นายกฯ เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี


นายกฯ เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายกรัฐมนตรี สั่งควบรวม 3 คณะนวัตกรรมเป็นคณะกรรมการชุดเดียว หวังลดขั้นตอนทำงานซ้ำซ้อนเพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้รวมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทั้ง 3 คณะ เป็นชุดเดียวชื่อ คณะกรรมการนโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือนวนช. เพื่อขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมทั้งหมดให้รวดเร็วมากขึ้น ไม่ซ้ำซ้อน รวมทั้งมีการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 และเป็นไปตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ด้านนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้รวมกองทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทั้งกองทุนพัฒนาขีดความสามารถและการแข่งขัน กองทุนดิจิตอล และกองทุนตั้งตัวได้ รวมวงเงินประมาณ 17,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาและวิจัยให้กับภาคเอกชนใน 5 สาขา คือ กลุ่มอุตสาหกรรมทางชีวภาพ, พลังงานทดแทน, วิศวกรรมและการออกแบบ, คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาให้ได้ 2% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ภายในปี 2571 โดยขณะนี้มีการจัดสรรงบประมาณแล้ว 0.5% ของจีดีพีหรือประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 60 จะเพิ่มเป็น 0.7%

โดยที่ประชุมยังรับทราบผลการดำเนินงานของคพน.ในช่วง 1 ปี 6 เดือน ที่มีผลงานสำเร็จใน 5 เรื่อง คือ การสร้างตลาดนวัตกรรมภาครัฐ ที่ได้จัดทำบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อให้ภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีกรณีพิเศษได้ทันที โดยขณะนี้มี 26 สินค้าที่อยู่ในบัญชี เช่นยารักษาโรค เครื่องกำจัดขยะ ผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ วัคซีนพืช เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาษีที่ยกเว้นให้แก่เอกชนที่มีค่าใช้จ่ายวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เป็น 3 เท่าหรือ 300% การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรเพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสม, การจัดตั้งเมื่อนวตกรรมอาหาร,การส่งเสริมผู้ประกอบการเริ่มต้นหรือสตาร์ท-อัพ การเพิ่มความช่วยเหลือเอสเอ็มอี และสุดท้ายคือการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการจัดทำโรดแมพยานยนต์ไฟฟ้าของไทย

นายทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าในการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือ บสย. เข้ามาค้ำประกันให้กับภาคเอกชนที่สร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยอยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี