ไทยหอบเงินไปลงทุน ตปท. 5 เดือน ทะลุ 7 พันลบ.


ไทยหอบเงินไปลงทุน ตปท. 5 เดือน ทะลุ 7 พันลบ.

บีโอไอ เผยยอดการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนชาวไทยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่าประมาณ 7 พันล้านบาท พร้อมเตรียมตั้งสำนักงานใหญ่ในเมียนมาและเวียดนามในปีหน้า หนุนนักลงทุนไทยออกไปต่างประเทศมากขึ้น

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนา ไทยแลนด์ โอเวอร์ซีส์ อินเวสเมนต์ ฟอรั่ม 2016 จัดโดยบีโอไอ ว่า ยอดการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนชาวไทยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่าประมาณ 7 พันล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการออกไปลงทุนต่างประเทศ 2 พันล้านบาทและทั้งปีอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ทำให้คาดว่าตัวเลขการลงทุนในต่างประเทศปีนี้จะเติบโตกว่าปีก่อนอย่างแน่นนอน โดยอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมกลุ่มพลังงาน สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง ธนาคารพาณิชย์ และศูนย์กระจายสินค้า

สำหรับปัจจัยที่ผลักดันให้นักลงทุนไทยออกไปต่างประเทศมากขึ้นมาจากการต้องการหาตลาดใหม่ๆ มีความต้องการปัจจัยด้านต้นทุน และวัตถุดิบที่มีความหลากหลาย แต่ขณะเดียวกันมีอุปสรรคที่นักลงทุนต้องรับมือหลายด้าน อาทิ ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์บ่อย และกฎระเบียบที่มีการบัญญัติไว้ก็ไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบที่บังคับใช้จริง ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้นักลงทุนที่เข้าไป โดยบีโอไอได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายร่วมงาน

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เร็วๆ นี้บีโอไอจะเร่งตั้งสำนักงานใหญ่ที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ภายในปีหน้า ก่อนจะขยายไปยังกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2561 เพื่อช่วยเหลือเรื่องการค้าการลงทุนร่วมกับทูตพาณิชย์ในอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูงทำให้ไทยไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียวได้อีก รัฐบาลจึงต้องเร่งส่งเสริมการลงทุนในอาเซียนผ่าน 3 ช่องทาง คือ รัฐต่อรัฐ เอกชนต่อเอกชน และบุคคลต่อบุคคล โดยปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปอาเซียนถึง 25% ของภาพรวม จำนวนนี้เป็นกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี 10% และหากมองในแง่มูลค่าการค้าของไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการลงทุนในอาเซียนถึง 20%