ประเทศไทยขึ้นชื่อในเรื่องของ “สมุนไพร” มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกับการใช้ภูมิปัญญานำมาประยุกต์ต่อยอดสู่ยา อาหารเสริมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย หรือธุรกิจที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับตลาดนี้ที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในวันข้างหน้า
โดยในปี 2565 ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศมีมูลค่าสูงถึง 52,104 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 จะมีมูลค่าตลาดไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท และมูลค่ามีแต่จะเพิ่มขึ้นต่อไป
เมื่อเอ่ยถึงธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพรแล้ว ภาพจำของคนส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นแบรนด์ที่มีความเก่าแก่ ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลานานจนทำให้มีชื่อเสียงติดหูผู้บริโภคชาวไทยมาหลายช่วงอายุคน ซึ่งก็มีหลายแบรนด์อยู่เช่นกันที่มีความคร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจนี้ แต่ตัวอย่างของแบรนด์ที่จะยกมาเป็นกรณีศึกษาซึ่งมีความน่าสนใจ นั่นคือ “อ้วยอันโอสถ–เฌอเอม” โดยทั้งสองธุรกิจนี้มีความเหมือนกันในแง่ของวิธีการ และรูปแบบการดำเนินงาน ให้เข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราจะมาเฉลยตอนท้ายกัน
แน่นอนว่าทั้ง “อ้วยอันโอสถ” และ “เฌอเอม” ต่างเป็นแบรนด์ที่มีความเก่าแก่ในแวดวงของธุรกิจสมุนไพร โดยเริ่มกันที่ “อ้วยอันโอสถ” ก่อตั้งธุรกิจในปี 2490 โดยคุณเสถียร สมบูรณ์เวชชการ ซึ่งเป็นหมอจับชีพจร และจ่ายยาสมุนไพร เป็นร้านขายยาบริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า และถูกนำไปขึ้นทะเบียนกับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา
ต่อมาในปี 2529 ธุรกิจถูกส่งต่อให้กับคุณสิทธิชัย (บุตรชาย) ที่มารับช่วงต่อ พร้อมกับทำเดินหน้าให้มีความเป็นธุรกิจมากขึ้นด้วยการจัดตั้งบริษัท เป็นสถานที่ผลิตยา นำกรรมวิธี และเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ ปัจจุบันธุรกิจเดินหน้าเข้าสู่การบริหารของคุณชนรรค์ ทายาทรุ่นที่ 3
สำหรับผลิตภัณฑ์ของ “อ้วยอันโอสถ” มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ยาแคปซูล, ยาน้ำ, ยาลูกกลอน, อาหารเสริม, ชาชงสมุนไพร, ยาผง, ยาเม็ด
ผลประกอบการ บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด
-ปี 2563 รายได้รวม 276 ล้านบาท กำไร 13.6 ล้านบาท
-ปี 2564 รายได้รวม 299 ล้านบาท กำไร 16 ล้านบาท
-ปี 2565 รายได้รวม 311 ล้านบาท กำไร 18 ล้านบาท
ส่วนแบรนด์ “เฌอเอม” แม้ว่าจะก่อตั้งมาได้ 20 ปีกว่า ๆ แต่แบรนด์นี้ก็ต่อยอดมาจาก “ยาตราใบโพธิ์” ที่มีอายุยาวนานมากกว่า 100 ปี โดยคุณอัครพัจน์ ตั้งตรงจิตร ซึ่งเป็นทายาท เรียนจบจากเมืองนอกเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว ด้วยประสบการณ์ที่สะสมมาก่อนที่จะมองเห็นถึงโอกาสสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น แม้จะมีความสุ่มเสี่ยงก็ตาม
สำหรับผลิตภัณฑ์ตัวแรกของแบรนด์ “เฌอเอม” คือยาดม ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การบูรหอม, พิมเสนน้ำ, น้ำมันเหลือง, ยาหม่อง
ผลประกอบการห้างหุ้นส่วนจำกัด จิสประพัจน์
-ปี 2562 รายได้รวม 12 ล้านบาท กำไร 3.6 แสนบาท
-ปี 2563 รายได้รวม 14 ล้านบาท กำไร 1.5 ล้านบาท
-ปี 2564 รายได้รวม 26 ล้านบาท กำไร 9.4 แสนบาท
ความเหมือนกันของสองแบรนด์ธุรกิจ
“ความเหมือน” ที่กล่าวไปในช่วงต้นคำตอบก็คือ ทั้งคู่เป็น “ธุรกิจครอบครัว” แต่ก็มีเส้นทางที่จะอยากเปลี่ยนแปลงแบรนด์ที่ไม่เหมือนกัน โดยคุณชนรรค์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของอ้วยอันโอสถได้รับมอบหมายให้พัฒนายาสมุนไพร เพื่อให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบัน ขณะเดียวกันด้วยความที่เป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งมายาวนาน ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์อาจจะดูโบราณในสายตาผู้บริโภค ซึ่งเจ้าตัวมีความตั้งใจอยากจะลบภาพจำนี้ออกไป และอยากให้เป็นแบรนด์ที่ทุกเพศ ทุกวัย สามารถใช้ได้ จึงนำมาสู่การรีแบรนด์ครั้งสำคัญ ปรับโลโก้ เปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้มีความทันสมัยมากขึ้น
ด้านคุณอัครพัจน์ แห่ง “เฌอเอม” ก็มีแนวคิดที่อยากจะปรับเปลี่ยนเช่นกัน ด้วยความที่เป็นเด็กจบใหม่ ไฟแรง จึงอยากนำองค์ความรู้ที่เรียนมากลับมาใช้กับธุรกิจครอบครัว แต่ความที่ประสบการณ์ และอายุที่ยังน้อยอยู่เลยไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากคณะผู้บริหาร สุดท้ายตัดสินใจออกมาเปิดบริษัทของตนเอง พร้อมเริ่มก่อตั้งโรงงานในปี 2544 ซึ่งเจ้าตัวต้องลงแรงบริหารงานเกือบทั้งหมด จนปัจจุบันแบรนด์ได้รับความนิยม กลายเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค
อาจจะกล่าวได้ว่า ธุรกิจครอบครัว แม้ว่าจะมีการวางระบบรากฐานการบริหาร การผลิตมาเป็นระยะเวลายาว และดูมั่นคงอยู่แล้ว แต่เรื่องหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย นั่นคือการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัย ตามบริบททางสังคม และพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ สามารถพาแบรนด์ที่ถูกมองว่าเก่า โบราณ ให้เข้ามาอยู่ในใจลูกค้าอย่างที่ทายาททั้งคู่กำลังทำอยู่ตอนนี้
ที่มา: อ้วยอันโอสถ, เฌอเอม, bangkokbanksme, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า