ญี่ปุ่นสนใจตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในไทย


ญี่ปุ่นสนใจตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยญี่ปุ่นสนใจตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในไทย ด้าน กนอ.ยันพื้นที่เป้าหมายนิคมฮาลาล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังให้เกิดระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนญี่ปุ่นมีความสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล หรือ “ฮาลาลญี่ปุ่น” โดยต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนในเรื่องของข้อมูล พื้นที่ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจ กับนักลงทุนไทย

ดังนั้น จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสถาบันอาหาร รับหน้าที่ในการอบรมความรู้พื้นฐานให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งฝั่งไทยและญี่ปุ่นให้เตรียมความพร้อมไปก่อน ขณะเดียวกันให้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) หาพื้นที่ที่มีศักยภาพ และที่มองว่าสามารถตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลได้

โดยเริ่มต้นจากการใช้ความร่วมมือกับสมาคม OTAGAI ที่มีผู้ประกอบการในโครงการร่วมอยู่แล้วหลายร้อยราย เนื่องจากสมาคม OTAGAI เป็นการร่วมมือกันพัฒนาผู้ประกอบการโดยเริ่มที่ระดับ SMEs ให้มีศักยภาพและความพร้อมระหว่างไทยและญี่ปุ่นร่วมกัน

และส่วนที่ SMEs ญี่ปุ่นอยากมาลงทุนในไทย โดยผ่านการจับคู่ธุรกิจ Business Matching ซึ่งจากการจับคู่จะเริ่ม 5 รายก่อน หลังจากนี้จะเห็นการเชื่อมโยงระยะสั้น คือเกิดการซื้อ-ขายและทำธุรกิจร่วมกัน ในระยะยาวจะเห็นการลงทุนในอีก 6 เดือน ถึง 1 ปี จะเห็นได้ว่า ตัวเลขขอ รง.4 เพื่อจัดตั้งโรงงานในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (1 ม.ค.-5 ส.ค. 2559) อันดับ 1 เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จำนวน 458 โรงงาน เงินลงทุน 19,302.72 ล้านบาท

ทางด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า พื้นที่เป้าหมายในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้เกิดระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นนี้มีการเติบโต เดิมกำหนดพื้นที่ไว้ใน จ.ปัตตานี แต่ต้องยอมรับว่าด้วยปัญหาเรื่องของความปลอดภัย ทำให้ กนอ.ต้องถอนตัว แต่ยังมีพื้นที่สร้างนิคมเพียงลดขนาดลงและให้นักลงทุนเอกชน โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดูแล

เป้าหมายพื้นที่ใหม่ คือย้ายไปทำที่ จ.นราธิวาส เนื่องจากเป็นพื้นที่กำหนดไว้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เฟส 2 ซึ่งรัฐยังคงต้องการให้นิคมเกิดที่ภาคใต้ เพราะมีกลุ่มคนมุสลิมจำนวนมาก และยังมีแหล่งวัตถุดิบและใกล้ประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นตลาดหลักการส่งออกอาหาร และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นี้ยังได้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอสูงสุดถึง 8 ปี นั่นเอง