ผู้นำกับปรัชญาการทำงาน : อาจารย์สุรวัฒน์ ชมภูพงษ์


หลายวันก่อนผมได้รับเชิญจากสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเขต 2 ของจังหวัดสมุทรปราการไปบรรยายเรื่อง  “Work Life  Balance”  ชื่อเรื่องแบบนี้ถ้าแปลเป็นภาษาไทยให้ไพเราะหน่อยก็คงจะให้ชื่อเรื่องว่า  “ทำงานอย่างไรให้ใจเป็นสุข” เพราะคนเราจะเป็นสุขได้ก็คงจะต้องสร้างสมดุลของชีวิตทั้งเรื่องการงานและชีวิตครอบครัวให้ดี แต่ถ้าจะว่าไปแล้วนอกจากเรื่องงาน (Work) เรื่องชีวิต (Life) แล้วก็คงจะต้องคำนึงถึงเรื่องครอบครัว (Family) และความเป็นส่วนตัว (Self)  ของแต่ละคนอีกด้วยจึงจะมีความสมบูรณ์ครบถ้วน  ถ้าท่านสังเกตให้ดีคนบางคนหน้าที่การงานประสบความสำเร็จมากแต่ครอบครัวล้มเหลว บางคนครอบครัวดีเหลือเกินแต่หน้าที่การงานล้มเหลว  เราจะสร้างสมดุล (Balance)  สองสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ในการสอบเข้าทำงานท่านจะเห็นได้ว่าเขามักจะทดสอบเรื่องวิชาการ (IQ) ประมาณ 80% เขาจะสัมภาษณ์และดูความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ประมาณ 20%  ซึ่งนั้นก็หมายความว่าวิชาการ 80%  วิชาชีวิตเพียง  20%  แต่พอเข้ามาทำงานจริง ๆ ท่านจะเห็นได้ว่าวิชาชีวิตกลายเป็นกว่า 80%  วิชาการเหลือเพียงไม่ถึง 20% เสียด้วยซ้ำไป  ท่านคงจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลย

ดังนั้นในการทำงานโดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำหรือผู้ที่มีภาวะผู้นำจึงควรต้องมีปรัชญาอย่างแท้จริงในการทำงาน สำหรับผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่เป็นปรัชญาก็คือ 1. ต้องมีความอดทนอดกลั้น  2. รู้จักการคิดเชิงบวก และ 3. การรู้จักให้อภัย  ผมคิดว่าถ้าปราศจาก 3 สิ่งนี้คงทำงานได้ด้วยความยากลำบาก  ผมรับเชิญเป็นวิทยากรก็ต้องใช้ปรัชญา 3 ข้อนี้มากมาย บางครั้งมีผู้โทรศัพท์มาเชิญเข้าใจว่าคงจะอายุไม่มากนัก ถามผมว่า “อาจารย์คะ ทางกรมจะจัดบรรยายเรื่องนี้… อาจารย์พูดเป็นมั้ยคะ?…”  “อาจารย์คะ ค่าตัวอาจารย์เป็นไงคะ ปกติคิดเท่าไหร่? เดี๋ยวนี้วิทยากรมีเยอะแยะอาจารย์อย่าคิดให้มันแพงนักนะคะ?.  “อาจารย์คะหนูอยากบอกให้อาจารย์รู้ไว้ซะด้วยนะคะที่เราจัดการอบรมกันนั้นก็เพื่อทำให้มันถูกระเบียบทางราชการเท่านั้นแหละค่ะ  ความจริงพวกเราวางแผนจะไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัดกันมากกว่า อาจารย์ไม่ต้องเตรียมสอนอะไรมากมายหรอกนะคะ”  เห็นมั้ยครับ นี่แค่ตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผมยกมาให้ดูเท่านั้น ท่านลองคิดดูซิว่าผมต้องใช้ความอดทนอดกลั้น คิดบวกและให้อภัยขนาดไหน  เมื่อคราวที่มีการปฏิรูประบบราชการคราวก่อนมีข้าราชการกระทรวงหนึ่งอายุประมาณ 30 ปีเศษ ได้รับมอบหมายให้มาเชิญผมไปเป็นวิทยากรแทนอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเผอิญมาบรรยายให้ไม่ได้ หญิงสาวคนนั้นโทรมาหาผมตอน 3 ทุ่มเศษ แล้วบอกผมว่า “ดิฉันไม่เคยรู้จักกับอาจารย์มาก่อนหรอกนะคะ ไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่าอาจารย์เป็นวิทยากรจะเก่งไม่เก่งแค่ไหน ดิฉันก็ไม่เคยทราบ แต่ท่าน ผอ. ให้โทรมาดิฉันก็โทรมา ทางเราจะจัดการอบรม 13 รุ่น แต่เชิญอาจารย์แค่รุ่นเดียว ลองดูก่อนนะคะเผื่อไม่ดีก็จะได้เปลี่ยนเอาคนอื่นมาแทนในรุ่นต่อไป แต่ถ้าดีอาจพิจารณาเชิญอีกก็ได้  และอยากจะบอกให้อาจารย์ทราบเสียแต่แรกนี้เลยนะคะว่า ความจริงที่จริง ๆ พวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะเชิญอาจารย์หรอกนะคะ เผอิญอาจารย์ที่เขาเชิญไว้ท่านไม่ว่าง”

ท่านผู้อ่านครับ ผมว่าผมโชคดีนะครับที่มีปรัชญาการทำงาน 3 ข้อข้างต้นค่อนข้างแน่นมาก จึงสามารถผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้ด้วยดี ผมต้องอดทนที่จะฟังจนจบประโยค ให้อภัยเพราะเขาเป็นเด็กว่าและผมเชื่อว่าเขาคงไม่มีเจตนาร้ายอะไรหรอก “คนดีกับคนทำงานดีบางทีอาจเป็นคนละคนกันนะครับ” เพราะผมเป็นคนคิดเชิงบวก จึงให้อภัยได้ทุกอย่าง เราคงไม่สามารถไปห้ามความคิดและคำพูดของใครบางคนได้ แต่เราห้ามความคิดและการกระทำรวมทั้งคำพูดของเราได้เพราะผมคิดว่า สิ่งที่ผู้หญิงคนนั้นพูดทำให้เรารู้สถานการณ์และความจริงทั้งหมดว่าอะไรเป็นอะไร?  เขาไม่ได้ตั้งใจเชิญเราแต่ในที่สุดเขามาเชิญก็ทำให้เราได้รับสิ่งที่เรียกว่า “โอกาส”  เราไม่ได้เป็นผู้มีตำแหน่งใหญ่โตเหมือนกับผู้ที่เขาตั้งใจจะเชิญ แต่โชคดีเป็นของเราที่ทำให้อาจารย์ที่เค้าจะเชิญท่านมาไม่ได้ในวันนั้น “โอกาส” จึงเป็นของเรา ในรายการทีวีรายการหนึ่งมีเด็กคนหนึ่งกล่าวไว้น่าฟังมากครับว่า “โอกาสนั้นเปรียบเสมือนไอติม ถ้ามีผู้หยิบยื่นให้แล้วเราไม่กิน ไอติมมันก็ละลาย แล้วใครจะมาหยิบยื่นไอติมให้เราบ่อย ๆ เพราะยื่นไปเมื่อไหร่ ๆ ก็ละลายหมด” และเมื่อผมถามหญิงสาวคนนั้นต่อว่า “แล้วคุณจะเชิญผมไปบรรยายเมื่อไหร่ล่ะ?” เธอตอบผมว่า “พรุ่งนี้เช้าค่ะ” ผมบอกว่าพรุ่งนี้แล้วทำไมมาเชิญผมค่ำวันนี้ล่ะ?” เธอตอบผมว่า เมื่อสักครู่นี้อาจารย์ไม่ได้ยินเหรอคะ ดิฉันก็บอกอาจารย์แล้วไงว่าพวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะเชิญอาจารย์” เธอยังคงย้ำแผลเก่าให้มันปะทุขึ้นมาอีก แต่ผมก็ยังคงรักษาปรัชญาการทำงานทั้ง 3 ข้อได้อย่างเหนี่ยวแน่น เพราะรู้สึกทำให้เราได้รับคำยืนยันและความจริงให้แน่ใจขึ้นไปอีก ผมบอกต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้นคุณช่วยส่ง Course Outline มาทาง FAX ที่บ้านให้ผมหน่อยได้มั้ยครับ?”  เธอตอบว่า “เรื่องที่ทางเราเชิญอาจารย์บรรยายนั้นเป็นเรื่องนักบริหารมืออาชีพ ดิฉันคิดว่าคนบรรยายก็ควรจะต้องมืออาชีพ ดิฉันคงไม่ต้องส่ง FAX ให้อาจารย์หรอกนะคะ  หากอาจารย์อยากดูก็มาที่โรงแรมเช้า ๆ หน่อย มาดูที่โรงแรมเองก็แล้วกัน”  ผมเลยต้องยุติการพูดคุยและนัดเธอ    เช้าวันรุ่งขึ้น ณ ห้องบรรยายที่โรงแรมเพราะหากขืนคุยกันต่อไปอาจไม่ได้ไปบรรยายเพราะชักจะหมดความอดทน แต่ในที่สุดผมก็ผ่านพ้นมันมาจนได้ พอบรรยายเสร็จรุ่นที่ 2 – 5  ท่านเจ้าของวิชาที่จะมาบรรยายก็มาไม่ได้อีก ประเมินผลการอบรมแล้วทางผู้จัดจึงเชิญผมเป็นวิทยากรแทนจนครบ 5 รุ่น หลังจากนั้นท่านเจ้าของวิชามาพบผมและแจ้งว่าเพื่อให้ทั้ง 13 รุ่น เป็นเอภาพเดียวกัน ท่านจึงขอเชิญให้ผมบรรยายทั้งหมด 13 รุ่นเลย และทำ DVD เผยแพร่ไปในสถานที่หลายแห่งและทางกระทรวงนั้นก็เลยมีผู้รู้จักผมเกือบทั้งกระทรวง มาเชิญให้ผมไปร่วมงานตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ยังไม่สิ้นสุดเลย  และยังได้กรุณามอบโล่เกียรติยศในฐานะที่ผมเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงนั้นในวันสถาปนากระทรวงอีกต่างหาก

ท่านทั้งหลายฟังผมเล่ามาซะยืดยาว คงจะเห็นแล้วนะครับว่าปรัชญาการทำงานทั้ง 3 ข้อนี้มีคุณค่ามากเพียงใดในการทำงานและการดำเนินชีวิต ผมจึงอยากจะเรียนทุกท่านเป็นข้อคิดในตอนท้ายนี้ว่า “ท่านจะปล่อยให้งานอันยิ่งใหญ่พังลงไปต่อหน้าต่อตา เพียงเพราะท่าน ลดตัวลงไปถือสาหาความกับเด็กเล็ก ๆ (เจ้าหน้าที่) เท่านั้นหรือครับ” ผู้นำที่ดีจึงควรฝึกจิตให้เข้าใจเข้าถึง และพัฒนาตนในทางที่จะทำให้ตนเองและองค์กรเจริญก้าวหน้าด้วยหลักปรัชญาอดทนอดกลั้น คิดเชิงบวกและรู้จักการให้อภัยกันดีกว่ามั้ยครับ?