การพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2025 : รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์


ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อปลายปีที่แล้ว ได้มีการตกลงและแถลงการณ์เพื่อจะพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2025

ความจริงแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยก็มีการรณรงค์ในเรื่องการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2015 ซึ่งหมายความว่า ในปี 2016 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตามความเข้าใจของคนทั่วไป แต่สิ่งที่ตามมาคือการตั้งคำถามว่า แล้วทำไมต้องมี ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2025 และจะมีอะไรเกิดขึ้นในกรอบเนื้อหาภายใต้กรอบเวลาจากนี้ไปถึงปี 2025

ความจริงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้นโดยสาระสำคัญก็คือการรวมกลุ่มถึงขั้น “ตลาดร่วม” (Common market) หรือที่เรียกว่า “ตลาดเดียว” (Single market) ถือเป็นการรวมกลุ่มที่แน่นแฟ้นหรือที่เราเรียกว่า บูรณการทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ที่เริ่มจากลำดับที่ 1 เขตการค้าเสรี (Free Trade Area) 2. สหภาพศุลกากร (Customs Union) 3. ตลาดร่วมหรือการเป็นประชาคมเศรษฐกิจ 4. สหภาพเศรษฐกิจ (Economic Union) 5. สหภาพเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบ (Total Economic Union) โดยขยายสู่สหภาพทางการเมือง (Political Union)

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงหมายถึงการรวมกลุ่มในขั้นที่ 3 ซึ่งเรียกว่า “ตลาดร่วม” อันหมายถึง กระบวนการเปิดเสรีปัจจัยการผลิต 4 ประเภท คือ สินค้า เงินทุน บริการ และแรงงาน ประชาคมเศรษฐกิจทุกแห่งจึงเริ่มต้นด้วยการเปิดเสรีทางด้านสินค้าในลักษณะ Free Trade Area และโดยปกติจะตามมาด้วยสหภาพศุลกากร (Customs Union) ก่อนจะพัฒนาสู่การเป็นตลาดร่วม ดังดูได้จากประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) หรือสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union)

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก็เช่นกันกับตลาดร่วมโดยทั่วไปที่เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (AFTA) ตั้งแต่ปี 1993 อย่างไรก็ตาม ในกรณีของอาเซียนนั้นไม่มีการพัฒนาเป็นสหภาพศุลกากร เนื่องจากมีประเทศสิงคโปร์ซึ่งไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าเพราะเป็น Free port ดังนั้นถ้าจะจัดตั้งสหภาพศุลกากร อาเซียนทุกประเทศต้องลดกำแพงภาษีเหลือ 0 เท่ากับสิงคโปร์ ตามหลักการของ WTO นั้นคือ เมื่อมีการลดกำแพงภาษีแล้วห้ามขึ้นภาษีอีก ยกเว้นในกรณีจำเป็นเท่านั้น ในบริบทดังกล่าว การรวมกลุ่มของอาเซียนจึงพัฒนาจากเขตการค้าเสรีก้าวไปสู่การเป็นตลาดร่วมโดยไม่ต้องผ่านการเป็นสหภาพศุลกากร

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีภายใต้ AFTA ในปี 1993 และได้มีการเปิดเสรีทางบริการในปี 1995 ในกรอบ AFAS และเปิดเสรีการลงทุนในปี 1998 ในกรอบ AIA โดยในปี 2003 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลีได้มีการตกลงจัดตั้งประชาคมอาเซียน 2020 อันประกอบด้วยประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community–ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ในปี 2007 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ได้มีการย่นระยะเวลาของ 3 ประชาคมจากปี 2020 เป็นปี 2015 ในกรณีไทยเพิ่งจารณรงค์ AEC 2015 เมื่อปี 2010 ในสมัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คือคุณพรทิวา

จากพัฒนาการดังกล่าวจะเห็นว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งหมายถึงการเปิดเสรีสินค้า บริหาร เงินทุน และแรงงานไม่ได้เริ่มต้นและจบในปี 2015 ดังจะเห็นว่า AFTA เริ่มในปี 1993 และในปี 2015 ก็บรรลุข้อตกลงการค้าเพียงแค่ในกรอบการไม่เก็บภาษีนำเข้าและไม่มีการกำหนดโควตา (โดยมีข้อสงวนบ้าง เช่น ไทย สงวนกาแฟ มันฝรั่ง ไม้ดอก มะพร้าวแห้ง และกรณีอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สงวนเรื่องข้าว นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีข้อสงวนสำหรับน้ำตาลอีกด้วย) อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีทางการค้าจึงยังไม่ได้จบลงในปี 2015 เนื่องจากยังมีอุปสรรคทางการค้าที่เรียกว่าอุปสรรคทางเทคนิค (Technical Barrier) อันประกอบด้วยมาตรฐานสินค้า มาตรฐานสุขอนามัย ยังมีอุปสรรคทางการค้าในรูปภาษี ซึ่งเกิดจากระดับภาษีที่แตกต่างกันของภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการแกไขอุปสรรคดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีอุปสรรคด้านกายภาพ (Physical Barrier) ซึ่งทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและบุคคลยังไม่คล่องตัวจากการตั้งด่านข้ามพรมแดน เราจะเห็นว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2015 ในแง่การเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรีจึงยังไม่จบเพราะยังมีอุปสรรคทางด้านเทคนิค (Technical Barrier) อุปสรรคทางภาษี (Tax Barrier) และด้านกายภาพ (Physical Barrier) ดังนั้นในกรอบ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2025 จึงหมายถึงความจำเป็นของรัฐบาลประเทศอาเซียนจะต้องดำเนินการลดอุปสรรคดังกล่าวอันจะนำไปสู่การปรับมาตรฐานสินค้าให้อยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการลดอุปสรรคทางด้านเทคนิค การปรับความแตกต่างทางภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตให้น้อยลงซึ่งถือเป็นกรอบในการลดอุปสรรคด้านภาษี และในอนาคต การเดินทางของคนภายในอาเซียนอาจจะให้เพียงเอกสารคือบัตรประจำตัวและต่างชาติอาจจะขอวีซ่า Single Entry แล้วเข้าได้หลายประเทศ เช่น วีซ่าเชงเกน ของสหภาพยุโรป เป็นต้น ในส่วนของการเปิดเสรีบริการและการลงทุน ดังที่กล่าวมา กระบวนการเปิดเสรีมีเมื่อปี 1995 สำหรับด้านบริการ และปี 1998 สำหรับการลงทุน ในกรณีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2015 การเปิดเสรีบริการและการลงทุนมีกำหนดไว้ 12 ประเภทแบ่งเป็นการลงทุน 7 ประเภทและการบริการอีก 5 ประเภท ในด้านการเปิดเสรีบริการซึ่งกำหนดไว้เพียง 5 ประเภทคือ การเปิดเสรี IT ท่องเทียว สุขภาพ โลจิสติกส์ และการบิน โดยให้บริษัทประเทศสมาชิกถือครองเป็นเจ้าของได้ 70% กระบวนการเปิดเสรีสินค้า บริการ และการลงทุนจึงถือว่าเพิ่งเริ่มต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการขยายการเปิดเสรีบริการให้ครอบคลุมกว้างขึ้น ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าจะครอบคลุมธุรกิจธนาคาร ประกันชีวิต ประกันภัย การศึกษา ค้าปลีก บริษัทที่ปรึกษา ด้านบัญชีและกฎหมาย และอื่น ๆ ในกรอบการเปิดเสรีแรงงานนั้น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2015 จะจำกัดเพียง 8 อาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักสำรวจ บัญชี และท่องเที่ยว ในอนาคตของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2025 ประเทศสมาชิกจะเปิดเสรีแรงงานที่มีฝีมือมากขึ้นซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าจะครอบคลุมแรงงานทางด้าน IT การบิน ธุรกิจการเงิน การศึกษา และค้าปลีก

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2015 ยังมีการกำหนดการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันโดยกำหนดกรอบความร่วมมือใน 6 องค์ประกอบ คือ E-Asean นโยบายการแข่งขัน นโยบายด้านภาษี นโยบายสิทธิทางปัญญา ความร่วมมือด้าน Infrastructure ในเฉพาะในกรอบ GMS และ IMT-GT และการปกป้องผู้บริโภค ภารกิจความร่วมมือของประเทศอาเซียนใน 6 องค์ประกอบจึงยังไม่ได้จบลงในปี 2015 ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะพัฒนาอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนการประสานนโยบายใน 6 ประเด็นดังกล่าวให้มากขึ้นในกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2025

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2015 ยังมีการกำหนดการพัฒนาความเท่าเทียมซึ่งแยกเป็น 2 ประเด็นคือ ประเทศเก่าช่วยเหลือประเทศใหม่ และการช่วยเหลือ SME ภารกิจทั้ง 2 ยังไม่จบในปี 2015 ประเทศสมาชิกต้องดำเนินนโยบายดังกล่าวให้เข้มข้นในกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2025

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2015 ยังกล่าวถึง การบูรณการกับประเทศอื่น ๆ ในโลก เช่น การรวมกลุ่ม Asean+3 และ +6 การรวมกลุ่มมีพลวัตสูงดังนั้นจึงไม่ได้จบใน Asean+3 และ +6 ดังนั้นจะพัฒนาไปสู่ RCEP และในระยะกลางจะพัฒนาสู่ประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและขยายการรวมกลุ่มกับภูมิภาคอื่น ๆ การขยายการรวมกลุ่มดังกล่าวของอาเซียนจึงเป็นเนื้อหาของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2025

อาจกล่าวได้ว่า การเปิดเสรีของอาเซียนในด้านสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงานจึงไม่ได้จบในปี 2015 แต่ต้องเปิดกว้างขึ้นและลึกขึ้นในอนาคต อีกทั้งต้องพัฒนาการรวมกลุ่มและความร่วมมือด้านนโยบายต่าง ๆ ถือเป็นการดำเนินการต่อจากสิ่งที่ค้างไว้ในปี 2015 ทิศทางการเปิดเสรีและการขยายความร่วมมือของ AEC จึงยังไม่ได้จบในปี 2015 แต่ยังต้องรวมตัวต่อเนื่องอันเป็นสาระสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2025 และเมื่อถึงตอนนั้นก็จะยังไม่สมบูรณ์ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของยุโรปก็ไม่ได้จบในปี 1992 ที่เรียกกันว่า ยุโรปตลาดเดียว เพราะทุกวันนี้ยังมีการเปิดเสรีทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงถือเป็นกระบวนการเปิดเสรีสินค้า เงินทุน บริการ และแรงงานที่ไม่ได้เริ่มและจบในปี 2015 และจะยังไม่จบในปี 2025 เป็นกระบวนการที่มีพลวัต ดังกรณีการรวมกลุ่มในรูปแบบตลาดร่วม (Common market) ทุกแห่งในโลก