EXIM BANK พร้อมนำธุรกิจไทยข้ามพรมแดนรุกตลาดโลกสีเขียว ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสิ่งแวดล้อม


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัจจุบันทุกภาคส่วนพัฒนาองค์กรและกิจการไปสู่ “ความยั่งยืน (Sustainability)” ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสภาวะโลกร้อน แก่นสำคัญของเป้าหมาย SDGs คือ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

 

สอดคล้องกับเป้าหมายและพันธกิจของ EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มุ่งสู่บทบาท “Green Development Bank” โดยสานพลังกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ควบคู่ไปกับการยกระดับประเทศไทยสู่ประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาคนตัวเล็กหรือ SMEs ไทยให้เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และแข่งขันได้ในเวทีโลก

EXIM BANK พร้อมใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญพัฒนาเครื่องมือทางการเงินสีเขียวที่เสริมสร้างการพัฒนาระบบนิเวศการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ยกระดับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยโดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนกระบวนการผลิตสินค้าและให้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

 

นับตั้งแต่เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537 EXIM BANK ได้ทำหน้าที่ Lead Bank นำพาผู้ประกอบการไทยไปปักหมุดธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ จำนวนกว่า 400 โครงการ กำลังการผลิตกว่า 8,800 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100 ล้านตัน โดยเป็นการสนับสนุนทางการเงินกว่า 68,600 ล้านบาท สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 578,300 ล้านบาท

รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนธุรกิจไทย รวมทั้ง SMEs ให้ปรับตัวเป็นธุรกิจสีเขียว แข่งขันได้อย่างยั่งยืนในเวทีการค้าโลก ในปี 2567 EXIM BANK มีแผนเดินหน้าพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ อีกหลายมิติ อาทิ สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยสำหรับดำเนินธุรกิจที่คำนึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี (Environmental, Social and Governance : ESG) การระดมทุนเพื่อนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ (Blue Bond) เช่น พาณิชยนาวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนธุรกิจสีเขียวครอบคลุม Scope ที่ 1-2-3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง ทางอ้อมที่เกิดจากการใช้พลังงาน และทางอ้อมอื่น ๆ จากการดำเนินงานขององค์กร)

เพื่อบรรลุเป้าหมาย EXIM BANK จะเพิ่มสัดส่วน Green Portfolio และที่เกี่ยวเนื่อง จาก 37% ในปัจจุบันให้เป็น 50% ภายในปี 2571 เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและธุรกิจไทยไปพร้อมกันบนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั่นหมายถึง การเร่งเติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุน เพื่อให้ SMEs ไทยมีจุดยืนบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ รวมถึงกลุ่มเปราะบางทางสังคม ให้มีองค์ความรู้และพื้นฐานอาชีพที่มั่นคงก่อนจะขยายไปสู่ตลาดโลก ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ยึดหลักการ “4P” เริ่มต้นจากการดูแลคน (People) เพื่อดูแลโลก (Planet) ด้วยความใส่ใจในประสิทธิภาพ (Productivity) นำไปสู่กำไร (Profit) ซึ่งรวมถึงคุณค่าที่ตอบแทนกลับคืนสู่สังคม โดยวางรากฐานตั้งแต่ภายในองค์กรให้บุคลากรยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน “คุ้มครอง (Protect)” “เคารพ (Respect)” และ “เยียวยา (Remedy)” สอดคล้องกับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights : NAP) ของประเทศไทย ทั้งด้านแรงงาน ด้านชุมชน ที่ดิน สิ่งแวดล้อม ด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชน และด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ บูรณาการเชื่อมโยงทุกกระบวนการขององค์กรโดยคำนึงถึง ESG สู่เป้าหมาย SDGs

 

 

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 3% ขณะที่มูลค่าส่งออกทั้งปี 2566 คาดว่าจะหดตัว 1-2% อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4 ปี 2566 ช่วงโค้งสุดท้ายของปี เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวก โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัว โดย EXIM BANK ยังคงเดินหน้าส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ควบคู่กับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับผลการดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2566 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้าง 164,976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,161 ล้านบาท หรือเติบโต 3.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภายใต้บทบาทการเป็น Green Development Bank อันเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน โลจิสติกส์ และภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มียอดคงค้างสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 60,298 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 37% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด เพิ่มขึ้นถึง 37.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผู้ประกอบการ SMEs 14,122 ล้านบาท คิดเป็น 23.42% จากสินเชื่อของ EXIM BANK ที่ให้การสนับสนุนธุรกิจสีเขียว โดยตั้งเป้าหมายจะขยายเป็น 50% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและสถานการณ์ความไม่สงบในหลายประเทศ EXIM BANK ยังเร่งเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยผ่านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 148,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของการสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านสินเชื่อและประกันของ EXIM BANK ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มีจำนวนลูกค้า 6,138 ราย เพิ่มขึ้น 6.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน Penetration Rate ต่อผู้ส่งออกทั้งประเทศ 18% ในจำนวนนี้ มีลูกค้า SMEs มากถึงกว่า 83% สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่ไม่ทิ้งคนตัวเล็กและกลุ่มเปราะบางทางสังคม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 27,800 ราย วงเงินรวมประมาณ 91,400 บาท

EXIM BANK ยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินและบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยในระบบที่ปรับสูงขึ้น ทำให้มีกำไรก่อนสำรอง 2,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 18.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและความเสี่ยงทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 EXIM BANK มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loans : NPLs) จำนวน 6,665 ล้านบาท NPL Ratio เท่ากับ 4.04% อย่างไรก็ตาม EXIM BANK มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss : ECL) เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในอัตราส่วน (Coverage Ratio) เท่ากับ 213.15% อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2566 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 246 ล้านบาท และคงได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระดับ AAA (tha) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 และคงอันดับเครดิตสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ เท่ากับประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 11

EXIM BANK มุ่งมั่นสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา Prime Rate 6.75% ต่อปีจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและภาคธุรกิจเร่งปรับตัวสู่ทิศทางโลกการค้ายุคใหม่ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีนี้ กลไกสำคัญอย่างภาคส่งออกจะกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าเกษตรส่งออกที่ปรับสูงขึ้น ปัญหา Supply Chain Disruption ที่คลี่คลาย สินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารยังเป็นที่ต้องการอีกมาก ขณะที่การลงทุนภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมาตรการภาครัฐยังคงกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง EXIM BANK ซึ่งจะเปิดดำเนินการครบ 30 ปีในปี 2567 ยังพร้อมทำหน้าที่ “มากกว่าธนาคาร” สนับสนุนให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น สามารถเติบโตในเวทีการค้าโลกยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางโอกาสและปัจจัยท้าทายรอบด้าน รวมถึงปรับตัวรับมือมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่มีจำนวนราว 17,000 มาตรการ โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรป (EU) ทำให้ระยะข้างหน้าสินค้านำเข้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อย ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ซึ่งจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในเดือนมกราคม 2569 และกฎระเบียบสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Products Regulation : EUDR) ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าเกษตร 7 กลุ่มคือ โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ไม้และกระดาษ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ วัวและผลิตภัณฑ์ ถั่วเหลือง ต้องลงทะเบียนแจ้งข้อมูลการผลิตทั้งระบบเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าได้มีการตัดไม้ทำลายป่าในระบบการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์หรือไม่ ซึ่งจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2567 เหล่านี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการทุกระดับต้องปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียวและความยั่งยืนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ตลอดปี 2566 EXIM BANK ยังเดินหน้าสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงรุก แม้ในสภาวะที่เศรษฐกิจและภาคการส่งออกยังไม่กลับมาฟื้นตัว โดยในช่วงต้นปีถึงกลางปี มียอดคงค้างสินเชื่อค่อนข้างคงที่ สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของไทยที่หดตัวต่อเนื่องแต่คาดว่า EXIM BANK จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายปี 2566 มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 175,000 ล้านบาท สอดรับกับทิศทางการส่งออกและเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ EXIM BANK ยังจะสานพลังหน่วยงานพันธมิตร รวมถึงลูกค้าผู้ประกอบการ เดินหน้าพัฒนาประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งคนตัวเล็กหรือ SMEs ไทยไว้ข้างหลัง พร้อมรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่จะมาถึง บริหารจัดการความเสี่ยงและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของไทยให้ได้มาตรฐานสากล เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกสะอาด ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล” ดร.รักษ์ กล่าว