ก.ล.ต. เผยมี 7 บริษัทสนใจตั้งคราวด์ฟันดิ้ง


ก.ล.ต. เผยมี 7 บริษัทสนใจตั้งคราวด์ฟันดิ้ง

ก.ล.ต.เผยขณะนี้ผู้ประกอบการ เข้ามาขอข้อมูลตั้งคราวด์ฟันดิ้งแล้วกว่า 7 บริษัท จากจำนวน 20 บริษัทที่แสดงความสนใจในบริการดังกล่าว

นางปะราลี สุคนธมาน ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของผู้ที่สนใจเป็นตัวกลางในการเสนอขายหุ้นผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Equity Crowdfunding ปัจจุบันมีกว่า 20 บริษัทให้ความสนใจที่จะให้บริการดังกล่าว และมี 7 บริษัทที่เข้ามาขอข้อมูลและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมี 7 บริษัทที่ให้ความสนใจมากที่จะให้บริการคราวด์ฟันดิ้ง และเข้ามาขอข้อมูลกับก.ล.ต. ซึ่งทั้ง 7 รายมีพัฒนาการอย่างมากและแสดงถึงความตั้งใจจริงที่อยากประกอบธุรกิจ ขณะที่หลายรายอยู่ระหว่างการหาผู้ที่จะเป็นตัวกลางในการบริหารระบบชำระเงิน หรือบางรายได้ให้บริการที่คล้ายคลึงกับรูปแบบดังกล่าวอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ในผู้ที่แสดงความสนใจใน 7 รายนั้น ประกอบด้วยผู้ให้บริการ 3 กลุ่มหลักๆ คือกลุ่มที่ให้บริการการระดมทุนอยู่แล้วและให้ผลตอบแทนเป็นของรางวัล กลุ่มที่ 2คือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวาณิช     ธนกิจ และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่ให้ความสนใจและสนับสนุนด้านฟินเทค

โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต.เปิดกว้างและทำงานร่วมกับกลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาว่ากลุ่มผู้ประกอบการต้องการการสนับสนุนในด้านใดพิเศษหรือไม่ ซึ่งก.ล.ต.พร้อมรับฟังความคิดเห็นและปรับกฏเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้ ซึ่งในปัญหาของภาคผู้ประกอบการอาจมีข้อสงสัยในการกำกับของแต่ละหน่วยงาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคราวด์ฟันดิ้งมากถึง 3 หน่วยงาน

ส่วนข้อจำกัดด้านการลงทุนที่ผู้ประกอบการมองว่าการกำหนดการลงทุนที่ 5 หมื่นบาทต่อธุรกรรมอาจน้อยเกินไปสำนักงาน    ก.ล.ต.จึงอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมองว่า 5 หมื่นบาทจะเหมาะกับผู้ที่เริ่มลงทุนครั้งแรกและไม่มีประวัติการลงทุนมากก่อน แต่หากนักลงทุนมีประวัติการลงทุน และข้อมูลสินทรัพย์สามารถเพิ่มวงเงินการลงทุนได้เพื่อป้องกันความเสี่ยงนักลงทุน

นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์บล.บัวหลวงกล่าวว่า สำหรับกิจการด้านฟินเทคสตาร์ทอัพนั้น สิ่งที่ต้องการเห็นคือการคำนึงถึงความยั่งยืนในการให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีความน่าห่วงว่า ผู้ที่ประกอบการด้านฟินเทคจะคิดถึงแต่การปั่นกำไรบริษัทและพร้อมขายบริษัทออกไปหากมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งที่จริงต้องการให้ผู้ทำธุรกิจด้านฟินเทคมองถึงการเติบโตในระยะยาวมากกว่า

ทั้งนี้ บล.บัวหลวงได้เดินหน้าพัฒนาด้านฟินเทคมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปีซึ่งมองว่าช่วยสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทในระยะยาวได้