เราท่านคงได้เห็นข่าวจีนได้เปิดใช้สะพานที่ยาวที่สุดในเอเชีย ข้ามแม่น้ำหลงเจียงเพื่อจะเชื่อมการคมนาคมไปยังประเทศพม่ากันมาแล้ว ก็สมแล้วล่ะที่สื่อน้อยใหญ่ทั่วโลกนำข่าวนี้ไปนำเสนอต่ออย่างเอิกเกริก เพราะว่ามันสมควรเป็นข่าวใหญ่จริง ๆ นอกจากสะท้อนถึงความก้าวหน้าในเทคโนโลยีวิศวกรรมการก่อสร้างแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนของมหาอำนาจแดนมังกรพร้อมกันไปด้วย
สะพานข้ามหลงเจียงใช้เวลาสร้างราว 5 ปี เชื่อมหุบเหวลึกและภูเขาสูงสองฟากฝั่งอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยความกว้าง 33.5 เมตร ความยาว 8,100 ฟุต หรือ 2,471 เมตร ใช้งบประมาณก่อสร้าง 1,470 ล้านหยวน ข่าวระบุว่า สะพานนี้ใช้เชื่อมการคมนาคมระหว่างเมืองเป่าซางกับเมืองเถิงชง เพื่อจะไปยังประเทศพม่าต่อไป
พูดถึงเรื่องการก่อสร้างถนนหนทางแล้ว จีนนี่ยอดจริงๆ นะครับ มณฑลยูนนานเป็นเขตที่มีแต่ภูเขาสลับซับซ้อนมาแต่โบราณ เป็นอุปสรรคของการค้าคมนาคมและทุกๆ ด้าน แต่ทว่าจีนยุคใหม่สร้างถนนและทางรถไฟด้วยวิธีใหม่ ตรงไหนเป็นภูเขาก็เจาะภูเขาเข้าไป ตรงไหนเป็นหุบเหวก็สร้างสะพานยกสูงขึ้นมา ทำให้การเดินทางเป็นเส้นตรง สะดวกง่ายดายขึ้นมาก ยูนนานในยุคนี้ไม่มีปัญหาเรื่องการคมนาคมแล้ว ทั้งจะยังเป็นต้นทางเชื่อมโยงที่สำคัญที่จีนใช้เชื่อมไปสู่ประเทศรายรอบตามแนวนโยบายทางสายไหมยุคใหม่อีกต่างหาก
สังเกตดูจากโซเชี่ยลมีเดียและคอมเมนท์ท้ายข่าวจำนวนหนึ่งพบว่า คนไทยเราจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าสะพานยักษ์แห่งนี้ เพิ่งจะเปิดเชื่อมการคมนาคมระหว่างจีนกับพม่าให้สะดวกขึ้น หรือบางท่านอาจจะคิดทำนองว่า ต่อจากนี้ไปการคมนาคมทางถนนระหว่างพม่ากับจีนจะได้เริ่มเปิดใช้… ซึ่งหากใครคิดแบบนั้น กรุณาทราบว่าท่านเข้าใจผิดไปถนัด
นั่นเพราะว่าเส้นทางการคมนาคมเชื่อมระหว่างพม่ากับมณฑลยูนนานนั้นเขาเปิดเชื่อมไปมาหาสู่ต่อกันมานานแล้ว และถนนหนทางก็มาตรฐานสะดวกรวดเร็วอย่างยิ่งอยู่เดิมแล้วในระดับทางด่วน หรือ Express way ด้วยซ้ำไป แล้วก็ไม่เกี่ยวอะไรกับสะพานยักษ์ยาวสองกิโลเมตรตัวนี้เลย
หากท่านลองใช้กูเกิ้ลแผนที่ ดูพื้นที่ระหว่าง รุ่ยลี่ Ruili กับ ต้าหลี่ Dali จะสังเกตถนนใหญ่สีส้มเป็นแนวลากเฉียงลงมามีอักษร G 56 กำกับ ทางด่วนเส้นนี้ก็คือถนนสายสำคัญของจีนที่เชื่อมมณฑลทางตะวันออก จากหางโจวพาดผ่านพื้นที่ตอนในเฉียงสะพายแล่งจากตะวันออกเฉียงเหนือลงมาถึงยูนนานไปสุดที่ด่านพรมแดนรุ่ยลี่-พม่าทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ความยาว 2,935 กิโลเมตร ยาวกว่าเหนือจรดใต้ของประเทศไทยเสียอีก เพราะระยะทางจากแม่สายถึงสุไหงโก-ลก มีความยาว 2,028 กิโลเมตรเท่านั้น
