กำหนดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทยไปอินเดีย


กำหนดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทยไปอินเดีย

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ (สศอ.) แนะลู่ทางเชื่อมโยง 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในรูปแบบทวิภาคีไทย-อินเดีย นำร่อง 4 เมืองเศรษฐกิจหลักของอินเดีย

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ (สศอ.) เปิดเผยว่า ไทยและอินเดีย สามารถแสวงหาโอกาสและลู่ทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันในการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและห่วงโซ่อุปทานในสาขาอุตสาหกรรมที่แต่ละฝ่ายให้ความสนใจและมีศักยภาพซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากสถานการณ์การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย – อินเดีย มีความยืดเยื้อ

โดยเห็นว่า กลไกการดำเนินงานระหว่างภาครัฐเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดตั้งการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจและอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนและธุรกิจ อีกทั้งเพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของทั้งสองฝ่าย ตามนโยบาย Make in India ของอินเดีย และนโยบายการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ Industry 4.0 และการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ของไทย

โดยผลการศึกษาเกี่ยวกับการวางกลยุทธ์การสร้างความเชื่อมโยงด้านเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดีย เพื่อรองรับการเชื่อมโยงในภูมิภาคของ สศอ.พบว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีโอกาสในการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยกับอินเดียใน 4 เมืองเศรษฐกิจหลักของอินเดีย ได้แก่ เดลี มุมไบ เชนไนและกัลกัตตา คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยางพารา เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวมีมูลค่าการส่งออกไปอินเดียสูงที่สุด

ทั้งนี้ ข้อควรพิจารณาในการเข้าไปร่วมทำธุรกิจกับอินเดีย คือ เรื่องกฎหมายและภาษี เนื่องจากอินเดียมีโครงสร้างทางด้านภาษีที่มีความซับซ้อน ซึ่งในแต่ละรัฐจะมีกฎหมายและโครงสร้างภาษีที่แตกต่างกันผู้ประกอบการจึงควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด รอบคอบ โดยภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนการจัดหาและถ่ายทอดองค์ความรู้และความชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลด้านกฎหมายและระเบียบวิธีปฏิบัติต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน