอเข้าไปขายอย่างถูกต้อง ซึ่งทางปั๊มก็จะตัดสินใจให้เราเข้าไปขายง่ายขึ้นด้วย ส่วนเหตุผลที่เลือกขายใน ปตท. ตนเองมองว่า สิ่งอำนวยความสะดวกครบ และสเกลพื้นที่ปั๊มน้ำมันตามต่างจังหวัดมีเนื้อที่ค่อนข้างใหญ่

– เรามีอุปกรณ์การขายมาเองครบ
– เราขอใช้พื้นที่ 3 ช่องจอด ถ้าใกล้ร้านกาแฟ Amazon ยิ่งดี
– เรามีอุปกรณ์ต่อพ่วงไฟมาเองพร้อม ขอแค่พ่วงเสียบในปั๊มแค่นั้น
– เรามีอุปกรณ์ความปลอดภัยติดรถมาด้วย
– เรามีอุปกรณ์ทำความสะอาด บ่อดักขยะ/ไขมัน เครื่องกรองเศษอาหาร ฯลฯ ติดรถมา เพื่อติดตั้งและยกกลับอย่างสะอาดเรียบร้อย

 

เมื่อถามถึงการวางแผนหรือเลือกสัญจรไปขายแต่ละจังหวัด โดยดูจากกอะไร ซึ่งเจมส์ บอกว่า จะมีการเก็บข้อมูลทำ Research ก่อนทุกครั้ง ซึ่งก็ศึกษาในกูเกิ้ล เช่น เวลาไปขายที่ไหน กลุ่มลูกค้าเป็นใคร พฤติกรรมชอบทานเบอร์เกอร์ไหม หรือส่วนใหญ่ลูกค้าในพื้นที่นั้น ๆ ทำอาชีพอะไร หรือควรขายที่ไหนถึงจะเหมาะสมสุด

ซึ่งคำตอบ คือ ปั๊มน้ำมันแต่ละอำเภอ หรือในจังหวัดใหญ่ที่เศรษฐกิจดี ผู้คนมีกำลังซื้อ โดยเจมส์ บอกด้วยว่า ไปทุกที่ ไม่มีขายไม่ได้ เพราะเราทำการตลาดและศึกษาข้อมูลก่อนทุกครั้ง
ผมมองว่า ปัญหาของคนทำธุรกิจแน่นอนอยู่ที่ เรื่องเงินทุน ถ้าสะดุดเรื่องนี้ มันจะพาปัญหาทุกอย่างเข้ามา แต่ถ้าเราค่อย ๆ ทำมัน ๆ อดทน ทำซ้ำ ขายสม่ำเสมอ รักษามาตรฐาน และบริการลูกค้าให้ดี แล้วพอค่อย ๆ มองเห็นกำไร ทุกอย่างมันก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น ดังนั้น เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินหล่อเลี้ยงชีวิตเราทุกคน

 

“หลายคนมักมองภาพที่ผมประสบความเร็จวันนี้ แต่ชีวิตผมก็เคยตกต่ำสุด ๆ มาแล้ว.. ผมเคยขายของ แต่กลับไม่มีเงินติดตัวสักบาท ค้นดูในรถทั้งคัน เจอเศษเงินไม่ถึง 10 บาท ยังไม่พอซื้อมาม่ากินเลย”

 

OHO Burger กับแนวคิด-หลักบริหารธุรกิจ

• เราทำเบอร์เกอร์รสชาติที่แตกต่างจากแบรนด์ดัง หรือเจ้าอื่น ลูกค้าที่เคยกินแล้วจะรู้เลยว่า ของเราแตกต่าง

• เบอร์เกอร์ สเต๊ก พิซซ่า อาหารพวกนี้ เราสามารถ Creative เมนูได้ไม่สิ้นสุด จะขายแบบ Single หรือเป็น Set ก็สามารถตั้งราคา (Up Sale) ขายได้หลากหลาย

• มองว่า พฤติกรรมผู้บริโภค ชอบแห่ไปกินร้านอาหารเปิดใหม่ ถ้าอย่างงั้น เราก็สัญจรไปเรื่อย ๆ อยู่ขายแค่ 5 วัน แล้วก็จะไปที่อื่นต่อ แล้วจะกลับมาเปิดที่เดิมหรือไม่ อันนี้ตอบไม่ได้ เพราะรอให้ลูกค้าอยากกิน หรือมีเสียงเรียกร้อง ซึ่งเราก็จะวางแผนกลับไปอีกครั้ง เป็นต้น เพราะฉะนั้น OHO Burger จึงเหมือนร้านอาหารที่เปิดใหม่ทุกครั้งในทุกสถานที่

• เราทำให้แบรนด์และสินค้าเกิด Value และลูกค้าอยากกิน เฝ้ารอการมาและการเปิดร้านของเรา เมื่อลูกค้าติดตามผ่านเพจ แล้วพร้อมที่จะ Walk In เข้ามาต่อแถวซื้อเราทุกวัน ทุกจังหวัด โดยเฉพาะยิ่งถูกกำหนดด้วยจำนวนบิล , ถูกกำหนดด้วยจำนวนวัน/เวลาเปิด ลูกค้าจะยิ่งรู้สึกว่า ฉันต้องมาให้ทันให้ได้ !!

• เราจะไม่ค่อยไปตามงานอีเว้นท์ ไม่ใช่ว่าหยิ่งนะ แต่มองว่า การเลือก Location เองเราจะได้ไม่ต้องแข่งกับใคร เมื่อเราทำโปรโมทร้านออกไป ลูกค้าทราบ และ walk in มาในวัน/เวลาที่แจ้ง นั่นคือ เขาต้องมาซื้อเราตามเพจที่เราแจ้งแน่นอน และเราจะแนะนำลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ลูกค้าที่เข้ามาหาเรา เพราะเขาตั้งใจมาซื้อเรา 100% เพราะเขาติดตามเพจ แล้วเราไม่ต้องพูดเยอะ เพราะเขาศึกษาผลิตภัณฑ์ของเรามาแล้ว แล้วเราก็ไม่ Failed ในการเรียกลูกค้า แถมประหยัดพลังงานในการพูดสื่อสารกับลูกค้าและมีความสุขกับการขายอีกด้วย

 

 

ในตอนท้ายบทสัมภาษณ์ ทีมงาน Smart SME ขอให้เจมส์ ฝากข้อคิดดี ๆ ในการทำธุรกิจ ฝากบอกไปยังเพื่อน ๆ หรือใครก็ตามที่กำลังทำธุรกิจ แล้วประสบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ว่า จะสามารถผ่านพ้นไปได้อย่างไร

โดยเจมส์ ฝากบอกไว้อย่างน่าสนใจว่า การทำอะไรก็ตาม ถ้าเจอปัญหา สิ่งสำคัญคือ จะต้อง Work-Life Balance ให้ได้ เจออะไรมากระทบ พยายามตั้งสติ ใจอย่าแกว่ง อย่างส่วนตัวผมเจอคนดูถูกมาก็เยอะ จะขายได้เหรอ จะทำไปได้สักเท่าไหร่ แต่ผมไม่สนใจ และคิดปรารถนาดีกับเขา เพราะผมกลับมองว่า คนที่ดูถูกเรา แสดงว่าเขามีปมมาก่อน และเราจะไม่ปฏิบัติกับเขาแบบนั้น

 

“เห็นผมดูเป็นคนคุยสนุกอย่างนี้ แต่หลาย ๆ อย่างผมวางแผนนะ และประเมินตัวเองว่า ทำไหวแค่ไหน ไม่ดันทุรังทำเกินตัวเกินไป ยกตัวอย่างเช่น คนที่ขายของไม่ดี แล้วโทษปัจจัยแวดล้อม แต่จริง ๆ เพราะไม่วางแผนและไม่เผื่อใจไว้บ้าง ทำให้เมื่อไม่ได้ดังใจหวัง ก็จะโวยวาย ผลักความผิดที่ตัวเองก่อ ไปให้คนอื่น หรือโทษฟ้าโทษดิน

สำหรับ OHO Burger เบอร์เกอร์ของผมรสชาติจัดจ้าน กินได้เรื่อย ๆ ไม่เลี่ยน เป็นรสชาติที่คนไทยทำให้คนไทยกิน แต่ฝรั่งก็ชอบทาน ตอนนี้ก็มีลูกค้าสอบถามขอซื้อแฟรนไชส์เรามาอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นเรื่องของการวางแผนในเฟสต่อไป เพราะตอนนี้ ผม แฟน และเพื่อน ๆ ยังสนุกกับการสัญจรขายแบบนี้อยู่ ตั้งเป้าทำไปอีกสัก 2 ปี ค่อยว่ากัน

ผมอยากฝากให้ทุกคนที่กำลังทำธุรกิจหรืออาชีพอะไรก็แล้วแต่ พยายามหาไอเดีย หรือจุดขายของตัวเอง อะไรที่เหมาะสม ทำแล้วไม่เกินตัว ทำแล้วได้ยอดขาย ก็ลองทำเลย ขอให้มองหาจุดเด่นของตัวเองให้เจอ แล้วทำการตลาดให้เป็น แล้วมันจะทำให้คุณมีรายได้จากการทำอาชีพหรือธุรกิจนั้น ๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งผลลัพธ์มันเปลี่ยนแน่นอน”

 

คาถาชี้ทางรวย ! คนทำธุรกิจต้องทำ ห้ามละเลย !

1. ต้องทำบัญชีและทำข้อมูลการขายทุกวันทุกครั้ง เพราะตัวเลข และข้อมูลต่าง ๆ จะบอกความจริงเสมอว่า คุณขายได้เพราะอะไร หรือขายไม่ได้เพราะอะไร บางคนค้าขายไม่ทำบัญชี ก็ไม่รู้ว่าเงินหายไปไหน เป็นต้น

2. การมีวินัย คุณต้องออกไปแสวงหาโอกาส คือ การออกไปค้าขาย หรือทำธุรกิจ เพราะคุณไม่ได้ทำงานประจำ คุณไม่มีเงินเดือนกิน คุณจึงต้อง Active ในสิ่งที่ตัวเองทำในทุก ๆ วัน

3. Work-Life Balance ใช้ชีวิตกับเวลาให้สมดุล ในแบบฉบับของตัวเอง

ถ้าคุณมี 3 สิ่งนี้ คุณสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจของตนเองได้ทันที โดยที่เหลือคือ การรักษามาตรฐาน รักษาฐานลูกค้า และการยืนระยะในธุรกิจนั้น ซึ่งเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เอง