เอสเอ็มอีแบงก์ เดินหน้าตามพันธกิจธนาคารเพื่อการพัฒนา ตั้งสายงานพัฒนาผู้ประกอบการและร่วมลงทุน ขับเคลื่อนช่วย SMEs


 

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ได้แถลงข่าว “พันธกิจใหม่ขับเคลื่อน SMEs และ ผลประกอบการเดือนมกราคม 2559” โดยนางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ ดังนี้

1. พันธกิจใหม่ขับเคลื่อน SMEs ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับเอสเอ็มอีแบงก์ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมานั้น ได้เน้นย้ำให้ เอสเอ็มอีแบงก์ มีจุดยืนของการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งนอกเหนือจากการสนับสนุนเงินทุนแล้ว สิ่งสำคัญจะต้องเข้าไปดูแลผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยให้มากขึ้น ช่วยเติมเต็มช่องว่างทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ รวมถึงการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา โดยการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย การฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการ เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการสร้างงานของประเทศ โดยเห็นด้วยกับภารกิจของธนาคารในการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา ทำหน้าที่ตรงจุดนี้ให้ได้ตามที่กำหนดไว้ นโยบายที่ท่าน รมต. กล่าวนี้ สอดคล้องกับแผนงานในปี 2559 ของเอสเอ็มอีแบงก์อยู่แล้ว คณะกรรมการของธนาคาร ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 เช่นกัน และมีมติเห็นชอบให้จัดกระบวนการรองรับการก้าวขึ้นสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา SMEs อย่างแท้จริง โดย

(1) ปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มสายงานพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย 4 ฝ่ายงาน คือ ฝ่ายพัฒนา Start up ฝ่ายพัฒนา SMEs ที่ดำเนินการอยู่แล้ว ( Regular) และฝ่ายร่วมลงทุนอีก 2 ฝ่าย

(2) อนุมัติจัดสรรงบประมาณไม่เกิน 30% ของกำไรจากการดำเนินงาน เพื่อนำมาใช้ในงานพัฒนาผู้ประกอบการโดยตรง (ประมาณ 350 ล้านบาทต่อปี) เช่น ให้การสนับสนุนในการนำนวัตกรรมมาใช้ปรับปรุงสินค้าและบริการ ตลอดจนสนับสนุนด้านการตลาดและการขาย ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริม SMEs อีกทางหนึ่ง โดยไม่สิ้นเปลืองงบประมาณที่มีอยู่จำกัดของรัฐบาล และธนาคารเล็งเห็นว่าการพัฒนาและสนับสนุนให้ SMEs มีการจัดทำระบบบัญชีเดียว โดยเฉพาะการให้ความรู้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการจัดทำระบบบัญชีเดียว เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น เป็นภารกิจสำคัญ ธนาคารจึงได้จับมือกับพันธมิตร อาทิ สำนักบัญชีคุณภาพ กระทรวงพาณิชย์ ที่มีเครือข่ายนักบัญชีคุณภาพอยู่ทั่วประเทศให้ร่วมเป็นพี่เลี้ยง SMEs ด้วย ทั้งนี้จำนวนเงินในการพัฒนาเป็นต่างหากจากการร่วมลงทุน ซึ่งครม.มีมติให้ธนาคารดำเนินการร่วมทุนในวงเงิน 2,000 ล้านบาทอยู่แล้ว

(3) ดูแลการบริหารบุคลากรให้มีคุณสมบัติในการขับเคลื่อนพันธกิจการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาและสอดรับกับที่แผนยุทธ์ศาสตร์ฟื้นฟูกำหนดไว้ โดยได้อนุมัติโครงการร่วมใจจาก (Golden Handshake) ตามที่ฝ่ายจัดการเสนอมา ซึ่งจะเปิดให้ผู้บริหารระดับ ผู้อำนวยการฝ่าย ถึง รองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งมีอายุงานเหลือไม่มากนัก โดยมีจำนวนและอายุเฉลี่ยประมาณ 52 – 57 ปี ทั้งนี้ จะดำเนินการโดยใช้หลักของความสมัครใจขอเกษียณอายุก่อนกำหนด รายละเอียดของโครงการที่กำหนดต่อไป นอกจากนี้ จะจัดให้มีการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องต่อไป

