บูรพา-อาคเนย์ ตอนปางโหลง 2 : จุดเริ่มต้นของสหพันธรัฐพม่าแห่งศตวรรษ21 ? : บัณรส บัวคลี่


เวทีเจรจาปางโหลง#2 เป็นดำริริเริ่มของนางอองซานซูจี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและมุขมนตรีแห่งรัฐ (State Counsellor) โดยการจะเปิดโต๊ะเจรจาหาอนาคตร่วมกันกับแกนนำชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ แบบเดียวกับที่นายพลอองซานบิดาของเธอเคยร่วมประชุมและลงนามในสนธิสัญญาปางโหลงก่อนที่พม่าจะได้เอกราชเมื่อครั้งกระโน้น

สนธิสัญญาปางโหลงรอบแรก (1947) ที่ได้ระบุว่ารัฐบาลพม่าจะจัดรูปแบบของรัฐให้เป็นสหพันธรัฐ ชนกลุ่มน้อยต่างๆ แยกกันไปปกครองกันเองภายใต้ร่มธงประเทศเดียวกัน แต่สนธิสัญญาดังกล่าวถูกฉีกไป แล้วพม่าก็ปกครองโดยระบอบทหารมายาวนานจากยุคเนวินมาถึงสลอร์ค-เอสพีดีซี เพิ่งจะมีการเลือกตั้งต่อเนื่อง 2 ครั้งในช่วง 5-6 ปีหลังนี้เอง ในระหว่างนั้นรัฐบาลทหารพม่าก็รบเอาเถิดกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ รบไปบ้างเจรจากันไปบ้าง ไม่เคยมีห้วงเวลาที่สงบสันติอย่างแท้จริงมาตลอด 50 กว่าปี

“ปางโหลง” จึงเป็นถ้อยคำสัญลักษณ์ที่มีน้ำหนักในทางการเมืองสูงมาก ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธสู้รบกับรัฐบาลมักจะอ้างอิงความชอบธรรมจากปางโหลงขึ้นมาก่อน และมันก็เป็นรอยตำหนิของชนชาติพม่าผู้ปกครองจริงๆ ที่จงใจบิดพลิ้วด้วยความคิดที่ว่าหากปล่อยให้สนธิสัญญาปางโหลงดำเนินต่อไปตามนั้น มีโอกาสสูงมากที่ประเทศพม่าอันยิ่งใหญ่แห่งอุษาคเนย์จะแตกออกเป็นเสี่ยง เกิดการประกาศอิสรภาพทยอยตามมาเป็นลูกโซ่

ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีคิด และเป็นเหตุเป็นผลของฝ่ายชาวพม่าอย่างแท้จริง หากย้อนกลับไปดูบริบทแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้นที่เป็นยุคสงครามเย็น พม่าเองก็มีประวัติการถูกมหาอำนาจต่างชาติแทรกแซงมายาวนาน และด้วประวัติศาสตร์ยุคก่อนหน้าคองบอง ที่ชนชาติพม่ามีอำนาจสูงเป็นผู้ปกครองดินแดนของชนกลุ่มน้อยมาก่อน ฯลฯ จึงทำให้เกิดความคิด (ฉีกสัญญา) ดังกล่าว จนนำมาสู่การสร้างประเทศเพื่อให้ชาวพม่าเป็นผู้ปกครองหลักในยุคต่อมา

แม้ผู้ปกครองทหารพม่าจะพยายามสร้างความมั่นคงโดยใช้การทหารนำ ปราบปรามชนกลุ่มน้อยติดอาวุธมาโดยต่อเนื่อง ทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า แต่ที่สุดแล้วยังไม่สามารถกล่าวได้เต็มคำว่ารัฐบาลพม่าสามารถสร้างสันติภาพระหว่างชาวพม่ากับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ได้จริง ต่อให้มีกลุ่มกองกำลังที่เจรจาและวางอาวุธ มีการจัดสรรแบ่งประโยชน์ระหว่างรัฐบาลกลางกับแกนนำชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ แต่ที่สุดก็จะยังมีชนกลุ่มน้อยอื่นที่จับอาวุธเคลื่อนไหวต่อ

หลังจากพม่ามีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเมื่อปี 2011 ในรัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่งเป็นต้นมา มีการเจรจาระหว่างทางการกับชนกลุ่มน้อยต่อเนื่องอยู่ต่อไป สถานที่ซึ่งจัดประชุมก็คือเมืองเชียงใหม่ ภายใต้การรับรู้ของฝ่ายความมั่นคงไทย บรรดาแกนนำชนกลุ่มน้อยและตัวแทนรัฐบาลพม่าทั้งหลายเข้าออกเชียงใหม่เป็นว่าเล่น

ซึ่งจะว่าไปแล้ว ปัญหาชนกลุ่มน้อยดูจะเป็นอุปสรรคสำคัญของพรรคเอ็นแอลดีที่ชนะการเลือกตั้งมาอย่างถล่มทลายด้วยซ้ำไป เนื่องจากว่าพรรคของนางอองซานซูจีไม่มีประสบการณ์เจรจากับชนกลุ่มน้อยแถมไม่มีอำนาจทางทหาร อำนาจหน้าที่หลักในการเจรจาก็ยังอยู่ที่กระทรวงที่ทหารได้โควตาไป

แต่ไปๆ มาๆ อองซานซูจี ดึงไพ่จากมือทหารมาเล่นเองหน้าตาเฉย !

ทันที่นางอองซานซูจี ประกาศจะให้มีการเปิดเจรจา “ปางโหลง#2” ก็เหมือนกับโยนก้อนหินลงในน้ำ มีแรงกระเพื่อมตามมาเป็นระลอกเพราะมันหมายถึงการเขย่ากระดานเจรจาแบบเดิมๆ การเมืองระหว่างพม่ากับชนกลุ่มน้อยที่เคยทำมาเดิมๆ ใหม่ทั้งหมด อย่างน้อยที่สุดผู้นำของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ต้องเตรียมยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ การหาแนวร่วม หาหารือนอกรอบ หาพันธมิตร ไปจนถึงการเตรียมข้อต่อรองกันใหม่ทั้งหมด

อองซานซูจีสั่งให้จัดตั้ง “ศูนย์ปรองดองและสันติภาพแห่งชาติ”  ขึ้นมา ศูนย์ดังกล่าวเป็นกลไกใหม่หลังจากดึงไพ่จากทหารมาเล่น แล้วก็ประกาศชื่อเต็มๆ ของการเจรจาว่า  “ปางโหลง ศตวรรษที่ 21”   The 21st Century Panglong Conference การประชุมที่จะขึ้นในราวปลายเดือนกรกฎาคมนี้จะเป็นที่จับตาจากทั่วโลกอย่างแน่นอน

แม้ว่ากรอบเค้าโครงการเจรจาจะยังไม่เป็นที่เปิดเผยออกมา แต่ท่าทีของแกนนำชนกลุ่มน้อยหลักๆ ที่มีบทบาทสูงที่แสดงออกมาต่อทั้งภายนอกและภายในในระยะที่ผ่านมา บ่งบอกว่า ชนกลุ่มน้อยได้มองถึงความเป็นไปได้ที่จะ แยกมลรัฐของตนเองออกมาปกครองภายใต้รูปแบบสหพันธรัฐอันเป็นเนื้อหาสาระสำคัญของสนธิสัญญาปางโหลงรอบแรก

เรื่องนี้คงไม่สามารถสำเร็จผลลงได้ง่ายๆ ในระยะเวลาอันสั้น แต่ปัจจัยจากสภาพเศรษฐกิจสังคมของพม่าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากการเปิดตัวเองยอมรับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีความเป็นสมัยใหม่นานัปการ ล้วนแต่มีผลต่อแนวคิดใหม่การปฏิรูปการเมืองการปกครองในศตวรรษ 21 ได้ทั้งสิ้น

แนวคิดในครั้งกระโน้นชาวพม่าหวั่นเกรงว่าพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยใหญ่ๆ เช่นรัฐกะเหรี่ยง รัฐฉาน(ไต) รัฐคะฉิ่น รัฐมอญ ฯลฯ จะแยกตัวเอง นอกจากเสียดินแดนแล้วยังสูญเสียทรัพยากร รายได้ ความมั่งคั่ง แต่ในยุคปัจจุบันต่อให้พื้นที่ดังกล่าวยังไม่สงบ แต่ทุกครั้งที่ประชาชนในเขตนั้นใช้โทรศัพท์ ใช้อินเตอร์เน็ต อย่างไรเสียก็จะต้องจ่ายค่าใช้งานและภาษีให้กับรัฐบาลกลาง จะซื้อรถยนต์ มอเตอร์ไซด์ก็ต้องซื้อผ่านดีลเลอร์ผู้นำเข้าซึ่งรัฐบาลอนุญาต (และแน่นอนย่อมเป็นเครือข่ายผลประโยชน์ธุรกิจของกลุ่มผู้ปกครองเก่า-ใหม่ชาวพม่านั่นเอง)

เขตปกครองและรูปแบบปกครอง ไม่สามารถกีดกันพื้นที่ทำมาหากินทางเศรษฐกิจของทุนนิยมยุคใหม่ได้แล้ว !

เงื่อนไขต่อไปคือข้อกังวลของบรรพชนพม่าในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องการจะถูกแยกประเทศออกไปเป็นเสี่ยงๆ (และอีกหลายปีต่อมายูโกสลาเวียก็แตกให้เห็นเป็นตัวอย่างอีกต่างหาก) ก็ไม่น่าจะเป็นข้อกังวลอีกต่อไปแล้ว โลกยุคใหม่เป็นโลกแห่งเครือข่ายและการเชื่อมโยง ต้องมีเงื่อนไขทรัพยากรเพียบพร้อมเพียงพอจึงจะอยู่รอดและก้าวหน้าได้  ตัวอย่างประเทศที่แยกตัวออกจากประเทศใหญ่อย่าง ติมอร์ตะวันออก เพื่อนบ้านในเอเชียอาคเนย์ก็มีให้เห็นอยู่ ยิ่งผลประโยชน์ยุคใหม่เป็นเรื่องของธุรกิจการค้าลงทุนโดยอาศัยอินฟราสตรั๊คเจอร์ร่วมกันด้วยแล้ว การได้รวมอยู่ในประเทศใหญ่ที่มีโครงข่ายสาธารณูปโภคเชื่อมโยงย่อมเป็นโอกาสมากกว่า

เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเงื่อนไขใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ไปจากเมื่อครั้งวงประชุมปางโหลงรอบแรกเมื่อ 70 ปีก่อนทั้งสิ้น

จึงไม่แปลกอะไรที่หากจะมีชนกลุ่มน้อยหลายๆ กลุ่มนึกฝันไปถึงสหพันธรัฐพม่ายุคใหม่ตั้งแต่ยังไม่เริ่มเวทีประชุม

เพราะมันพอมีความเป็นไปได้อยู่จริงๆ แม้จะยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยก็เหอะ !!!