เลือก ‘หุ้นส่วน’ อย่างไร ให้ดีต่อใจ ไม่หักเหลี่ยมโหด !?


เครื่องมือการทำธุรกิจให้เติบโตและประสบความสำเร็จ มีหลากหลายวิธี โดยหนึ่งในวิธีที่ผู้ประกอบการนิยมนำมาใช้บริหาร คือ การหา ‘หุ้นส่วน’ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตไว

แต่ก็เหมือนดาบสองคม เพราะการทำธุรกิจแบบหุ้นส่วน ไม่ว่าหุ้นกับเพื่อน กับญาติ กับคนรู้จัก มีความเสี่ยงที่อาจทำลายความสัมพันธ์ให้จบลงไม่สวยสักเท่าไหร่

เพราะปัจจัยด้านผลประโยชน์ทางธุรกิจนั่นเอง เช่น แบ่งผลกำไรไม่ลงตัว, หรือการเอาเปรียบในเรื่องการบริหารการทำงาน หรือธุรกิจประสบการขาดทุน ทำให้เครียด เกิดการทะเลาะกันในภายหลัง เป็นต้น

สำหรับ เพื่อน ๆ หรือใครก็ตาม ที่กำลังเริ่มทำธุรกิจ แล้วใช้วิธี ‘หุ้นส่วน’ ถ้าไม่อยากเจอจุดจบอย่างที่แอดฯ กล่าวไปข้างต้น ไม่อยากกลายเป็นเพื่อนรัก หักเหลี่ยมโหด แต่อยากจะประคับประคองธุรกิจ และรักษาความสัมพันธ์ดี ๆ ไว้ตลอด จับมือสร้างธุรกิจให้เติบโตไปได้ด้วยกัน

ลองมาติดตามกันว่า มีวิธีบริหารธุรกิจ โดยการเลือก ‘หุ้นส่วน’ อย่างไร ? ให้มาช่วยกันบริหารงานอย่างราบรื่น ทั้งตัวธุรกิจ และความสัมพันธ์ของหุ้นส่วนต่อไปได้ในระยะยาว

 

มีฝันการทำธุรกิจเดียวกัน

การเป็นหุ้นส่วนก็เปรียบเหมือน คบคนเป็นแฟน เป็นคนรักกัน ซึ่ง หากชอบอะไรเหมือน ๆ กัน ย่อมเป็นทุนตั้งต้นที่ดีกว่า เช่น ชอบอาหาร ชอบท่องเที่ยว ชอบดนตรี ชอบดูกีฬา ฯลฯ ความชอบที่เหมือนกันจะต่อยอดการทำธุรกิจได้ง่ายกว่า และราบรื่นกว่า

 

เพื่อนส่วนเพื่อน งานส่วนงาน

หากเป็นหุ้นส่วนกัน ต้องคุยกันก่อนให้เคลียร์ ต้องคุยกันได้ทุกเรื่อง แยกความเป็นเพื่อน ออกจากการทำงาน เช่น เวลาทำงาน ก็ต่างคนต่างรู้หน้าที่ รับผิดชอบงานทำให้เต็มที่ ติชม คือ เอาเหตุผลและเป้าหมายของบริษัทหรือหน้าร้านเป็นหลัก แยกเรื่องส่วนตัวออกไปก่อน ส่วนนอกเวลางาน ให้ถอด ‘หัวโขน’ หรือลงจากหลังเสือ นัดกินข้าว สังสรรค์ เคลียร์ใจกับหุ้นส่วนทุกประเด็น มองภาพใหญ่ให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

 

เรื่องเงิน คุยให้ชัด !

เชื่อไหม ? คำว่า “เงิน” เป็นอาวุธที่สะบั้นความสัมพันธ์มาเยอะแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พี่น้อง คนรัก หรือแม้กระทั่งเพื่อนสนิท แต่เฮ้ยพวกเรารักกัน ไม่มาแตกคอกันเพราะเรื่องแค่นี้หรอก ถึงวันนี้เราจะบอกว่า เงินไม่สามารถทำลายพวกเราได้ แต่อนาคตใครจะรู้ หากธุรกิจเกิดไปได้สวย หรือขาดทุนหนัก ๆ เรื่องเงินจะกลายมาเป็นประเด็นในการทะเลาะกันทันที ฝ่ายใดอาจได้เยอะกว่า อีกฝ่ายน้อยกว่า เรื่องเงินถึงไม่เข้าใครออกใครอยู่เสมอ

เพราะฉะนั้น หากคุณไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ให้ตกลงกันก่อนเลย ธุรกิจอันนี้จะแบ่งหุ้นกันอย่างไร เงินในส่วนของกำไร ใครจะได้ส่วนแบ่งมาก หรือน้อย กำหนดกันให้ชัดไปเลย เรื่องเงินอย่าไปคิดว่า เป็นเรื่องน่าอาย ไม่ควรพูดกัน แต่การทำธุรกิจนั้น ‘เรื่องเงิน’ เป็นเรื่องควรที่จะพูดกัน ถ้าไม่อยากมาทะเลาะในวันที่สายเกินไป

 

 

มีกฎระเบียบ และข้อตกลงร่วมกัน

‘กฎมีไว้แหก’ ประโยคนี้ มักเป็นคำพูดที่ใช้ได้เฉพาะบางโอกาสและกาลเทศะเท่านั้น ถึงอย่างไร คนเราต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบ มีอิสระได้ ถ้าอิสระของคุณนั้น ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนหรือกระทบชิ่งกับคนอื่น

เช่นเดียวกับการทำธุรกิจร่วมกัน ควรร่างสัญญา หรือทำ MOU เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นคู่มือการบริหารงาน หรือทำคล้าย ๆ Operation Manual ขึ้นมา เพื่อแจ้ง หรือแจกจ่ายให้กับหุ้นส่วนทุกคนได้รับทราบร่วมกัน โดยหากใครทำอะไรผิดพลาด จะได้รู้ว่า ต้องรับผิดชอบหรือต้องแก้ไขอย่างไร ให้อยู่ภายใต้กฎข้อบังคับเดียวกัน ทุกคนเสมอกัน ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือไปกว่ากัน แบบนี้จะแฟร์ ๆ และทำให้ผิดใจกัน ธุรกิจก็ยังดำเนินต่อไปได้

 

อ่านดูแล้ว เหมือนการหา ‘หุ้นส่วน’ ดูน่ากลัว จนไม่อยากใช้วิธีนี้ แต่จริง ๆ แล้ว วิธีการสร้างธุรกิจให้เติบโต โดยทุก ๆ วิธีย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับ ‘หุ้นส่วน’ ข้อดีก็มีมากอย่างที่บอกไป เพียงแต่ แอดฯ นำจุดบอดหรือรูรั่วที่เพื่อน ๆ อาจจะมองไม่เห็น นำมาบอกเล่า เพื่อให้ปิดประตูอุดรูความเสี่ยงนี้ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ถ้าพูดคุยตกลงกันก่อนอย่างชัดเจน จริงใจ ตรงไปตรงมา ข้อเสียต่าง ๆ เหล่านี้แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ ซึ่งมีผู้ประกอบการ SME หลาย ๆ แบรนด์ที่ใช้ความเป็นหุ้นส่วนกัน ในการบริหารธุรกิจกระทั่งเติบโต ประสบความสำเร็จ สร้างยอดขาย มีกำไรเพิ่มพูนเรื่อย ๆ เพราะเขาเรียนรู้นิสัยใจคอ และเปิดอกพูดคุยตกลงกันมาก่อนเรียบร้อยแล้ว