สะพานข้ามแม่น้ำหลงเจียง ที่แล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้นั้นจะเป็นอีกเส้นทางหนึ่ง ที่แยกออกจากทางด่วนหมายเลข G 56 เริ่มจากเมืองเป่าซาน (Baoshan) ไปยังเมือง เถิงชง (Tengchong) ไปตามถนนสาย S10 เข้าสู่พรมแดนพม่าตอนเหนือทางด้านรัฐคะฉิ่น ใกล้กับเมืองมิตจินา
ประเด็นความน่าสนใจของสะพานหลงเจียงจึงอยู่ที่ความเป็นเส้นทางใหม่ ที่เดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น เชื่อมจีนไปถึงภาคเหนือของพม่าโดยตรง
ซึ่งต่อไป จีนน่าจะยกระดับเป็นด่านการค้าสำคัญทางด้านนี้ เชื่อมยูนนานกับพม่าขึ้นมาอีกจุดในอนาคต เป็นด่านเน้นไปที่ภาคเหนือของพม่าซึ่งเป็นเขตที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มาก และยังเชื่อมไปยังรัฐอัสสัมของอินเดียได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ทางสายไหมตอนใต้สมัยโบราณที่เรียกว่าเส้นทางสายชา-ม้าต่าง สายหนึ่งมาจากยูนนานแยกที่ต้าหลี่ขึ้นไปทิเบต อีกเส้นหนึ่งมุ่งหน้าตะวันตกเพื่อไปยังอัสสัมก็จะผ่านเส้นทางแถบนี้นี่เอง
และนี่ก็จะเป็นอีกหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง One Belt, One Road ที่จีนจะบุกเบิกสร้างโอกาส การค้า การลงทุน และอิทธิพลขึ้นในยุคสมัยใหม่ เพราะจะว่าไปเส้นทางการค้าหลักที่ด่านรุ่ยลี่เพื่อเชื่อมไปยังเมืองล่าเสี้ยว มัณฑะเลย์ นั้น ปัจจุบันเติบโตอย่างถึงขีดสุด โมเดลการพัฒนาด่านชายแดนพม่าของจีนเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เพราะเขาขีดเส้นพื้นที่ชายแดนบริเวณนั้นให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่พิเศษจริงๆ ดึงดูดการค้าการลงทุนชีพจรเศรษฐกิจทั้งมวลไปอยู่ ณ ที่นั่น
พื้นที่พิเศษดังกล่าวเรียกว่า เขตการค้าชายแดนเจี่ยเก้า รัฐบาลจีนได้ประกาศเมื่อปี 2000 คือเมื่อ 15 ปีก่อนให้เขตดังกล่าวเป็นเขตแดนนอกศุลกากร ปลอดภาษี เปิดให้ลงทุนแปรรูปสินค้าที่ด่านชายแดนได้ จากนั้นเจี่ยเก้า-รุ่ยลี่ก็เติบโตแบบก้าวกระโดด นอกจากเส้นทางถนนแล้วพื้นที่ละแวกนั้นยังเป็นจุดเชื่อมสำคัญของท่อก๊าซจากอาระกัน ประเทศพม่า นั่นทำให้ด่านอันดับหนึ่งแห่งนี้ทวีความสำคัญขึ้นมาอีก ด่านรุ่ยลี่แน่นจนเต็มแล้ว มันก็สมควรจะมีช่องทางอื่นเพิ่มขึ้นเพื่อแบ่งเบา
สำหรับถนนเส้นใหม่ซึ่งสะพานข้ามหลงเจียงกำลังทอดไปถึงพรมแดนรัฐคะฉิ่นนั้น แม้ว่าจะมีช่องทางติดต่อและด่านพรมแดนก็จริง แต่ยังเป็นด่านที่ไม่ได้พัฒนา ซ้ำพื้นที่ส่วนใหญ่ทางด้านพม่าหรือให้ถูกก็คือทางด้านรัฐคะฉิ่น อยู่ใต้การควบคุมของ กองกำลังติดอาวุธคะฉิ่น และโกก๊าง แถมพื้นที่บริเวณดังกล่าวยังเคยเป็นชนวนความขัดแย้งพรมแดนระหว่างจีนกับพม่ามาหยกๆ ด้วยซ้ำไป
เมื่อต้นปีที่แล้ว ทางการพม่าได้จับกุมชาวจีนลักลอบข้ามเขตแดนรัฐคะฉิ่นมาตัดไม้ จับกุมคนได้ 153 คน แถมรถบรรทุกขนาดใหญ่เป็นคาราวานร่วมร้อยคันเพื่อรอจะขนไม้ท่อนออกไปยังประเทศจีน จำนวนคนและรถสะท้อนว่าการลอบเข้ามาตัดไม้ล็อตนั้นมันมหาศาลขนาดไหน รัฐบาลจีนพยายามติดต่อกดดันประธานาธิบดีเต็งเส่งให้ปล่อยคนออก แต่รัฐบาลพม่ายืนกรานที่ต้องรักษาอธิปไตยไว้ ดำเนินคดีไปจนถึงชั้นศาลให้ศาลตัดสินจำคุกเสียก่อนแล้วค่อยนิรโทษกรรมปล่อยตัวออกไปตอนปลายปีก่อนหน้าเลือกตั้งใหญ่ไม่นาน กรณีดังกล่าวแท้จริงแล้วไม่ใช่ชาวจีนเหิมเกริมลอบข้ามพรมแดนมาตัดไม้พม่าเล่นอะไรหรอกครับ แต่สืบเนื่องมาจากพื้นที่บริเวณนั้นเป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังกะเหรี่ยง มันจึงเกิดมีการขายตั๋วทำไม้ให้กับทุนจีนขึ้นมา เรื่องนี้ก็สะท้อนว่ารัฐบาลกลางพม่าเองก็เพิ่งจะขยับอำนาจมาควบคุมพื้นที่ภาคเหนือได้ (จริงๆ) ก็เมื่อไม่นานเท่าไหร่ ล่าสุดรัฐบาลถิ่นจ่อ-ซูจี ได้ประกาศนโยบายใหม่ที่จะไม่ให้สัมปทานทำไม้อีกแล้ว ซึ่งนโยบายนี้ไม่ใช่แค่ตัดทางหากินของทุนทหารที่เคยอิ่มหมีพีมันกับทรัพยากรประเทศเท่านั้น ยังไปทุบหม้อข้าวของกองกำลังชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มตามแนวพรมแดนด้วย
พื้นที่รัฐคะฉิ่นที่จีนกำลังสร้างถนนชั้นดีพุ่งตรงเข้าไปยังไม่สงบเท่าไหร่ เขตพื้นที่ใกล้เคียงกันตอนใต้ลงมาซึ่งติดกับพรมแดนจีนเช่นกันเป็นเขตอิทธิพลของกลุ่มโกก๊าง นี่ก็เคยมีการสู้รบแย่งอำนาจกันต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557-2558 และเป็นชนวนพิพาทระหว่างจีนกับพม่าครั้งสำคัญที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีกลาย เพราะเครื่องบินของพม่าบินล้ำแดนไปทิ้งระเบิดใส่กองกำลังสู้รบที่ติดพันกัน บังเอิญไปโดนใส่ราษฎรจีน เท่านั่นแหละครับ รัฐบาลปักกิ่งส่งกองทัพใหญ่มาซ้อมรบอยู่ริมพรมแดนพม่าส่งสัญญาณสั่งสอนให้เนปิดอว์รู้สึก
ดังนั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่า พื้นที่ตอนเหนือของพม่า ทั้งรัฐคะฉิ่นและพื้นที่พรมแดนใกล้เคียงที่โกก๊างมีอิทธิพลอยู่ เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสัมพันธ์ซับซ้อนในเชิงการเมือง ระหว่างสองประเทศนี้มาก่อนแล้ว และจีนกำลังสร้างถนนอย่างดีตัดพุ่งตรงเข้าไปในเขตพื้นที่นั้น
จีนกับพม่านั้นมีพรมแดนติดกัน จีนเคยมีอิทธิพลเหนือพม่าอย่างยิ่งจนยุคหลังนี้เองที่รัฐบาลเนปิดอว์หันไปคบสหรัฐอเมริกาเพื่อบาลานซ์อำนาจมังกร แต่รัฐบาลใหม่ถิ่นจอ-ซูจีก็ไม่ได้ถึงขนาดหันหลังให้ปักกิ่ง เพราะหันไม่ได้ ต้องคบหากันต่อไป พื้นที่ภาคเหนือแถวรัฐคะฉิ่นเป็นพรมแดนด้านที่จีนมีอิทธิพลข้ามเข้ามาในพื้นที่พม่าอย่างชัดเจน ผ่านชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ทรัพยากรของที่นั่นก็ถูกจีนสูบไปไม่น้อยในระหว่างที่รัฐบาลกลางยังยื่นมือไปไม่ถึง
ถนนสาย S10 ที่มีสะพานหลงเจียงมหึมาพาดข้ามไปสู่…ไม่ได้นำมาซึ่งการค้าการลงทุนเท่านั้น หากยังนำอิทธิพลของจีนไปปกคลุมภาคเหนือของพม่า ให้มั่นคงสถาพรยิ่งขึ้น.