สศช. ชี้ 4 เรื่องท้าทายศก.ไทยครึ่งปีหลังต้องเผชิญ


สศช. ชี้ 4 เรื่องท้าทายศก.ไทยครึ่งปีหลังต้องเผชิญ

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ผลของการรับร่างประชามติที่จะช่วยฟื้นบรรยากาศการลงทุนภาคเอกชน พร้อมเผย 4 ประเด็นหลักที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายในช่วงครึ่งปีหลัง

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/59 ที่ 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/59 ขยายตัวสูงกว่าไตรมาสแรก โดยตัวเลข GDP ที่ปรับฤดูกาลในไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยมีแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 1.9%  จากการซื้อยานพาหนะที่เติบโตถึง 7.8% รวมถึงการส่งออกภาคบริการที่ยังขยายตัวเป็นบวกจากไตรมาสก่อนหน้าได้

ขณะที่ในครึ่งปีหลัง 59 แม้ว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากผลของการรับร่างประชามติที่จะช่วยฟื้นบรรยากาศการลงทุนภาคเอกชน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเผชิญความเสี่ยงในหลายประเด็น รวมถึงเหตุการณ์ระเบิดในภาคใต้ในช่วงวันที่ 11-12 ส.ค. ที่ผ่านมาที่ต้องรอประเมินผลกระทบ โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเผชิญความท้าทายใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกโดยประเด็นเศรษฐกิจโลกที่สำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ประกอบด้วย ความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในห้วงเวลาการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2559 รวมถึงความผันผวนของตลาดเงินของโลกจากแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลกที่จะฉีกออกจากกันมากขึ้น หากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี 2559 นี้ ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงจีน และญี่ปุ่น ที่ยังสร้างความไม่แน่นอนต่อทิศทางการส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักเหล่านี้ให้ไม่สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้

การท่องเที่ยว ซึ่งจากเหตุการณ์ระเบิดในภาคใต้ในช่วงวันที่ 11-12 ส.ค. ที่ผ่านมา ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เพื่อประเมินผลกระทบถึงการท่องเที่ยว รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในระยะต่อไป

การลงทุนภาคเอกชน ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม หลังจากที่ขยายตัวอย่างเชื่องช้าในช่วงครึ่งปีแรก และเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่อาจมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้น แม้คาดว่าการใช้จ่ายภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่จะมีความต่อเนื่องไปยังต้นปีงบประมาณ 2560 (ต.ค. – ธ.ค. 2559) ประกอบกับผลของประชามติในการรับร่างรัฐธรรมนูญฯ น่าจะช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนจากเอกชนให้มีการลงทุนตามในระยะต่อไป

และการบริโภคภาคเอกชน โดยผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในไตรมาสที่ 2 คงเริ่มหมดลง ยกเว้นแต่ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมา นอกจากนี้ ในด้านยอดขายรถยนต์ที่กลับมาขยายตัวสูงในไตรมาสที่ 2 นั้น แม้ว่าน่าจะยังรักษาระดับยอดขายในแง่จำนวนคันได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในแง่อัตราการขยายตัว อาจเป็นตัวเลขติดลบถึง 2 หลักในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่มีการเร่งซื้อรถยนต์ในช่วงปลายปี 2558 ก่อนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์