ส่อง Wellness Tourism ธุรกิจเที่ยวเชิงสุขภาพ ดึงเม็ดเงินสู่ท้องถิ่น มีที่ไหนน่าไปบ้าง ?


คนไทยทุกคนควรยืดอกภูมิใจ ! เพราะ Destination จุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากเดินทางไปสัมผัสที่สุด มีประเทศไทยเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งเราเป็นรองเพียง สหรัฐฯ , อังกฤษ และ อินเดีย เท่านั้น (ในเอเชีย ไทยแข่งขันเรื่องนี้กับ จีน และ ญี่ปุ่น ด้วย)

แน่นอนว่า สิ่งที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดและเรียกเม็ดเงินนักท่องเที่ยวให้มาเช็กอินไทยแลนด์ นั่นคือ ‘ซอฟต์พาวเวอร์‘ หลัก ๆ ที่คนไทยก็รู้คือ เรื่องของอาหาร , วัฒนธรรมที่งดงาม , เทศกาลต่าง ๆ และไทยเราเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์แบบที่สุด

 

โดยเฉพาะเรื่อง ‘การท่องเที่ยว’ ที่ปัจจุบันหลังจากโลกฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดฯ พฤติกรรมคนทั่วโลกหันมาดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ

ส่งผลให้โมเดลธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการพักผ่อน ถือเป็น “ยูนิคอร์นใหม่” ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังยุคโควิดฯ และ “ไทย” มีศักยภาพในการส่งเสริมให้เป็นศูนย์รวมของ Wellness tourism อย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นและได้ยินคนพูดถึง Wellness Tourism ธุรกิจเที่ยวเชิงสุขภาพกันอย่างคึกคักหนาหูมากขึ้น

โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2565 ประเทศไทย สามารถสร้างรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น สะพัดกว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเติบโตสูงปีละกว่า 14-20%

ทว่า.. คนไทยอีกหลายคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า Wellness Tourism หรือธุรกิจเที่ยวเชิงสุขภาพ มันมีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นธุรกิจประเภทไหน มีที่ไหนบ้าง และเทรนด์ธุรกิจ Wellness มันจะเป็นแค่เพียงกระแส..

หรือตอนนี้ ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจเชิงสุขภาพ (Wellness Economy) ที่ได้รับความนิยมแบบยั่งยืนต่อไปในอนาคต แอดฯ ขอชวนทุกคนไปหาคำตอบพร้อมกัน

 

Wellness โดยไม่ได้มีนิยามหรือคำจำกัดความอะไรเป๊ะ ๆ หรือตายตัว แต่ทาง National Wellness Institute (สถาบันสุขภาพแห่งชาติ) ก็ได้นิยามคำว่า Wellness ให้เราทุกคนเห็นภาพตามได้ คือ..

“กระบวนการที่บุคคลทำเพื่อต้องการที่จะมีชีวิตที่สมดุล โดยเลือกทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เกิดสุขภาพที่สมบูรณ์ และความเป็นอยู่ที่ดีส่งผลโดยตรงกับสุขภาพโดยรวม”

 

 

ประเภทธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Wellness Tourism

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่ Supply Chain ของท่าน ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับ Wellness หรือบริการเกี่ยวกับด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น บอกได้เลยว่าให้เตรียมจอบและเสียมมารอ “ขุดทอง” เอาไว้ได้เลย ! เพราะมีผลสำรวจเผยว่า แรงจูงใจของนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาประเทศไทย คือ..

• 30% ต้องการเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ
• 25% ต้องการหลีกหนีความวุ่นวายและผ่อนคลาย
• 18% ต้องการท่องเที่ยวเชิงผจญภัยและทำกิจกรรมกลางแจ้ง

และจากข้อมูลในปี 2019 (พ.ศ.2562) เป็นช่วงที่โลกเจอกับ COVID-19 พอดี แต่ก็เป็นช่วงนาทีทองที่ประเทศไทย ยังสามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจำนวนถึง 15.5 ล้านคน สร้างรายได้สูงถึงประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ใช้จ่ายเงินไปประมาณ 40,000 – 60,000 บาทต่อคนต่อทริป

สรุปได้ว่า สถานที่ใด ๆ ในประเทศไทย ที่สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในข้างต้นได้ พวกเขาพร้อมกำเงินไปเช็กอินเพื่อตอบสนองและซื้อบริการการพักผ่อนและผ่อนคลายอย่างแน่นอน

 

รัฐช่วยผลักดัน หนุนธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

1. ธุรกิจ Wellness Tourism โดยศักยภาพประเทศไทยเราก็มีความพร้อมทุกด้าน และได้แรงหนุนจากนโยบายภาครัฐให้ฟรี ! วีซ่า 90 วัน ดึงนักท่องเที่ยวทั้งตลาดไทยและต่างชาติที่สนใจสุขภาพ เดินหน้าส่งโปรแกรมดูแลสุขภาพที่ผสานการพักผ่อนในโรงแรมใจกลางเมือง ทำตลาด Wellness แบบครอบคลุม เช่น

– การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
– เวชศาสตร์เชิงป้องกัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปั้น Wellness Tourism ให้เติบโตในประเทศไทย

2. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดว่า จำนวนของนักท่องเที่ยวจะแตะถึง 46.96 ล้านคนภายในสิ้นปีหน้า หรือ พ.ศ.2567 นอกจากนี้ มาตรการผ่อนคลายสำหรับการเดินทางเข้าประเทศตลอดทั้งปี จะอำนวยความสะดวก และส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากกลับมาเยือนประเทศไทยมากขึ้น

 

 

สำหรับกลุ่มธุรกิจและกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าธุรกิจมากที่สุดในเศรษฐกิจเชิงสุขภาพของประเทศไทย ยกตัวอย่างมีดังนี้

อันดับที่ 1 การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลความงามและศาสตร์ชะลอวัย

อันดับที่ 2 การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพโภชนาการและการลดน้ำหนัก

อันดับที่ 3 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

อันดับที่ 4 กิจกรรมทางกายภาพ

 

เชนธุรกิจ Wellness Tourism ที่ผู้ประกอบการควรวางแผน พัฒนา ปรับปรุง เพื่อกอบโกย ดูดเงินนักท่องเที่ยว !

กลุ่มธุรกิจภาคโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ เกสต์เฮาส์ ที่พักต่าง ๆ

ธุรกิจร้านอาหารต่าง ๆ ที่ชูจุดเด่นเรื่องของเมนู แบรนด์สตอรี่ การตกแต่งร้านที่มีกลิ่นอายความเป็นไทย

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสามารถเพิ่มเติมบริการทางสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ กล่าวคือ ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงกิจกรรม ได้แก่ เดินป่า ปีนเขา ดำน้ำ การเล่นโยคะกลางน้ำ เพื่อบำบัดร่างกายและจิตใจ รวมถึง รำไท้เก๊ก พายเรือ ฯลฯ กลุ่มเหล่านี้ นักท่องเที่ยวชื่นชอบ

ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เช่น สร้างงานให้ชุมชนท้องถิ่น พาชมพร้อมเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จัดเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะดีต่อสุขภาพจิตเช่นกัน

ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์จากวัฒนธรรมท้องถิ่น นักท่องเที่ยวได้ผ่อนคลายท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบ หลีกหนีจากชีวิตสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ เช่น..

การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เรียนรู้วิถีเกษตรกรรมของชุมชน สัมผัสประสบการณ์จริงของการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ทดลองดำนา ไถนา เก็บไข่ไก่ ฯลฯ ชาวบ้านในท้องถิ่นมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับนักท่องเที่ยว

โฮมสเตย์ (Homestay) ในแง่ของการท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน นักท่องเที่ยวจะอาศัยร่วมกับเจ้าของบ้าน สัมผัสวัฒนธรรม ประเพณี การใช้ชีวิตของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด เจ้าของบ้านจะต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความเป็นมิตร ท่ามกลางบรรยากาศแบบชนบทที่เงียบสงบ จัดเตรียมอาหารเฉพาะถิ่นที่มีความแปลกใหม่ เป็นประสบการณ์พิเศษจากการท่องเที่ยว

ธุรกิจแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย ช่วยยกระดับให้การท่องเที่ยวมีคุณภาพและเข้าถึงกลิ่นอายของประเทศไทยได้มากขึ้น เช่น การนวดไทย ลูกประคบ สมุนไพรไทย บำรุงสุขภาพ หรือการแช่น้ำพุร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต การพอกโคลนที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุเพื่อดูแลสุขภาพผิว เป็นต้น

 

ตลาดนี้ฟาดฟันอย่างเดือด !

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี มีการแข่งขันในการดึงดูด “นักท่องเที่ยว” เพื่อเข้าไปใช้บริการในประเทศต่าง ๆ อย่างรุนแรง

โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในกลุ่มภูมิภาเอเชีย ซึ่งถือครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 15% ของมูลค่าการตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก โดยเฉพาะประเทศอย่าง สิงค์โปร์ อินเดีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ล้วนแล้วแต่เป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย

อย่างไรก็ตาม หากเทียบส่วนแบ่งตลาดของไทยกับภูมิภาคพบว่า อยู่ที่สัดส่วนประมาณ 38% ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ที่มีสัดส่วน 33% และหากรวมระหว่างไทยและสิงคโปร์แล้วจะมีสัดส่วน 71% ของตลาดทั้งหมดในภูมิภาค

นั่นหมายความว่า ใน 10 ประเทศภูมิภาคอาเซียน ไทยเรา เป็นอันดับ 1 ของจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสัมผัสประสบการณ์ Wellness Tourism ในประเทศไทย

 

นี่ถือเป็น “โอกาส” และ “ความท้าทาย” ในเวลาเดียวกัน สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ ที่จะทำพัฒนา ยกระดับธุรกิจ Wellness ว่าจะดึงดูดและตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกได้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ ภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งองคาพยพ ก็ต้องให้การสนับสนุน ผลักดัน ส่งเสริมผู้ประกอบการในเชนธุรกิจนี้ด้วย เพื่อดึงดูดนักเดินทาง นักท่องเที่ยว

ตลอดจนนักลงทุนจากทุกมุมโลกให้เข้ามาจับจ่ายและลงทุนในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประเทศไทยเป็น “ฮับ” ของ Wellness Tourism ยืนหนึ่งในอาเซียนในระยะยาว