ตัดสินใจดีต้องมีข้อมูล : สุขุม นวลสกุล


นักบริหารต้องมีการตัดสินใจที่ดี  เพราะนอกจากจะต้องตัดสินใจในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ของตนเองแล้ว  บางครั้งอาจต้องตัดสินใจแทนคนอื่นด้วย  เช่น ลูกน้องยื่นเรื่องมาเพื่อให้ตัดสินใจ  ยิ่งถ้าเป็นนักบริหารระดับสูง ๆ ด้วยแล้วบางครั้งต้องตัดสินใจแทนองค์กรเลยทีเดียวเลยนะ  จะบอกให้

จะไม่ตัดสินใจก็จะโดนกล่าวหาว่า “ลอยตัว”   จะรีรอลังเลก็จะโดนถากถางนินทาหาว่า “เชื่องช้า”เสียฟอร์มเปล่า ๆองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่จะทำให้ตัดสินใจได้ดีและถูกต้องคือ “ข้อมูล”

นักบริหารจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลถูกต้อง ทันสมัย มากพอ และรอบด้าน   ยิ่งข้อมูลกว้างขวางเท่าใด  โอกาสที่จะตัดสินใจไม่ผิดพลาดย่อมมากตามขึ้นไปด้วย  ดังนั้นนักบริหารจึงต้องมีนิสัยเก็บข้อมูลต่าง ๆ เข้าสู่คลังความคิดของตน  รวบรวมเป็นความจำที่ไว้ดึงออกมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องตัดสินใจ

ข้อมูลนั้นคงจะต้องเก็บเกี่ยวจากประสบการณ์ในการทำงาน  เรื่องที่เคยตัดสินใจมาไม่ว่าจะตัดสินใจผิดหรือตัดสินใจถูกล้วนแล้วแต่เป็นบทเรียนให้เก็บไว้เป็นประโยชน์ได้ทั้งนั้น  การฟังประสบการณ์ของนักบริหารคนอื่น ๆ  การอ่าน การฟัง อาจไม่ใช่เป็นประสบการณ์ตรง  แต่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจแน่นอน

อย่างครั้งหนึ่งสมัยผมยังเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะอาจารย์หลายมหาวิทยาลัยไปทัศนะศึกษาสาธารณรัฐประชาชนจีน  ผมได้รับมอบหมายให้เป็นเลขานุการคณะ  ผมไม่เคยไปประเทศจีนมาเลยในชีวิต  ตอนนั้นก็เลยหาข้อมูลซื้อหนังสือทัศนะศึกษาประเทศจีนที่มีผู้เขียนไว้หลายเล่มมาอ่าน

จำได้ว่ามีทั้งของนักประพันธ์ใหญ่ (สุวัฒน์ วรดิลก)  นักหนังสือพิมพ์(ศุภเกียรติ ธารณกุล) นักการเมือง(วีระ มุสิกพงศ์) นักวิชาการ(ดร. เขียน ธีระวิทย์)  นักร้องนักชิม(มรว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์)   อ่านแล้วทำให้รู้จักและมีความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนมากพอที่จะทำหน้าที่เลขานุการได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องมากนัก

ทุกเช้าทุก ๆ วันเมื่ออยู่ที่นั่น  ผมจะบริ๊ฟให้หัวหน้าคณะทราบว่า  ตามกำหนดการที่เขากำหนดไว้ท่านจะได้พบอะไรบ้าง  บางครั้งก็เสนอแนะว่าควรทำนั้นควรทำนี่เพื่อให้เหมาะสมกับกาลเทศะ   การบริ๊ฟของผมมักจะไม่ผิดพลาด  จนท่านหัวหน้าคณะถามผมว่า  ผมมาเมืองจีนกี่ครั้งแล้วจึงดูแสนรู้ เอ๊ย…..รอบรู้ไปหมด  ผมจึงสารภาพอย่างภาคภูมิใจว่า เพิ่งมาเป็นครั้งแรกเหมือนท่านแหละครับ   แต่ที่ดูเหมือนมีประสบการณ์มากเพราะอาศัยการ “อ่าน” ครับ

เพราะฉะนั้น การฟัง การอ่าน ทำให้เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ของคนอื่น  สิ่งที่เขาถ่ายทอดมาทำให้เราสามารถเข้าถึงเรื่องนั้นได้  ทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องมีประสบการณ์ตรง  คนเป็นนักบริหารแม้อายุยังน้อยก็อาจมีข้อมูลมากมายที่เก็บเกี่ยวจากการอ่านหรือการฟังประสบการณ์ของคนอื่นอีกที

สิ่งที่อยากแนะนำนักบริหารที่ประสงค์จะได้ข้อมูลหรืออยากให้ข้อมูลมาสู่ตนประการหนึ่งคือ  ต้องเป็นคนที่ทนฟังผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องในการทำงานของเราได้โดยไม่ตอบโต้   เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับความเห็นของเขาหรือคิดว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูดแต่ระหว่างที่เขากำลังนำเสนอหรือพูดบาดหูเราอยู่   ต้องทนฟังให้ได้  ถ้าเราขัดคอหรือตอบโต้รับรองได้ว่า  คนที่จะพูดให้ข้อมูลด้านไม่ค่อยดีหรือไม่ดีของเราให้เราฟัง  จะไม่ค่อยมี  จะมีแต่เอาไปนินทาลับหลังกลายเป็นข้อมูลที่คนอื่นรู้แต่เราตัวคนเป็นข้อมูลเองกลับไม่รู้ไม่ขี้เสียนี่

การทนฟังการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้  ได้ยินเมื่อไหร่ต้องตอบโต้ทันที  จะเป็นเหตุให้เสียโอกาสที่จะได้ข้อมูลที่แม้เราจะเห็นว่าผิดพลาดแต่เป็นสิ่งที่คนอื่นคิดหรือเชื่ออย่างนั้น  สิ่งที่ถ้าเรารับฟังแล้วค่อยหาโอกาสตอบโต้ภายหลังเมื่อเอาไปตรึกตรองให้รอบคอบเสียก่อน  น่าจะดีกว่าการตอบโต้แบบ “ตาต่อตา  ฟันต่อฟัน”   ผมเห็นอย่างนั้นครับ  ใจเย็น ๆ อดทนฟังไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยน่าจะเป็นท่าทีที่เหมาะสมกว่าสำหรับผู้ที่อยากให้ข้อมูลเข้าสู่ตน

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  ผมรับจัดสัมมนาให้บริษัทหนึ่ง  เป็นการสัมมนาประจำปีระดมความคิดของพนักงานเพื่อเสนอให้บริษัทปรับปรุงหรือปฏิรูปเพื่อให้พนักงานมีขวัญกำลังใจและความสุขในการทำงานมากขึ้น   การสัมมนาคราวนั้นลงทุนเป็นแสน จัด ๒ วันติดต่อกัน  วันแรกผมแบ่งพนักงานประมาณเกือบร้อยคนเป็น  ๓ กลุ่ม  ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิดว่าบริษัทควรปรับปรุงอะไรเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงาน  วันที่สองให้แต่ละกลุ่มนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่

วันที่แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอนั้น  เบื้องต้นผมรู้สึกดีใจที่ผู้บริหารระดับสูงให้ความสนใจเต็มที่เข้ามาฟังด้วยตนเองเลย  นั่งเรียงกัน ๓ คนแถวหน้าเลย ทั้งประธานบริษัท  รองประธาน  และผู้จัดการ     บริษัทนี้เป็นลักษณะธุรกิจครอบครัว ประธานคือเฒ่าแก่ใหญ่  รองประธานคือภรรยาท่านประธาน  ส่วนผู้จัดการคือลูกชาย

แต่พอเริ่มนำเสนอ บรรยากาศชักไม่ค่อยดี  เพราะตัวแทนของกลุ่มเสนอความเห็นของกลุ่มในเรื่องอะไรก็แล้วแต่  หนึ่งในสามคนสำคัญของบริษัทจะลุกขึ้นผลัดกันตอบโต้  ไม่ยอมรับข้อเสนอ  ไม่เห็นด้วยกับที่ระดมความคิดกันมา  พนักงานบอกว่าเรื่องนั้นบกพร่อง ผู้บริหารก็เถียงว่าไม่บกพร่อง  เสนอให้ทำอะไรก็ยืนยันว่าที่ทำอยู่นะดีอยู่แล้ว  พูดง่าย ๆ คือไม่ยอมรับข้อเสนอหรือแนะนำของพนักงานที่อุตส่าห์ใช้เวลาตั้งหลายชั่วโมงระดมความคิดกันมา

หลังจากนำเสนอผ่านไป ๒ กลุ่มแบบผู้บริหารกลายเป็นผู้ชี้แจงว่าที่บริษัททำนะดีอยู่แล้ว  ฝ่ายพนักงานมีโอกาสพูดน้อยกว่าฝ่ายบริหารเสียด้วยซ้ำไป    ผมก็เรียกกลุ่มที่ ๓ ของพนักงานออกมานำเสนอ  ปรากฏว่าตัวแทนกลุ่มที่ ๓ ไม่ออกมานำเสนอโดยส่งโน้ทมาให้ผมอ่านว่า  “กลุ่มที่ ๓ ขอไม่นำเสนอ  เพราะเห็นว่าบริษัททำทุกอย่างดีอยู่แล้ว”  กลายเป็นประชดประชันไปเลย

การสัมมนาคราวนั้นจึงอวสานลงแบบโศกนาฏกรรม    อุตส่าห์ทุ่มเงินเป็นแสนใช้เวลาถึงสองวันกลับจบลงแบบไม่ได้ข้อเสนอใด ๆ  ที่จะเอาไปใช้ปฏิรูปบริษัท  ผู้บริหารอาจจะดีใจที่สามารถเถียงจนพนักงานเงียบเสียงไม่ยอมเสนออะไรอีก  แต่เรื่องอย่างนี้ถ้าผู้บริหารใจกว้างไม่โต้ตอบ  ปล่อยให้พนักงานพูดหรือเสนอได้เต็มที่  อย่างน้อยที่สุดผู้บริหารก็จะทราบว่า พนักงานคิดอย่างไร บวกหรือลบต่อบริษัท  จะทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้พนักงานมีความรู้สึกต่อบริษัทในทางที่ดีกว่าเดิม  ค่อยไปตัดสินใจทีหลังเมื่อคิดรอบคอบแล้ว

เพราะฉะนั้นนักบริหารต้องหนักแน่นและอดทนฟังการวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่ดี  ได้ยินเมื่อไหร่ทนฟังได้ก็จะได้ข้อมูลเพิ่มเติม  ว่ากันว่า  ถ้าผู้บริหารไปเข้าห้องน้ำรวมของบริษัท  ระหว่างที่นั่งสุขาอยู่  เกิดมีคนงานมาเข้าห้องน้ำแล้วคุยกันในห้องน้ำนินทาหัวหน้าโดยไม่รู้ว่าหัวหน้ากำลังนั่งอยู่ในห้องน้ำ  นักบริหารที่ชาญฉลาดต้องนั่งสุขาไปเงียบ ๆ จะได้ยินได้ฟังสิ่งที่ควรได้ยิน  เก็บเป็นข้อมูลใส่คลังสมองไว้

แต่ถ้าเป็นนักบริหารประเภทใจเบาไม่หนักแน่น  อาจจะทนไม่ไหวกระแอมหรือส่งเสียงให้รู้ว่า “ฉันนั่งอยู่นะ มานินทาอะไรกันนี่ เดี๋ยวเถอะมึง”   เล่นเอาลูกน้องอกสั่นขวัญหายรีบโจนออกจากห้องน้ำไม่ทันได้ขี้ได้เยี่ยว   โล่งหูหัวหน้าไป  แต่น่าเสียดายที่นักบริหารคนนั้นอดได้ข้อมูลที่ควรได้ไป…..ฮ่า