คนเรานี่ถ้าถูกถามว่า “ใครเห็นแก่ได้ให้ยกมือขึ้น” รับรองว่าไม่มีใครกล้ายกมือยอมรับ ถ้ามีก็ต้องเป็นพวกที่ยึดมั่น “ด้านได้ อายอด” แต่เชื่อเถอะถึงไม่ยกมือแต่จะยกหู เอ๊ย…..เงี่ยหูฟังว่าตกลงจะได้อะไร เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นแก่ได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่ค่อยจะเห็นอะไร…….ฮ่า
ที่เขียนข้อความข้างต้นมาให้อ่านเพราะจะบอกว่า ถ้าเราปรารถนาให้ใครทำอะไรให้เราหรือตามความต้องการของเรา สิ่งที่จะจูงใจเขาให้เต็มใจทำให้เราก็คือ ทำแล้วเขาก็จะได้อะไรที่เป็นประโยชน์แก่เขา
เพราะฉะนั้นคนที่เป็นเจ้านายหรือหัวหน้าซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการที่จะสั่งให้ลูกน้องทำโน่นทำนี่จึงควรที่จะเข้าใจในหลักจิตวิทยาข้อนี้
จริงอยู่เมื่อเป็นบอสก็ต้องมีอำนาจให้ลูกน้องยำเกรงอยู่แล้ว จะสั่งอะไรใครที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เขาก็ต้องทำ ขืนไม่ทำอาจจะโดนลงโทษหรือกลายเป็นลูกน้องไม่ดีในสายตาลูกพี่ซึ่งก็คงไม่มีใครอยากเป็น แต่เขาจะทำด้วยความเต็มอกเต็มใจหรือมีประสิทธิภาพหรือไม่เป็นเรื่องที่ยังแน่ใจไม่ได้
เพื่อให้ลูกน้องเต็มใจทำงานที่เรามอบหมายให้ สิ่งที่คนเป็นเจ้านายควรพิจารณาเป็นเรื่องแรกคือ ทำแล้วผู้กระทำจะได้อะไร ถ้าเกิดมีอะไรให้ได้ละก็ รับรองว่าเขาจะมีกำลังใจในการทำมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น เราเป็นเจ้าของกิจการพอสิ้นปีก็คิดวางแผนที่จะให้บริษัทของเราทำกำไรเพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่งในปีใหม่ หลังจากพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นไปได้หากบริษัทเราจะเพิ่มทำงานในวันเสาร์ขึ้นอีกวัน เพราะบริษัทที่กิจการเหมือนเราทำงานจากจันทร์ถึงศุกร์เท่านั้น
ถ้าคิดได้แค่นี้ยังจูงใจพนักงานให้ร่วมมือได้ยากหรือไม่เต็มที่ เพราะคิดแค่บริษัทได้ยังไปไม่ถึงพนักงานว่าได้อะไรบ้าง
รับรองครับ วันแถลงนโยบายใหม่หวังให้พนักงานคึกคัก เอาเข้าจริง ๆ มีเราคึกคักอยู่คนเดียวคนอื่น ๆ เขาไม่เอาด้วยหรอก จะบอกให้
เจ้านายอุตส่าห์ตระโกนสุดเสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากพนักงาน “ปีใหม่นี้บริษัทมีนโยบายทำกำไรของบริษัทให้เป็นสองเท่าของปีที่ผ่านมา” หวังจะได้ยินเสียงปรบมือแสดงความดีใจของบรรดาพนักงานที่นั่งฟังอยู่ แต่กลับเงียบกริบ เพราะทุกคนได้ยินชัดว่า “กำไรของบริษัท” ฟังแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นกำไรของพนักงานด้วยหรือเปล่า…….แฮ่
