ดัน อุครโมเดล ผลิตน้ำตลาดเซลลูโลสจากชานอ้อย


ดัน อุครโมเดล ผลิตน้ำตลาดเซลลูโลสจากชานอ้อย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. จับมือ NEDO (เนโด้) เดินหน้าตั้งโรงงานต้นแบบการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยครั้งแรกในไทย นำร่องโดยจังหวัดอุดรธานี

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เปิดเผยว่า สนช. ได้ร่วมมือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (New Energy and Industrial Technology Development Organization หรือ NEDO) ประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยด้วยระบบประหยัดพลังงาน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลส

ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถเปลี่ยนวัตถุดิบที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ชานอ้อยให้ไปเป็นน้ำตาลเซลลูโลส โอลิโกแซคคาไรด์ และโพลีฟีนอล ที่สามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอล หรือสารไบโอเคมีต่อไปได้ ถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของไทย

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ องค์การ NEDO จะเป็นผู้สนับสนุนทุนในส่วนของเครื่องจักรและอุปกรณ์ และ สนช. จะให้ความช่วยเหลือด้านการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในด้านวิชาการ

ซึ่งในเบื้องต้นได้ร่วมกันคัดเลือกกลุ่มบริษัท โทเร อินดัสทรีส์, บริษัท มิตซุย แอนด์ โค จำกัด, บริษัท มิตซุย ชูการ์ จำกัด และบริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด เข้าร่วมดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถเปลี่ยนวัตถุดิบที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

โครงการดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะสร้างโรงงานต้นแบบการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อย ขนาดกำลังการผลิต 15 ตันชานอ้อยต่อวัน สามารถผลิตน้ำตาลเซลลูโลสได้ 3.7 ตันต่อวัน ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลได้เท่ากับ 700,000 ลิตรต่อปี

นับว่าเป็นการสร้างโอกาสให้หน่วยงานในระดับภูมิภาคและเอกชนไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมจากบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับการเรียนรู้ร่วมวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีให้สามารถผลิตในระดับโรงงานต้นแบบได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน ดร.โยชิเตรุ ซาโตะ กรรมการบริหารระดับสูงขององค์การ NEDO ประเทศญี่ปุ่น กล่าวเสริมว่า โครงการนี้จึงเกิดขึ้น ณ จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย ในฐานะโครงการนำร่อง โดยมีการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยผลิตเอทานอลจากเซลลูโลส และเพิ่มมูลค่าให้กับกากชานอ้อยเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วย