กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย “ที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนในประเทศไทย” พบนักลงทุนไทยแห่จัดตั้งธุรกิจใหม่ 8.5 หมื่นราย ทุนจดทะเบียนรวมกว่า 5.6 แสนล้าน ส่วนต่างชาติหอบเงินลงทุนเข้าไทย แตะ 1.3 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับ 1 ประเทศเข้าลงทุนมากที่สุด
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าเป็นธรรมเนียมทุกปีที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะนำข้อมูลจากปีที่ผ่านมาจากคลังข้อมูลธุรกิจ DBD DataWarehouse+ มาวิเคราะห์ และทำการประมวลผลภาพรวมการลงทุนการลงทุนในประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในวิเคราะห์คู่แข่งทางการตลาดก่อนตัดสินใจลงทุนนำเสนอออกมาเป็น “ที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนในประเทศไทย
สำหรับในปี 2566 มียอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ทะลุ 85,300 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 8,812 ราย หรือ 12% ซึ่งเป็นยอดจัดตั้งธุรกิจสูงสุดในรอบ 10 ปี มีทุนจดทะเบียนรวมกว่า 562,469.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 132,640.83 ล้านบาท หรือ 31% แบ่งเป็นรูปแบบ บริษัทจำกัด 72,139 ราย, ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 13,086 ราย และบริษัทมหาชนจำกัด 75 ราย โดยแบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก SMEs จำนวน 85,233 ราย และขนาดใหญ่ L จำนวน 67 ราย
โดย 5 ประเภทธุรกิจที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่
อันดับ 1 ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 6,524 ราย ทุน 13,236.72 ล้านบาท
อันดับ 2 ธุรกิจอังหาริมทรัพย์ จำนวน 6,393 ราย ทุน 29,289.12 ล้านบาท
อันดับ 3 ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 4,001 ราย ทุน 8,046.23 ล้านบาท
อันดับ 4 ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่น ๆ จำนวน 2,046 ราย ทุน 4,034.23 ล้านบาท
อันดับ 5 ธุรกิจตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,943 ราย ทุน 6,413.98 ล้านบาท
เมื่อทำการวิเคราะห์การจัดตั้งนิติบุคคลปี 2566 พบว่าจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่า 12% ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการทำธุรกิจในภาคต่าง ๆ ทั้งธุรกิจภาคบริการ ภาคค้าส่ง/ค้าปลีก และภาคการผลิต โดยในส่วนภาคบริการ คิดเป็น 58% ของจำนวนจัดตั้งทั้งหมด ซึ่งมีธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น คือธุรกิจกิจกรรมเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ 366 ราย เติบโต 1.46 เท่า ธุรกิจกิจกรรมของสำนักงานจัดหางานหรือตัวแทนจัดหางาน 43 ราย เติบโต 1.39 เท่า และธุรกิจกิจกรรมบริการที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง 707 ราย เติบโต 1.36 เท่า
ส่วนการเลิกประกอบธุรกิจในปี 2566 มีทั้งสิ้น 23,380 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 1,500 ราย มูลค่าทุนเลิกประกอบกิจการ 160,056.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 33,008.08 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มีการเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2,166 ราย 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,146 ราย และ 3.ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 699 ราย
ขณะเดียวกัน ต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในไทยแตะ 1.3 แสนล้านบาท โดย 3 ประเภทธุรกิจที่ได้รับความนิยม ได้แก่ บริการรับจ้างผลิต, บริการด้านคอมพิวเตอร์ และบริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการ โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด มีนักลงทุนจำนวน 137 ราย เงินลงทุนรวม 32,148 ล้านบาท
ด้านภาพรวมธุรกิจในปี 2567 คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามคาดการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.7-3.7% และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 2.7% สอดคล้องกับกระทรวงการคลังที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี จากปัจจัยสนับสนุนของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมาตรการภาครัฐด้านต่าง ๆ ที่ช่วยส่งเสริมการบริโภคของภาคเอกชน เช่น โครงการ e-Refund, มาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-receipt มาตรการแก้หนี้นอกระบบ และนโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ที่จะช่วยสร้างกระแส ความนิยม มูลค่าเพิ่มให้กับเรื่องต่าง ๆ