2. โครงการร่วมลงทุน ขณะนี้ได้ดำเนินการรุดหน้าไปมาก ธนาคารได้อนุมัติในหลักการแล้วจำนวน 3 ราย วงเงินรวม 20 ล้านบาท ซึ่งได้ลงทุนไปแล้ว 1 ราย คือ บริษัทฟรุตต้า เนเชอรัล จำกัด เป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นลงทุนได้อีก 2 ราย คือ บริษัทไทยริชฟูดส์ กรุ๊ป จำกัด ธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมไทยแช่แข็ง และบริษัท บ้านผลไม้ (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลไม้อบแห้ง และยังมีกิจการที่สนใจเข้าร่วมลงทุนอีก 6 กิจการ วงเงินรวม 110 ล้านบาท รวมถึงธนาคารยังเพิ่ม Trust Manager ที่มาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาให้ผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะนี้มีมากถึง 6 ราย

3. ผลประกอบการ หลังจากธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,339 ล้านบาทในปี 2558 นั้น สำหรับเดือนมกราคม 2559 ธนาคารยังคงมีกำไรสุทธิต่อเนื่อง 190 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้เพิ่มขึ้น 5,743 ล้านบาท (1,877ราย) โดยสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อ Soft Loan ประมาณ 3,600 ล้านบาท 1,168 ราย และสินเชื่อ Policy Loan ประมาณ 1,900 ล้านบาท 561 ราย นอกจากนี้ ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่ต่ำได้อีกด้วย ณ มกราคม 2559 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 90,181 ล้านบาท เป็นจำนวนลูกหนี้ 70,934 ราย เฉลี่ยรายละ 1.27 ล้านบาท

4. สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ซึ่งเป็นจุดเน้นที่ คนร.ให้ธนาคารลดลงให้ได้ ปรากฎว่า เดือนมกราคม 2559 NPLs เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 143 ล้านบาท จาก 23,452 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2558 เป็น 23,595 ล้านบาท ในเดือน มกราคม 2559 แต่สัดส่วน NPL ลดลงจาก 27.23 % เป็น 26.16% ทั้งนี้ NPL ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรายย่อยที่มีมาแต่เดิมทางภาคใต้ ซึ่งทำธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ที่โยงกับพืชผลการเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำ อย่างไรก็ดี ลูกหนี้เหล่านี้ยังประกอบกิจการอยู่ กอปรกับรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือไม่ให้ราคายางตกต่ำ ธนาคารจึงเชื่อว่าจะช่วยพยุงฐานะลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารยังมีนโยบายจะขาย NPLs ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้แล้วอีกจำนวนหนึ่งในปี 2559 ด้วย

5. กรณีสำรอง FRCD เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ธนาคารชนะคดี แม้ว่ามาตรฐานบัญชีและความเห็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย จะเปิดให้ธนาคารโอนเงินสำรอง FRCD ประมาณ 2,000 ล้านบาทกลับมาเป็นรายได้ แต่คณะกรรมการธนาคารยึดหลักความระมัดระวังและได้ประมาณการอย่างสมเหตุสมผล จึงมีมติยังไม่โอนเป็นรายได้ในปี 2558 โดยยังคงส่วนหนึ่งไว้เป็นสำรอง FRCD ตามเดิม และอีกส่วนหนึ่งจะโอนเข้าเป็นสำรองส่วนเกิน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างฐานะของธนาคารให้มีความมั่นคงมากขึ้น

6. การดูแลเรื่องธรรมาภิบาล คนร. ให้ความสำคัญการสอบสวนความผิดกฎเกณฑ์ของพนักงานธนาคารให้เสร็จสิ้น ธนาคารจึงได้จัดให้มีกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน ประกอบด้วยคณะกรรมการหลายชุด และได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ขณะนี้ธนาคารได้เร่งรัดการสอบสวนให้แล้วเสร็จ เชื่อว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะสามารถดำเนินการได้เกือบครบทุกเรื่อง ซึ่งมีจำนวน 6 เรื่อง และคณะกรรมการสอบสวนจะรายงานผลต่อคณะกรรมการธนาคาร และจะส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการอีกชุดหนึ่งพิจารณาดำเนินการทางวินัยต่อไป

ที่มา : smartsme.tv