หนี้สาธารณะ ลด7.2 หมื่นล้านแตะ 43.35%


หนี้สาธารณะ ลด7.2 หมื่นล้านแตะ 43.35%

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือสบน.ชี้ หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 คิดเป็น 43.35% ของ จีดีพี พบว่าลดลงเมื่อเทียบกับ เดือนก่อนหน้า 7.2 หมื่นล้านบาท

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหาร หนี้สาธารณะ หรือสบน.เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 มีทั้งสิ้น 5.97 ล้านล้านบาท คิดเป็น 43.35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ซึ่งพบว่าลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 7.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้แบ่งเป็น หนี้รัฐบาล 4.4 ล้านล้านบาท ลดลง 5.9 หมื่นล้านบาท เป็นผลมาจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 7,301 ล้านบาท /การลดลงของตั๋วเงินคลัง 6 หมื่นล้านบาท /การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ 1,696 ล้านบาท/การกู้เงินบาท ทดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ 168 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL)

นอกจากนี้ ยังมีการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย จากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 1 หมื่นล้านบาท และการชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.18 หมื่นล้านบาท/ โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินก็ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แบ่งเป็นชำระเงินต้น 1 หมื่นล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 1,838 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน หนี้สาธารณะที่ลดลง ยังเป็นผลมาจาก/หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน จำนวน 1 ล้านล้านบาท ลดลง 9,893 ล้านบาท เกิดจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ออกพันธบัตร 1,000 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ออกพันธบัตร 1,000 ล้านบาท บริษัท ปตท. ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 5,970 ล้านบาท บริษัท การบินไทย ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 2,000 ล้านบาท

ขณะที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน มีรัฐบาลค้ำประกัน มีจำนวน 5.2 แสนล้านบาท ลดลงสุทธิ 2,788 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญ/เกิดจากการชำระหนี้เงินต้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือธ.ก.ส. 2,793 ล้านบาท  ส่วนหนี้หน่วยงานรัฐ 1.19 หมื่นล้านบาท ลดลง 337 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของสำนักงานธนานุเคราะห์ 328 ล้านบาท

สำหรับการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังในปีงบประมาณ 2559  ได้จำหน่ายพันธบัตรไปแล้ว 1.7 หมื่น ล้านบาท คิดเป็น 86% ของวงเงินที่จำหน่าย ทำให้เหลือแค่ 3,000 ล้านบาท จากวงเงิน ทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านบาท/ โดยพันธบัตรดังกล่าวจะเปิดขาย/จนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้/เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมของประชาชนทั่วไป และเป็นทางเลือกในการลงทุนที่มั่นคง ไม่มีความเสี่ยง ได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนที่แน่นอนในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก