การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามีแนวโน้มแข็งค่าและผันผวนมากขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และล่าสุดเงินบาททุบสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี โดยในช่วงหนึ่งจองการซื้อขายเงินบาท ที่เงินบาทแข็งมากที่สุดคือแตะ 29.08 บาท/ดอลลาร์ ก่อนปรับตัวลงมาและปิดตลาดได้ที่ 29.10-29.13 บาท/ ดอลลาร์
ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังมีแนวโน้มว่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องจากเงินทุนไหลเข้า จนมีความกังวลกันว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจออกมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าอย่างที่เคยพยายามทำมาแล้วเมื่อปลายปี 2549 ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วง 50.55 ขณะที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ออกมาระบุว่า “หุ้นร่วงเป็นเพราะคนไทยปั่นกันเอง”
ส่วนสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าทุบสถิติ 16 ปีนั้น นางสุชาดา กิระกุล ที่ปรึกษาผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท. กำลังดูรายละเอียดของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้นสุทธิมีไม่มาก ส่วนตลาดพันธบัตรก็ไม่เยอะนัก แต่เห็นบางรายการมียอดขายดอลลาร์ออกจำนวนมาก แต่ช่วงนั้นอาจเป็นจุดที่นักลงทุนรู้สึกว่าถึงจังหวะที่ต้องขาย และเมื่อเงินบาทแข็งขึ้นถึงระดับก็จะมีคนเข้ามาซื้อ เพราะฉะนั้น กลไกตลาดมีทั้งอุปสงค์และอุปทานที่คอยปรับสมดุลของตลาดเอง แต่ระหว่างที่กลไกตลาดปรับสมดุลอาจทำให้ค่าเงินขึ้นลงได้กว้างขึ้น หรือมีความผันผวนกว้างขึ้นเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา
“แต่ที่แน่ๆ แบงก์ชาติกำลังติดตามดูการเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิดว่า เงินที่เข้ามามีวัตถุประสงค์อะไร เป็นการเก็งกำไรหรือไม่ ถ้าไม่เก็งกำไร ก็ต้องปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด เรื่องนี้แบงก์ชาติพูดมาระยะหนึ่งแล้วว่า ค่าเงินต้องเป็นตัวปรับสมดุล ดังนั้น ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าต้องบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น” นางสุชาดากล่าว อย่างไรก็ตาม นางสุชาดาระบุว่า การดูการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะดูช่วงสั้นๆ ไม่ได้ ต้องมองให้ยาวขึ้น โดยหากดูค่าเงินบาทต่อค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น 4.59% เป็นการแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค
นางสุชาดาระบุว่า การที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลอื่นๆ มีหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเดิมและปัจจัยใหม่ที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และจะไม่เกาะกลุ่มกับสกุลเงินในภูมิภาคเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยต่างๆ ที่ว่านั้นมีดังนี้
ปัจจัยแรก คือ เกิดภาวะ risk-on sentiment นักลงทุนต้องการออกมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะฟื้นตัว เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ล่าสุดมีข่าวปัญหาของไซปรัสคลี่คลาย และการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้น จึงเกิด risk-on sentiment ทำให้จึงไหลเข้ามาลงทุนในภูมิเอเชีย ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าประเทศเขา และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่นักลงทุนมักเข้าไปลงทุนคือ หุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยที่ 2 พื้นฐานเศรษฐกิจไทยดีและแข็งแกร่ง ดูจากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีที่เกิดน้ำท่วมหดตัวเหลือแค่ 0.1% แต่หลังจากนั้นก็ปรับตัวดีขึ้น จีดีพีขยายตัวถึง 6.4% ในปี 2555 สะท้อนว่าเศรษฐกิจปี 2555 ฟื้นตัวชัดเจน และในปี 2556 ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีต่อเนื่องจนคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวประมาณ 5% และที่สำคัญ ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี คือ เงินเฟ้อไม่มีปัญหา ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ใกล้สมดุล และระบบการเงินมีเสถียรภาพ
ปัจจัยที่ 3 นักลงทุนต่างประเทศนำเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะมีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลขึ้น ยอดคงค้างล่าสุด นักลงทุนต่างประเทศถือพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 8 แสนล้านบาท แต่ที่ผ่านมาสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศที่ถือพันธบัตรรัฐบาลมีไม่ถึง 10% ขณะที่มาเลเซียมีสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศถือพันธบัตรรัฐบาลถึง 30% ดังนั้น สัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศที่ถือพันธบัตรรัฐบาลไทยต่ำ จึงมีโอกาสที่นักลงทุนต่างประเทศจะลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยได้เพิ่มขึ้นอีก
ปัจจัยที่ 4 บริษัทจัดอันความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติงส์ ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของไทยเพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทยเป็น BBB+ แนวโน้มมีเสถียรภาพ แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ทำให้นักลงทุนรู้สึกดีกับประเทศไทย
ปัจจัยที่ 5 มีผู้ส่งออกขายดอลลาร์จำนวนมาก ปกติผู้ส่งออกขายอยู่แล้ว โดยมีการขายล่วงหน้า แต่เมื่อบาทแข็งอาจทำให้เร่งขายเร็วขึ้น เพราะพยายามป้องกันความเสี่ยงตัวเอง
ปัจจัยที่ 6 รัฐบาลออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-Linked Bond: ILB) รุ่นอายุ 15 ปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนต่างประเทศ จึงสนใจซื้อ 60-70% ทำให้มีเงินในส่วนนี้ไหลเข้ามาด้วย
ปัจจัยที่ 7 ที่ผ่านมาการเมืองไทยมีเสถียรภาพดี ไม่มีปัญหาอะไร และนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ทำให้นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจไทยถือว่ามีศักยภาพดีน่าลงทุน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อาทิ บางประเทศในภูมิภาคมีความไม่ชัดเจน เช่น มาเลเซีย กำลังจะเลือกตั้งในเดือนเมษายนนี้ สิงคโปร์มีปัญหาเงินเฟ้อสูง เกาหลีใต้ก็มีปัญหาเรื่องการทดลองอาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ ยุโรปก็มีปัญหาวิกฤติหนี้ ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนรัฐบาลและเปลี่ยนนโยบายมุ่งเพิ่มเงินเฟ้อ
ที่มา : thaipublica.org