บอร์ดใหญ่ สสว. เคาะกองทุนพลิกฟื้น SME


นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมบอร์ดใหญ่ สสว. เห็นชอบให้ร่างระเบียบการให้กู้ยืมเงินจากกองทุนพลิกฟื้นวงเงิน 1 พันล้านบาท โดยให้เอสเอ็มอีแบงก์เป็นหน่วยร่วมในการปล่อยกู้

เมื่อวานนี้ (28 ก.ค.59) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 2/2559 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

โดยภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการในการดำเนินการเรื่องแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเอสเอ็มอี และรับทราบรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดยตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาทำหน้าที่ได้ให้ความสนใจกับธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง ซึ่งวันนี้ได้มีการพูดถึงว่าจะต้องรวมความไปถึงในส่วนของ Start Up ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีเหมือนกัน และต้องใส่คำว่าภาคการเกษตรไปด้วย เพราะในคำจำกัดความไม่ได้เขียนถึงภาคการเกษตรไว้ เพื่อทำให้ภาคการเกษตรมีความเข้มแข็งขึ้น

รวมทั้งได้มีการวางแผนยุทธศาสตร์เอสเอ็มอีระยะ 5 ปีข้างหน้าให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และสอดคล้องกับแผน 20 ปียุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทยด้วย

ด้าน นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้แถลงผลการประชุมว่า ในเรื่องเพื่อพิจารณา ที่ประชุมให้ความเห็นชอบร่างระเบียบว่าด้วยการกู้ยืมเงินจากกองทุนพลิกฟื้น ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

1. เอสเอ็มอีที่จะกู้ยืมเงินต้องผ่านการวิเคราะห์ตามโครงการ Turn around ว่า มีศักยภาพที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ และต้องผ่านการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้เดิม หรือได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว

2. กู้ยืมได้ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท โดยไม่เสียดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 7 ปี เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนประกอบกิจการ แต่ไม่ให้นำไปชำระหนี้เก่า

3. ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เป็นหน่วยร่วมทำการแทน สสว. ในการพิจารณาการกลั่นกรองคำขอกู้ยืม และติดตามดูแลการชำระเงินของลูกหนี้

โดย สสว. จ่ายค่าบริหารจัดการให้แก่ ธพว. ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เพียงเดือน ก.ค. 2559 มีเอสเอ็มอีขนาดย่อมสมัครเข้าร่วมโครงการ Turn around แล้ว 10,129 ราย ในจำนวนนี้ได้ทำการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 3,469 ราย จึงมีคุณสมบัติเข้าข่ายยื่นขอกู้จากกองทุนพลิกฟื้นได้