เห็นเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามคาดหมาย แทนที่จะฉุกคิดว่ามีความผิดพลาดในการนำเสนอเกิดขึ้นแล้ว คนเป็นเจ้านายดันคิดไปอีกแบบเสียนี่ “ที่เงียบนี่ไม่เชื่อใช่ไหมว่า ทำได้”
จึงตระโกนดังสนั่นว่า “ได้ซีครับ ทำไมจะไม่ได้ เพียงแต่พวกเราทำงานวันเสาร์เพิ่มอีกวัน”
ตอนนี้พนักงานชักกระสับกระส่ายเพราะอุตส่าห์เงียบไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ แต่ยิ่งฟังกลับเดือดร้อนขึ้น มีรายหนึ่งเก็บความรู้สึกไม่อยู่ จึงร้องถามชัดถ้อยชัดคำสะท้อนความรู้สึกภายในออกมาว่า “แล้วพวกเราได้อะไรบ้าง”
เจ้านายก็ตอบทันควันว่า “ไม่ต้องห่วง เรื่องนี้ค่อยพูดกัน ให้ได้กำไรมาก่อน”
หากเรื่องเป็นไปตามที่เล่ามาข้างต้นนี้ การประชุมเพื่อขอความร่วมมือจากพนักงานของบริษัทต้องจบแบบโศกนาฏกรรมอย่างแน่นอน เพราะผู้เป็นเจ้าของขาดจิตวิทยาในการจูงใจพนักงาน
จริง ๆ แล้ว ก่อนจะไปประชุมพนักงาน หลังจากวางแผนให้บริษัททำกำไรเป็นสองเท่าได้แล้ว เจ้าของต้องคิดไปอีกขั้นหนึ่งว่า แล้วพนักงานจะได้อะไรบ้างจากการที่บริษัทกำไรเพิ่มขึ้น
จะพบว่าสิ่งที่พนักงานจะต้องได้แน่นอนคือเมื่อกำไรเพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่งโบนัสก็ต้องเพิ่มเท่าหนึ่งเป็นเงาตามตัว
ต่อมาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เพิ่มโบนัสเป็นสองเท่าแล้วแต่กำไรยังเยอะกว่าเก่ามาก เพราะพนักงานเท่าเดิมเงินเดือนจ่ายเท่าเดิม อย่ากระนั้นเลย ปันกำไรให้พนักงานเพิ่มอีกหน่อยก็แล้วกัน ค่าล่วงเวลาวันเสาร์เพิ่มเป็นสองแรงบริษัทก็ยังกำไรมากอยู่ดี
ถ้าคิดถึงพนักงานได้อะไรบ้างครบถ้วนแล้ว อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าครบวงจร พร้อมที่จะไปปลุกใจพนักงานแล้ว
แค่เริ่มต้นด้วยประโยคว่า “ปีนี้บริษัทมีนโยบายที่จะทำให้โบนัสของพวกเราเป็นสองเท่าของปีที่ผ่านมา” เสียงปรบมือของพนักงานก็ดังก้องห้องประชุมแล้วละครับ อาจจะเบาลงหน่อยตอนประโยคที่ติดตามมาที่ว่า “เพียงแต่พวกเรามาทำงานวันเสาร์เพิ่มอีกวัน”
แต่พอตามด้วย “สำหรับวันเสาร์ ค่าล่วงเวลาคิดให้สองแรง” น่าเชื่อว่าเสียงปรบมือจะกลับมาดังเท่าเดิม……ฮ่า
จะสั่งให้ลูกน้องทำอะไร ถ้าทำแล้วเขาได้อะไร ก็ให้แจ้งให้ทราบไปเลย อย่าละไว้โดยนึกว่ารู้กันแล้ว ไม่เห็นจะต้องบอกเลย บอกไปเถอะครับ เพื่อความชัดเจน เพราะคนบางคนคิดมากหรือคิดไปในทางร้าย
เช่น เราจะให้ลูกน้องมาทำงานวันเสาร์อาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุด ก็บอกให้ครบถ้วนกระบวนความไม่เหลือช่องให้คิดมาก “เสาร์อาทิตย์นี้ ขอร้องนะ มาทำโอทีกันทุกคน บริษัทรับออเดอร์ไว้เพียบเลย มาช่วยกันหน่อยนะ
ขอร้องแบบนี้คนฟังก็สบายใจตรงที่อย่างไรก็ได้โอทีที่ทุกคนรู้ดีว่าหมายถึง “ค่าจ้างล่วงเวลา” บางคนแม้ไม่เต็มใจจะมาเพราะอยากพักผ่อนหรือมีนัดหมายสำคัญ ก็อาจจะปลอบใจตัวว่า “ไม่เป็นไร ยังไงก็ได้เงินโอทีละวะ” หรือบางคนอาจจะดีใจด้วยซ้ำไปเพราะกำลังอยากได้เงินพิเศษอยู่พอดี พวกนี้อาจนึกขอบคุณในใจด้วยซ้ำไป……แฮ่
ไม่ใช่สั่งแบบกำกวมให้ตีความกันเองว่า “เสาร์อาทิตย์มาทำงานกันทุกคนนะ ต้องมานะ ใครไม่มาผมเอาเรื่องจริง ๆ ด้วย บริษัทจำเป็นต้องให้ทำงานทั้งสองวัน ไม่งั้นของทำไม่ทันออเดอร์ ช่วย ๆ กันหน่อย นาน ๆ บริษัทขอร้องที”
ลูกน้องบางคนเป็นคนคนคิดมาก นึกสงสัยว่ามาทำงานแบบช่วยกันในลักษณะกาชาด อย่างนี้ก็ไม่ได้ค่าจ้างตอบแทนซี จะถามตอนได้ยินก็ไม่กล้าถามกลัวจะถูกมองว่าเป็น “คนเห็นแก่ได้” ตั้งแต่ได้ยินความกำกวมก็เกิดอาการนอนไม่หลับ คิดแต่ว่า “จะได้เงินค่าจ้างหรือไม่” วันเสาร์มาทำงานหน้าตาซีดเซียวสุขภาพโทรมไปไม่น้อยเพราะนอนไม่เต็มตา
พอมาถึงเขาเรียกให้เซ็นชื่อเพื่อไว้เบิกโอที จิตใจก็กลับแช่มชื่นขึ้น มีกำลังใจทำงานขึ้นทันที แต่สังขารเสื่อมไปแล้ว ยังไง ๆ ประสิทธิภาพการทำงานก็ไม่เท่าเดิม เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นไม่ควรโทษว่าเป็นความผิดของลูกน้องที่ไม่ซักถาม ต้องโทษว่าเป็นความผิดของลูกพี่ที่ไม่พูดให้ชัดเจนเสียแต่แรก ปล่อยให้ลูกน้องคิดมากจนเกือบเสียงานเสียการ
แต่ถ้านักบริหารที่เป็นคนสั่งเกิดโชคดีมีลูกน้องเป็นคนรุ่นใหม่ คือคนรุ่นใหม่นี่จะเป็นคนหน้าด้าน เอ๊ย….ไม่ค่อยอายกล้าพูดกล้าถาม เช่น ไปบ้านใครบางทีไม่รอให้เขาชวนกลับถามนำขึ้นก่อนว่า “มีอะไรให้กินไหม หิวจังเลย” ลูกน้องประเภทคนรุ่นใหม่นี้ เมื่อกังขาก็ตระโกนถามเลย “มาทำเสาร์อาทิตย์นี่ มีโอทีไหมครับ เจ้านาย”
เจอแบบนี้เข้าต้องถือว่าโชคดีนะครับ ต้องรีบฉวยโอกาสทันที “ขอบคุณมากที่ถาม ขอโทษด้วยที่พูดไม่ชัดเจน มีแน่นอนครับมีโอทีทั้งสองวัน มาทุกคนนะครับ” ตอกย้ำตรงท้ายไปด้วยก็ได้ เราจะเห็นสีหน้าของคนฟังแช่มชื่นขึ้น ตรงที่ได้ยินคำว่า “โอที” นี่แหละ
ไม่ใช่สวนกลับไปแบบฉุนเฉียวว่า “คุณนี่ไม่น่าถามเลย ให้ทำงานวันหยุดก็ต้องมีโอทีซี กฎหมายบังคับอยู่แล้ว ผมไม่ทำผิดกฎหมายหรอกน่า “